เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2564 เว็บไซต์ 101.world ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และเครือข่ายด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (RoLD) ชวน ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน, ดร. นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักเขียน และ สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด
ธงชัย วินิจจะกูล
- รากฐานนิติศาสตร์ไทยไม่ได้เป็นรากของ rule of law แต่เป็นนิติศาสตร์ของรัฐที่มีอภิสิทธิ์เหนือประชาชน ดังนั้นกฎหมายไทยจึงมีพัฒนาการโดยมีสิ่งนี้เป็นรากฐานอยู่ ไม่ว่าจะปรับตัวอย่างไร รากฐานนี้ไม่ได้ถูกรื้อหรือสะสางอย่างจริงจัง แม้แต่หลัง 2475 และโดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา มันกลายเป็นอำนาจนิยมและเอียงเข้าข้างกษัตริย์ ให้อภิสิทธิ์แก่กษัตริย์มากขึ้นเรื่อยๆ กราฟอาจไม่ใช่เส้นตรง มีขึ้นมีลง แต่แนวโน้มโดยทั่วไปกว่าศตวรรษเป็นแนวโน้มทำนองนั้น ทำให้รัฐบาลที่อ้างว่าปกป้องสถาบันกษัตริย์มีอำนาจอย่างเหลือล้นยิ่งกว่า ตอนนี้ยิ่งกว่า ‘ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข’ ในยุคใดๆ คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเป็น ‘การคาบเส้น’ อย่างเงียบๆ เรียบร้อยไปแล้ว อันนี้อาจเป็น semi absolute monarchy หรือขยับเข้าไปเป็นกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างเงียบๆ ไม่ให้คนเห็น
- ศาลยุติธรรมไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไร เช่น ความกลัว ผลประโยชน์ รับใช้จุดมุ่งหมายเดียวกัน ฯลฯ ก็ให้อภิสิทธิ์นี้เอื้ออำนวยแก่รัฐ อภิสิทธิ์ที่น่าเกลียดที่สุดและอันตรายที่สุด คือ อภิสิทธิ์ที่จะปลอดพ้นความผิด ลอยนวลพ้นผิด มันไม่ใช่แค่วัฒนธรรม แต่เป็นอภิสิทธิ์ทางกฎหมายที่ล้มรากฐานของ rule of law เป็นสิ่งตรงข้ามชนิดอยู่ด้วยกันไม่ได้
- เมื่อเร็วๆ นี้ ศาลรัฐธรรมนูญก็ทำอย่างนั้น ถ้าเอาพฤติกรรมและคำตัดสินของศาลมาดู จะพบว่าเขาละเมิดเรื่อง rule of law อย่างคงเส้นคงวา คงเส้นคงวาในแง่ปกป้องสถาบันกษัตริย์ คงเส้นคงวาในแง่ให้อภิสิทธิ์รัฐเพื่อความมั่นคงของรัฐ เท่ากับว่าศาลรัฐธรรมนูญและระบบยุติธรรมที่พิจารณาไม่ให้ประกันนักเคลื่อนไหวด้วย ทั้งหมดนี้คงเส้นคงวา
- “ถ้าคุณยังถือว่าประเทศไทยยังเป็นระบอบประชาธิปไตย คำตัดสินพฤติกรรมทั้งหลายของศาลเหล่านั้นจะขัดแย้งกับหลักนั้นทันที แต่ถ้าคุณยกหลักนั้นออก แล้วถือว่าประเทศไทยรัฐธรรมนูญตัวจริงคือสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาลตัวจริงคือรัฐบาลที่รับใช้กษัตริย์ ไม่เกี่ยวกับประชาชน หรือมีหน้าที่ปกครอง คุ้มหัวประชาชน คนไหนหือก็จัดการซะ คุณจะพบว่าพฤติกรรมและคำตัดสินเหล่านั้นคงเส้นคงวาอย่างยิ่ง นั่นเท่ากับยืนยันว่า นี่คือระบบกฎหมายที่ให้อภิสิทธิ์ต่อรัฐและโดยเฉพาะรัฐที่อ้างว่าตัวเองกำลังปกป้องกษัตริย์”
- หลักสำคัญของ rule of law ที่เป็นมาตรฐานทั่วโลกคือ ประชาชนเท่ากัน รัฐอย่ามายุ่มย่าม อย่ามาบังคับกะเกณฑ์โดยเอาความมั่นคงของรัฐเป็นใหญ่เหนือว่าผลประโยชน์หรือสิทธิเสรีภาพของประชาชน ระบบกฎหมายที่ควรจะเป็นคือ อย่าให้รัฐมาละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ว่าจะด้วยข้ออ้างเรื่องความมั่นคง เรื่องหน้าที่ เรื่องความรับผิดชอบของพลเมือง เหล่านี้เป็นข้ออ้างของนิติศาสตร์แบบไทยๆ ดังนั้น เราจำเป็นต้องข้ามให้พ้นนิติศาสตร์แบบไทยๆ นี้ซึ่งให้อภิสิทธิ์ทางกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งอภิสิทธิ์ลอยนวลพ้นผิด
- ความหมายของความแฟร์เปลี่ยนไปตามวิวัฒนาการของสังคม คำตัดสินของศาลที่ดีไม่ใช่แค่ปรับตามค่านิยมต่างๆ ของมหาชนที่เปลี่ยน ยกตัวอย่างเช่น เรื่องสมรสเท่าเทียม ปัจจุบันมันเปลี่ยนไปมากแล้ว ไม่ใช่แค่ความเห็นผู้คน แต่ความรู้ด้วย ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็เปลี่ยนไปเยอะ ฉะนั้น การเปลี่ยนความหมายของความแฟร์จึงเป็นเรื่องปกติ
- สังคมไทยพยายามจะวางตัวตรงกลางระหว่างความขัดแย้ง เพราะกลัวจะเอียงเข้าข้างความขัดแย้ง สุดท้ายพอคู่ขัดแย้งเอียงซ้ายมากไป เอียงขวามากไป เราวางตัวตรงกลางมันก็จะเป๋ไปทันที ถ้าถามว่าหลักอยู่ตรงไหน ลองถามลองประเมินความรู้สึกของคนทั่วๆ ไปว่าอะไรที่คิดว่าควรจะเป็นอย่างกลางๆ เช่น อย่าทำร้ายกัน ทั้งรัฐกับประชาชนหรือประชาชนด้วยกัน หลักความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนก็ยึดหลักประชาธิปไตย การเลือกตั้ง เป็นต้น ถ้าเมื่อไรที่ความเป็นกลางระหว่างสองฝ่ายทำให้เราเป๋ไปจากหลักนี้ อันนี้ไม่กลางแล้ว ถ้าเรายืนให้ดียึดหลักการ ไม่ว่าใครจะเป๋ไปข้างไหนเวลาทะเลาะกัน เราอาจจะกลางน้อยลงหน่อย แต่อย่างน้อยที่สุดสังคมมันพอจะมีหลักยึด และเป็นหลักที่คงเส้นคงวา
- ในปาฐกถาป๋วยฯ ปีที่แล้ว ในส่วนของ ‘ราชนิติธรรม’ ผมได้เตือนว่ามันได้เขยิบ มีแนวโน้มที่จะใช้เรื่องสถาบันพระมหาษัตริย์เป็นเหตุผลในการใช้อภิสิทธิ์มากขึ้น และเพื่อให้ระบบกฎหมายนี้ย้อนกลับไปผูกติดกับสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดทิศทาง แต่ไม่นึกว่าปรากฏการณ์ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเมื่อไม่นานมานี้มันจะเกิดขึ้นเร็วขนาดนี้และรุนแรงกว่าที่คิดมาก แต่แนวโน้มหลักๆ ทั้งหมดมันเป็นมานานแล้ว แม้แต่การอ้างเรื่องขอคืนผืนป่า เป็นการอ้างเรื่องความมั่นคงด้วย คนทั่วไปอาจคิดว่ามันเป็นเรื่องป่าไม้ แต่ในทางกฎหมายมันเป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด
- ทางออกคือ ไปให้พ้นนิติศาสตร์แบบไทยๆ คือ 1. ยึดหลักการอย่างคงเส้นคงวา 2. มีความเป็นมืออาชีพ ในความหมายว่า เข้าใจและเคารพในภารกิจของวิชาชีพนั้นๆ 3 ขณะที่พูดเรื่องใหญ่ การแก้ปัญหากลับคิดว่าต้องเริ่มจากเรื่องเล็ก รูปธรรมกรณีต่างๆ แล้วลากให้ถึงสถาบัน ลากให้ถึงระบบกฎหมาย บ้านเราเวลาเถียงเรื่องกฎหมายจะเจอคำตอบที่เป็นสูตร “ปัญหาอยู่ที่คนบังคับใช้” การให้เหตุผลแบบนี้เป็นการซุกปัญหาไว้ใต้พรม
- นอกจากนี้ ระบบราชทัณฑ์มักถูกมองข้ามและรับมรดกความยุติธรรมแบบจารีตมามากที่สุด เปลี่ยนแปลงน้อยกว่าอย่างอื่น เป็นดัชนีชี้ว่ากระบวนยุติธรรมไทยล้าหลังขนาดไหน ถ้าทำให้คุกไทยพ้นสภาพที่ล้าหลังแบบจารีตได้ มันจะสะท้อนว่าส่วนอื่นแก้หมดแล้ว
- เรื่องพวกนี้ต้องการคนใจกล้า ทำตามหลักการ มีความเป็นมืออาชีพมากกว่านี้หน่อย เช่น ถ้า TIJ จะผลักดัน มันจะ disrupt กระบวนการยุติธรรม เช่น ต้องให้ประกัน หากมีผู้ไม่เห็นด้วยก็ต้องดีเบท สู้กันไป อาจไม่เปลี่ยนชั่วข้ามวันข้ามคืน แต่ต้องลงมือกระทำการบางอย่างซึ่งอาจขัดกับขวาสุดโต่ง แล้วจะเห็นการปะทะสังสรรค์กันในวงการยุติธรรม วงการตำรวจ
โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
- เวลามองเรื่องระบบจำเป็นต้องสลายเส้นแบ่งหรือขอบเขตของมันออกไป เพื่อไม่ให้ผูกขาดอยู่ในวิชาชีพ หรือกลุ่มคนที่สถาปนาตัวเองให้มีอำนาจเหนือระบบนั้นๆ อยู่แต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะระบบยุติธรรม ก็ไม่ได้เป็นระบบที่แยกขาดกับระบบอื่นๆ และหากทำให้เป็นระบบเปิดต่อความเห็นจากคนกลุ่มใหม่ๆ นอกแวดวง มันอาจพาไปหาจินตนาการใหม่ๆ
- ความยุติธรรมน่าจะเป็นผลลัพธ์ของปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและหลากหลาย ความแตกต่าง ความขัดแย้งทางความคิด ผลประโยชน์ อุดมการณ์ หากเรามีกระบวนการยุติธรรมที่ดีจะไม่ทำให้คนฉวยโอกาสใช้อภิสิทธิ์ใช้อำนาจที่เหนือกว่ามาทำการคุกคาม กดขี่ รังแก กลั่นแกล้ง หรือเอาเปรียบคนอื่น แม้หลายเรื่องยังตกลงกันไม่ได้ แต่ผู้คนที่่หลากหลายเหล่านี้จะอยู่ร่วมกันได้ เพราะมีระบบยุติธรรมที่เป็นหลักประกันว่า เราจะไม่ถูกคุกคาม รังแก กลั่นแกล้ง เอาเปรียบ
- ระบบยุติธรรมของเรากำลังถูกท้าทายและสูญเสียความน่าเชื่อถือย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสัญญาณอันตราย เพราะระบบยุติธรรมสมัยใหม่ที่พยายามสร้างกันมา คนในแวดวงก็รู้ดีกว่าการต่อสู้เพื่อให้ได้อิสรภาพในวิจารณญาณของศาลมันเป็นการต่อสู้ที่ยาวนาน และได้มาด้วยความยากลำบาก
- กระบวนการยุติธรรมที่เราพึงประสงค์คือ เรามั่นใจว่ามนุษย์มีความสามารถสูงสุดในการใช้สติปัญญา ไตร่ตรองเหตุการณ์ต่างๆ อย่างมีเหตุมีผล มีตรรกะ ถ้าระบบยุติธรรมสามารถทำงานได้ดีแล้ว การนำเสนอคำพิพากษาจะยกระดับความเป็นมนุษย์ของสังคมไปพร้อมๆ กัน เพราะคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษานั้นๆ จะแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการตรึกตรองอย่างละเอียดถี่ถ้วน แล้วนำเสนอมาซึ่งคำพิพากษาที่ยกระดับความเข้าใจของมนุษย์ในการจะอยู่ร่วมกันอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอันนี้ผมไม่เห็น เห็นแต่คำวินิจฉัยที่ฉุดรั้งความเป็นมนุษย์ให้ตกต่ำลง ทำให้มนุษย์สิ้นหวังกับการช่วยกันสร้างสรรค์สังคมให้มันดีขึ้น ระบบยุติธรรมถูกใช้ในการกลั่นแกล้งคน จนกระทั่งผู้พิพากษาเองก็ถึงกับต้องฆ่าตัวตายเพื่อประท้วง
- ไปๆ มาๆ กลายเป็นเราเอากฎหมายมาเป็นเครื่องมือ แล้วนิติปรัชญาอันมีพื้นฐานว่ามนุษย์ใช้วิจารณญาณร่วมกันในการกำหนดว่าสังคมพึงประสงค์เป็นอย่างไร ผ่านกระบวนการถกแถลงในชั้นศาล ปรัชญานี้ไม่มีเหลืออยู่ เหลือแต่เพียงเทคนิค เป็นเช่นนี้กันในเกือบทุกวงการ วงการแพทย์ก็เช่นกัน
- วิชาชีพนักกฎหมายมีเป้าหมายในการยังความยุติธรรมให้กับสังคมก็จริงอยู่ แต่เป้าหมายอีกส่วนหนึ่ง นักกฎหมายก็มีภารกิจต่อตัวเองไม่น้อย เพราะผู้คนเติบโตมาเต็มไปด้วยอคติ ผู้พิพากษา ผู้ดำรงตำแหน่งในระบบยุติธรรมต่างๆ ก็เคลือบแฝงไปด้วยอคติ การประกอบวิชาชีพด้านนี้ยังต้องปลดเปลื้องอคติที่มีอยู่ในตัวเองซึ่งจะยังความเติบโตให้เกิดขึ้นในตัวเองด้วย ไม่ใช่โลกไปถึงไหนแล้วยังคิดว่ามนุษย์มีอยู่ 2 เพศ การสลัดอคตินั้นจะทำให้รู้สึกดีด้วย ไม่ใช่รู้สึกว่าตัวเองพ่ายแพ้ แต่รู้สึกว่าตัวเองเข้าใจโลกลึกซึ้งมากขึ้น คิดกว้าง มองไกล
- อยากให้มองความยุติธรรมในหลายระดับ ลดทอนมาอยู่ในชีวิตประจำวันเพื่อจะเห็นโอกาสในการทำงานเรื่องความเป็นธรรมในพื้นที่ต่างๆ กว้างขวางมากขึ้น เช่น การต่อสู้เรื่องระบบโซตัสในโรงเรียน ความไม่เป็นทำในการพิจารณาความดีความชอบทางวิชาการ ฯลฯ ทำให้มีพื้นที่ให้ผู้คนสามารถลุกขึ้นมาทวงถามความเป็นธรรม ควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบด้วย
- ปัญหาสังคมเราซับซ้อน ไม่เหมือนเดิม บทเรียนทางประวัติศาสตร์อาจใช้ได้ แต่ก็ไม่ใช่สูตรสำเร็จ ทฤษฎีต่างๆ ก็สร้างขึ้นในบริบทหนึ่งซึ่งก็ไว้ใจไม่ได้ว่าจะได้ผล ดังนั้น ความเป็นไปได้ตอนนี้มีการเรียกร้องว่า นักต่อสู้ทางการเมืองต้องเป็นศิลปินมากขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์กับสิ่งที่ตัวเองเป็นและตัวเองอยู่ ในพื้นที่ที่มีความเฉพาะเจาะจงของตัวเอง คนอื่นที่ไปทำที่อื่นก็อย่าคิดว่าเป็นศัตรูกับเรา ขอให้มี solidarity กันหน่อยในพื้นที่ที่แตกต่างกัน ไปถึงจุดหนึ่งมันจะเสริมแรงกันได้ส่วนจะเปลี่ยนแปลงแบบไหนเป็นปลายเปิดไว้ ที่สำคัญคือ อย่าเพิ่งสิ้นหวัง ถ้ามีความหวังเรายังสู้ได้ เพราะเรายังไม่ชำรุด ระบบนี้จะดีใจมากที่ทำให้เราสิ้นหวัง เพราะเราจะยอมแพ้
- เราเข้าใจการทำงานเชิงระบบน้อยไป ถ้ามีระบบที่ดี การแสดงออกด้านดีของความเป็นมนุษย์จะง่ายขึ้น เช่น ญี่ปุ่นจะไม่มีมีทางแย่งกันรับของบริจาคในยามวิกฤต เพราะเขารู้ว่าระบบจะแจกจ่ายอย่างทั่วถึง มันทำให้ง่ายต่อการจะแสดงออกในด้านดี มนุษย์ทุกคนล้วนมีทั้งด้านดีและไม่ดีในตัว
ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
- ในตำราจิตเวชศาสตร์ ฟรอยด์บอกว่า เมื่อพูดถึงคำว่า ‘ยุติธรรม’ ในจิตใต้สำนึกของคนจะแปลความว่า "ถ้าเราทำไม่ได้ คนอื่นก็ต้องทำไม่ได้ด้วย" ถ้าประโยคนี้ถูก เรื่องนี้เรื่องเดียวก็เป็นบ่อเกิดของโรคทางจิตเวชเยอะแยะ เมื่อไรที่จิตใต้สำนึกไม่ตรงตามที่จิตใต้สำนึกต้องการ ก็จะเกิดความขัดแย้ง มนุษย์ก็จะใช้กลไกทางจิตเข้ามาจัดการความขัดแย้ง ซึ่งกลไกทางจิตก็มีแบบดี กับแบบไม่ดี แบบไม่ดีก็มี 20-30 ข้อ กระจายเป็น 20-30 โรค
- หากเอาไปจับกับ อ.ป๋วย แนวคิดจากครรรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนล้วนเกี่ยวพันกับความยุติธรรม แต่จะขอพูดเฉพาะ 3 ปีแรกของชีวิต ในจิตเวชศาสตร์ จิตวิทยา หรือแม้ชีววิทยา วิทยาศาสตร์ด้านสมอง มีงานวิจัยที่พูดตรงกันว่า การอ่านนิทานก่อนนอนเป็นเรื่องดีมาก มีประโยชน์มาก สิ่งที่เกิดขึ้นคือบางบ้านซื้อนิทานอ่านได้ บางบ้านไม่มีเงินซื้อนิทาน และถ้าแม่เลี้ยงใกล้ชิดจะส่งผลดีมาก แต่ไม่ใช่แม่ทุกคนที่ไม่ต้องดิ้นรนทำงาน ฯลฯ
- ประสบการณ์จากการทำงาน เมื่อเข้าไปทำงานในสถานพินิจจะพบว่าที่ คนพบบ่อยคือ เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไปขายซีดีเถื่อน พวกเขาไม่ได้รับการดูแลในช่วง critical period ช่วง 3 ปีแรก เนื่องจากพ่อแม่ที่ยากจน และนี่คือสิ่งที่เรียกว่าการสืบทอดความยากจนและมันจึงไปจบที่การขายซีดีเถื่อน โดนจับ ขณะที่ร้านค้า พ่อค้าคนกลางขายได้ แต่เด็กชาติพันธุ์ที่วิ่งขายโดนจับ
- ข้ามช็อตมาที่วัย 12-18 ปี วัยรุ่นมีหน้าที่ทางจิตวิทยาคือ 1.ค้นหาอัตลักษณ์ 2.ตั้งคำถามถึงอนาคต วิธีที่จะได้อัตลักษณ์นั้นไม่ยากคือ ไม่เชื่อหรือไปไกลๆ จากพ่อแม่ เป็น individual และพวกเขายังไม่เชื่อสิ่งอื่นๆ ด้วย ถ้าผู้ที่ทำงานด้านกฎหมายรู้ว่า วัยรุ่นตื่นมาก็จะไม่เชื่ออะไรทั้งนั้น เป็นหน้าที่ทางจิตวิทยา ก็น่าจะทำให้จิตใจผู้บังคับใช้กฎหมายอ่อนลง
- เรื่องคำถามถึงอนาคต จิตวิทยาพัฒนาการพูดไว้ชัดเจนว่า วัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่มีความสามารถเชิง abstract และสุดยอดของมันคือ ideality หรืออุดมคติ อุดมการณ์ จึงไม่แปลกที่วัยรุ่นจะมีอุดมการณ์ที่ดี ลอยเหนือเหตุผลด้วย เพราะตัวสมองและจิตวิทยาพัฒาการของเขาพุ่งไปเช่นนั้น จึงมีอุดมคติจริงๆ และมองอนาคตด้วยอุดมคติ
- วิธีดูแลพวกเขาก็ไม่ยาก คือ นั่งฟัง ว่าเขาอยากได้สังคมแบบไหน ตัวอายุจะเป็นศัตรูกับเขาเอง ยิ่งอายุมากขึ้นอุดมคติก็จะถูกเกลาสู่ reality ตัวอุดมคติจะครอบคลุมถึง justice ด้วย แปรรูปไปสู่สิ่งที่จับต้องได้มากขึ้นก็คือ เห็นประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว ทั้งหมดนี้อยู่ในพัฒนาการของวัยรุ่นเป็นปกติ
- ถ้ามีการรับฟังที่มากพอจะนำไปสู่การประนีประนอม ซึ่งมันจะเกิดขึ้นเอง ไม่ใช่หาจุดกึ่งกลาง แต่หาจุดที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมมากที่สุด แต่ถ้าไม่ฟังมันจะไม่มีทางออก เพราะวัยรุ่นเขาจะพุ่งไปข้างหน้า พุ่งไปสู่อุดมคติเสมอ และถ้าไม่มีเวทีมากพอ เขาจะไม่มีวันถอนญัตติและจะมีแต่พุ่งไปสู่จุดสูงสุด
- จากประสบการณ์รักษาโรคจิตเภทในเรือนจำ มีผู้ต้องขัง 2 คนในจำนวนนับร้อยที่โดนคดี 112 พวกเขารวมถึงคดีอื่นๆ ล้วนรับสารภาพ เหตุเพราะกระบวนการมันยาวมาก ยุ่งยากมาก ดังนั้น ความล่าช้าก็เป็นความไม่ยุติธรรม “เร็วหน่อยก็ดี”
- คุณสุภาพสตรีนักศึกษาที่เชี่ยวชาญอวกาศล่าสุด อยู่ในเรือนจำสองเดือนแล้ว ดังนั้น เร็วหน่อยก็ดี ขอพูดอีกครั้งว่า คนอายุเท่านั้นเขามีหน้าที่ 2 ข้อจริงๆ หนึ่งคือการค้นหาอัตลักษณ์ตัวเอง เป็นเวลาวิกฤตที่เขาต้องทำ เขาไม่มีหน้าที่อื่น ฉะนั้น การคุมขังก็ดี การไม่ให้พูดก็ดีมันขวางหน้าที่ทางจิตวิทยา ไม่มีทางปราบสำเร็จ ทำให้เรื่องตึงเครียดเปล่าๆ และจะทำให้จบไม่ดี อีกข้อหนึ่งคือ คนอายุเท่านี้เขามีอุดมคติ อุดมการณ์ มีทุกคน เยาวชนที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกับที่จารีตต้องการ เป็นหน้าที่ทั้งในแง่การค้นหาอัตลักษณ์และแสดงอุคมคติที่มีอยู่
- ระบบยุติธรรมในฝันเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่คนในระบบควรมี empathy ต่อผู้คนมากกว่าที่เป็นอยู่ แล้วมันจะสร้างอย่างไร ไม่รู้วิธีแก้ระบบ โดยส่วนตัวเชื่อว่าไม่มีวิธีแก้ระบบอะไรทั้งสิ้นในประเทศนี้ เราได้แต่รอมชอมกันในที่ประชุมทุกๆ ที่ ไม่มีการลงถึงราก แต่ผมยังมีความหวังกับการศึกษาหากมีโรงเรียนประถมที่ดี เพราะเป็น critical period เป็นช่วงที่เด็กลดความเป็นศูนย์กลางของตนเองลงหลัง 7 ขวบพอดี
สฤณี อาชวนันทกุล
- โลกเคลื่อนไปข้างหน้า การค้าทาสเคยถูกกฎหมาย เวลาเปลี่ยนคนเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง กฎหมายก็เปลี่ยนตาม ไม่มีอะไรที่จะยึดโยงเรากับความยุติธรรมแบบเดิมๆ
- แนวคิดอมาตยา เซน เขียน idea of justice เสนอว่าถ้าเรามัวแต่นิยามให้ชัดว่าความยุติธรรมในอุดมคติหน้าตาเป็นอย่างไร อาจเป็นไปไม่ได้ คนแตกต่างหลากหลายความคิด ดังนั้น อาจง่ายกว่าถ้าเริ่มต้นจาก ความไม่ยุติธรรม ซึ่งน่าจะเห็นร่วมกันได้มากกว่า
- เราต้องพูดถึง rule of law เพราะเราคาดหวังว่าจะมีกฎกติกาให้คนทุกแบบทุกศักยภาพอยู่ร่วมกันได้ ฐานคิดหลักเป็นเรื่องการวางกติกาคุ้มครองคนในสังคม วางขีดจำกัดของการใช้อำนาจรัฐ เพราะเราไม่ไว้ใจว่าให้อำนาจรัฐแล้วรัฐจะใช้อำนาจนั้นมาคุกคามเราเมื่อไร จึงต้องวางระบบถ่วงดุล คานดุล แบ่งแยกอำนาจ วางหลักเรื่องความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย เพราะเราอยากเห็นคนอยู่ร่วมกันได้แม้อำนาจไม่เท่ากัน มีกติกาชุดเดียวกัน
- เวลามองว่าสถานการณ์เลวร้ายถึงไหนแล้ว อาจไล่ดูหลักการพื้นฐานที่นักกฎหมายบอกว่าเป็นองค์ประกอบของนิติธรรม เช่น หลักความเสมอภาค หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ ก็จะพบว่ามีปัญหาทั้งหมด
- โจทย์ใหญ่ในการฟื้นความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรม คือการแก้ปัญหาภาวะไร้ความรับผิด ถ้ามองแบบแว่นเศรษฐศาสตร์ก็เชื่อมโยงกับเรื่องแรงจูงใจของคนในระบบยุติธรรมว่า ทำไมคนถึงทำอะไรโดยไม่ต้องสนใจต่อเสียงสะท้อนหรือผลกระทบ นั่นก็เพราะเขาไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน มีหลายองค์ประกอบที่จะสร้างกลไกการรับผิด นั่นคือ การยึดโยงศาลกับประชาชน ศาลมักจะพูดตลอดว่า ศาลต้องเป็นอิสระ แต่ปัญหาของประเทศไทยคือการตีความ “อิสระ” ไปในทิศทางอิสระจากทุกอย่าง อิสระจากหลักการ อิสระจากประชาชน จึงต้องทวงถามจุดที่จะมีความโยงระหว่างศาลกับประชาชน เช่น จะเปิดให้มีการถอดถอนโดยประชาชนได้หรือไม่ในกรณีที่มีผลกระทบรุนแรง
- นอกจากนี้ ระบบการสอบและกระบวนการของศาลเองก็สำคัญ หลายปีที่ผ่านมามีแถลงการณ์จำนวนมากจากนักวิชาการนิติศาสตร์ ทำไมเส้นทางวิชาการนิติศาสตร์จึงไปคนละทางกับกระบวนการยุติธรรม ทำไมวงการวิชาการไม่สามารถเอาความคิดเหล่านั้นที่ฟังดูเป็นเหตุเป็นผลมามีอิทธิพลต่อกระบวนการยุติธรรมได้ แสดงว่ามีปัญหาในระบบการเรียนการสอบด้วย