26 ก.ย. 2566 ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีต สส. บัญชีรายชื่อ และอดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่เปิดข้อเขียนถึงพรรคก้าวไกลระบุว่า
ดังที่ผมกล่าวไว้เมื่อวันศุกร์ที่แล้วว่า ผมมีข้อเขียนเกี่ยวกับพรรคก้าวไกลที่เตรียมเอาไว้นานแล้ว 2 ตอนสุดท้าย (ก่อนที่จะหยุดการวิจารณ์เสนอแนะพรรคก้าวไกล) หลายประเด็นในข้อเขียนสองตอนนี้ อาจปรากฏในการสัมภาษณ์สื่อก่อนหน้านั้น ผมเรียบเรียงไว้เป็นข้อเขียนและตั้งใจเผยแพร่ “ทิ้งทวน” เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อสมาชิก ผู้ลงคะแนน ทีมงาน และ ส.ส.
ผมคาดการณ์ว่า ภายในพรรค คงไม่มีใครหรือคณะนำคนใดพูดกันอย่างตรงไปตรงมาแบบนี้ ด้วยเหตุผลจากตำแหน่งหน้าที่ การปิดลับ หรือความเกรงอกเกรงใจต่อกันและกัน (ไม่ว่า คณะนำเกรงใจ ส.ส. หรือ ส.ส.เกรงใจคณะนำ) คงหลงเหลือแต่การคุยบ่นตัดพ้อกันในวงข้าววงเหล้าอยู่บ้าง ดังนั้น ผมในฐานะ “คนนอก” จึงขอใช้โอกาสสุดท้าย ทำหน้าที่เป็น “เอสเพรสโซ่ 2 ช็อต” รสอาจขม แต่ช่วยให้ตื่นและสดชื่นได้
หวังว่า ผู้สนับสนุนพรรค สมาชิก พนักงาน ส.ส. และคณะนำของพรรคก้าวไกล จะเข้าใจในเจตนาของผม
ข้อเขียน 2 ตอนสุดท้าย ได้แก่
ตอนที่ 1 ปัญหาที่พรรคก้าวไกลต้องเผชิญในระยะเวลาอันใกล้
ตอนที่ 2 ข้อเสนอถึง ส.ส. คณะนำ และหัวหน้าพรรคก้าวไกลคนใหม่
ในวันนี้ จะเผยแพร่ตอนที่ 1 ก่อน
…
[ตอนที่ 1 - ปัญหาที่พรรคก้าวไกลต้องเผชิญในระยะเวลาอันใกล้]
ภายหลังจากการสนธิกำลังของชนชั้นนำดั้งเดิม ชนชั้นนำทางการเมือง และชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ เพื่อโดดเดี่ยวพรรคก้าวไกล ได้เริ่มต้นขึ้น เป็นที่แน่ชัดว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปีของสภาผู้แทนราษฎรสมัยนี้ พรรคก้าวไกลจะต้องเผชิญกับความท้าทายจำนวนมาก
ผมขอสรุปไล่เรียงเป็นข้อๆดังนี้
ประการที่หนึ่ง
การตรวจสอบและปฏิบัติการข่าวสารอย่างเข้มข้น
ตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่มาจนถึงพรรคก้าวไกล ประสบความสำเร็จได้ เพราะ ปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่ง คือ การสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสื่อสารผ่านทางโลกออนไลน์
ฝ่ายตรงข้ามกับพรรคก้าวไกลเล็งเห็นถึงข้อนี้ พวกเขาจึงใช้เครื่องมือการสื่อสารในการตอบโต้กลับไปเมื่อ ส.ส.หรือพรรคก้าวไกล สื่อสารบ่อย ก็ย่อมมีโอกาสที่จะสื่อสารพลาด เมื่อ ส.ส.หรือพรรคก้าวไกล สื่อสารบ่อย ก็เป็นธรรมดาที่เปิดโอกาสให้ฝ่ายตรงข้ามนำบางท่อนบางตอนไปขยายความ ตีความ ใส่ความ เพื่อสู้กับพรรคก้าวไกล
ดังนั้น นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ส.ส.พรรคก้าวไกล ควรระมัดระวังและรอบคอบในการสื่อสารมากยิ่งขึ้น และคณะนำต้องยึดกุมทิศทางการสื่อสารของคนในพรรคทุกคนให้ไปในทิศทางเดียวกัน แบ่งภารกิจกลุ่มงานตามความเชี่ยวชาญรายประเด็น เรื่องใด ให้ ส.ส.คนใดสื่อสาร มิใช่ปล่อยให้ ส.ส.สื่อสารกันได้ทุกประเด็นตามใจชอบอย่างไม่มีทิศทาง เป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้ที่ ส.ส.คนหนึ่งจะรู้ทุกเรื่อง เชี่ยวชาญสารพัดเรื่อง การเกาะกระแส “ดราม่า” “เป็นข่าว” แสดงความเห็นทุกประเด็น โดยตนเองอาจไม่เชี่ยวชาญมากนัก ย่อมนำมาซึ่งความผิดพลาด และต้องไม่ลืมว่า เมื่อสื่อและฝ่ายตรงข้ามจับจ้องอยู่เสมอ ความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยก็อาจถูกนำไปขยายผลได้
นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลพยายามยกระดับการเมืองไทยใหม่ ด้วยการสร้างมาตรฐานของนักการเมืองให้สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการครองตน เรื่องการยึดถือคุณค่าพื้นฐานร่วมกัน อ่อนน้อม ไม่กร่าง ไม่เบ่ง ไม่มีการปฏิบัติที่เป็นไปในทางคุกคามทางเพศ การเคารพความแตกต่างหลากหลายทางเพศ หรือไปจนถึงยึดเรื่อง PC
เมื่อไรก็ตาม คนของพรรคก้าวไกลมีกรณีละเมิดเรื่องเหล่านี้ - ทั้งเรื่องเล็กแต่ถูกตีฟูขยายใหญ่ ทั้งเรื่องใหญ่ที่พรรคไม่อาจคุมคนของตนได้ถ้วนทั่ว - ก็จะถูกปฏิบัติการข่าวสารของฝ่ายตรงข้ามขยายผล พร้อมกับเรียกร้องมาตรฐานตามที่พรรคตนเองได้โฆษณาเอาไว้
เมื่อยกระดับมาตรฐานเอาไว้สูง จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะถูกสังคมเรียกร้องมากเป็นพิเศษ ดังนั้น ส.ส.ของพรรคก้าวไกลจึงจำเป็นต้องระมัดระวังเรื่องการครองตนมากกว่า ส.ส.พรรคอื่นๆ
บุคลิกภาพของ ส.ส.และความใหม่ของ ส.ส. ก็เช่นเดียวกัน จะกลายเป็นจุดที่พวกเขานำไปใช้โจมตี
จากเดิม “ความใหม่ ความสด การไม่เป็นนักการเมืองมาก่อน ไม่ได้อยู่ในตระกูลการเมือง การมีจุดยืนชัดเจน” ที่เป็นจุดเด่น จะค่อยๆถูกทำให้เป็น “หัวร้อน อ่อนประสบการณ์ บริหารไม่เป็น ทำงานกับคนอื่นไม่ได้ คิดว่าตนเองวิเศษคนเดียว ไม่มีเพื่อน ไม่คิดคบใครและไม่มีใครคบ” จนกลายเป็นจุดอ่อนไป
พรรคก้าวไกลต้องต่อสู้กับการยึดกุมความคิดความเชื่อของสังคมไว้ให้ได้ มิใช่ปล่อยเละเทะจนบานปลายไปถึงขนาดที่คนเริ่มบ่นตัดพ้อว่า “รู้แบบนี้ ไม่น่าเลือกเลย ขอคะแนนคืนได้มั้ย”ถ้ามาถึงวันนั้นเมื่อไร คะแนนนิยมของพรรคก็จะเริ่มลดน้อยถอยลง
ต้องไม่ลืมว่า เมื่อกระแสสูงได้เพราะโลกโซเชียล กระแสก็ตกได้ด้วยโลกโซเชียลเช่นกัน
ประการที่สอง
ช่วงเวลา “Honeymoon” กำลังหายไป
ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลได้การยอมรับและเอาใจช่วยจากหลากหลายแวดวง อยากเห็นพรรคก้าวไกลได้มีโอกาสบริหารประเทศ เราจะเห็นได้ว่า แวดวงวิชาการ ศิลปวัฒนธรรม บันเทิง ไปจนถึงสื่อมวลชน ต่างก็มีใจปฏิพัทธ์ให้แก่พรรคก้าวไกล
เมื่อไรก็ตามที่คนของพรรคก้าวไกลถูกโจมตี ทั้งจากปฏิบัติการข่าวสาร ทั้งจากนิติสงคราม จะมีคนจากหลากหลายแวดงพร้อมออกมาอธิบาย โต้แย้งแสดงเหตุผล ช่วยพรรคก้าวไกลเสมอ ยังไม่นับรวมว่าได้ช่วงเวลาออกอากาศจากสื่อสำนักสำคัญๆอยู่เป็นประจำ
ประกอบกับ เมื่อพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับที่หนึ่ง แต่กลับไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและไม่ได้ร่วมรัฐบาล ก็ยิ่งทำให้เกิดแรงแค้นผสมระคนกับแรงสงสาร เข้าไปอีก
แต่ทั้งหมดนี้คือช่วงเวลา Honeymoon
เมื่อรัฐบาลเข้ารับหน้าที่ พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน ผ่านไปสักระยะ บรรยากาศน้ำผึ้งพระจันทร์ที่แวดวงท้้งหลายมีให้แก่พรรคก้าวไกล ก็จะทยอยบรรเบาบางลงไปตามลำดับ
ต่อไป โอกาสแก้ตัว ที่พรรคก้าวไกลได้รับอย่างสม่ำเสมอ จะค่อยๆหายไป จากเดิม เรื่องหนึ่ง มีคนให้อภัย มีคนพร้อมเข้าใจ มีคนช่วยแก้ต่าง ต่อไป เรื่องเดียวกัน คนจะเริ่มถาม “อีหยังวะ” คนจะสงสัย “อะไรกันนักกันหนา อีกแระ ไม่ระวังกันเลย”
นับตั้งแต่เลือกตั้งจบลงจนถึงวันนี้ มีหลายกรณีที่เริ่มเดินไปในทิศทางนี้แล้ว ผมคงไม่ต้องยกมาอธิบายให้เห็นเป็นรูปธรรม ทุกคนคงพิจารณาและนึกออกได้เอง
ประการที่สาม
นิติสงคราม เดินหน้าบดขยี้
บรรดาคดีความที่ ส.ส.พรรคและพรรคก้าวไกล ถูกเล่นงาน ยังคงอยู่ในเงื้อมมือขององค์กรอิสระและศาล และน่าจะมีอีกหลายคดีที่บรรดา “นักร้อง” เตรียมปฏิบัติการต่อเนื่อง
ตลอด 4 ปีนี้ ปฏิบัติการนิติสงครามต่อพรรคก้าวไกลจะทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ดอกผลอาจไม่ออกช่วงนี้ แต่ก็สร้างความรำคาญและเป็นภาระ ดอกผลจะเบ่งบานบานปลาย หากเข้าใกล้เทศกาลการเลือกตั้งและพรรคก้าวไกลยังกระแสสูง
ประการที่สี่
พรรคการเมือง/กลุ่มการเมือง ทุกกลุ่ม รุมขย้ำ
เมื่อพรรคก้าวไกลถูกโดดเดี่ยว ก็จะถูกพรรคอื่นๆ ปิดล้อมตามลำดับ รอบนี้จะหนักหนาสาหัสมากขึ้น เพราะ พรรคเพื่อไทย พรรคขนาดใหญ่ที่เคยอยู่ขั้วเดียวกันมา กลับเปลี่ยนไปอยู่ฝ่ายตรงข้ามกันเสียแล้ว เมื่อผนวกกำลังเข้ากับพรรคอื่นๆที่ “จองกฐิน” พรรคก้าวไกลมาโดยตลอด ก็จะยิ่งทำให้พรรคก้าวไกลเหนื่อยมากขึ้น
การแบ่งสรรตำแหน่งประธานกรรมาธิการตามโควต้าพรรค เมื่อไม่นานมานี้ เป็นเพียง “หนังตัวอย่าง” เท่านั้น ประเดี๋ยวคงมีอีกหลายเรื่องตามมา
ประการที่ห้า
ความขัดแย้งภายในพรรค
ความขัดแย้งภายในพรรค เป็นเรื่องปกติของทุกพรรคการเมือง การบริหารความคาดหวังของคนในพรรค และการขจัดหรือลดทอนความขัดแย้งภายในพรรค จึงเป็นศิลปะและความท้ายทายของผู้บริหารพรรค ในระยะ 4 ปีนี้ พรรคก้าวไกลจะเจอปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคอยู่ 3 กรณีใหญ่
กรณีแรก ความขัดแย้งเรื่องตำแหน่ง
พรรคก้าวไกลถูกเตะให้เป็น “ฝ่ายค้าน” ทำให้ตำแหน่งทางการเมืองต่างๆมีน้อย ในขณะที่โอกาสการบริหารและใช้งบประมาณแผ่นดินก็ไม่มี
เมื่อตำแหน่งเหลือน้อยลง ไม่มีงบ ไม่มีอำนาจ แต่มี ส.ส.ถึง 151 คน มีพนักงาน มีอาสาสมัคร มีคณะทำงานทั่วประเทศ รวมอีกหลายร้อยคน มีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญที่พรรคอยากดึงตัวมาช่วยงานในอนาคตอีก เช่นนี้ การแบ่งสรรปันส่วนตำแหน่งให้ได้อย่างถ้วนทั่ว สมตามความพอใจของแต่ละคน ย่อมเป็นไปได้ยาก
เมื่อมีคนไม่ได้ตำแหน่งที่ตนเองต้องการ ก็ตามมาด้วยความผิดหวัง เมื่อผิดหวัง ก็ไม่พอใจ โกรธ และในท้ายที่สุด ก็จะขยายผลไปไม่พอใจในเรื่องอื่นอีก จากเดิม เรื่องเล็กๆน้อยๆ ทนๆกันไปได้ หยวนๆกันไปได้ แต่เมื่อผิดหวังใหญ่จากเรื่องตำแหน่ง ต่อไป เรื่องเล็กน้อยที่ไม่เป็นประเด็น ก็อาจกลายเป็นประเด็นได้เสมอ
แล้วถ้ามีหลายๆคนไม่พอใจในเรื่องตำแหน่ง ก็จะตามมาด้วยการจับกลุ่มของคนที่ไม่พอใจ และขยายตัวเป็นความบัดแย้งภายในพรรค
เช่นเดียวกัน พรรคก้าวไกลประกาศว่า จะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่นในรอบหน้า จุดนี้เป็นชนวนของความขัดแย้งในพื้นที่ได้อีก
ประสบการณ์ของพรรคอื่นๆบอกเราไว้ว่า การเมืองท้องถื่นอาจส่งผลสะเทือนภายในพรรคได้จากกรณีที่ ส.ส.หรือผู้สมัคร ส.ส.ในเขตเลือกตั้งหนึ่ง ในจังหวัดหนึ่ง ต้องการส่งคนของตนเองลงสมัครสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือนายกท้องถิ่น แต่พรรคหรือคณะนำของพรรคต้องการส่งอีกคนลง ทำให้เกิดความขัดแย้งกัน
ผลลัพธ์ที่ตามมา ก็คือ ต่างคนต่างส่งกันเอง แข่งกันเอง ขัดแย้งกันเอง หรือไม่ก็ อดทนยอมคณะนำพรรคไป แต่ก็สร้างความไม่พอใจเก็บเอาไว้ เรื่องทำนองนี้ ย่อมมีโอกาสเกิดกับพรรคก้าวไกลเช่นเดียวกัน
กรณีสอง ความขัดแย้งเรื่องการไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
ยามเมื่อพรรคพึ่งตั้งใหม่ ยังไม่มีใครรู้จัก และยังไม่รู้จักกันเองเท่าที่ควร คณะนำของพรรคอาจยังไม่ไว้เนื้อเชื่อใจคนในพรรคอย่างถ้วนหน้า การตัดสินใจในเรื่องต่างๆอาจมาจาก “วงปิด” ของคณะนำไม่กี่คน ในขณะที่ ส.ส.คนอื่นๆอาจคิดว่าต้องยอมสภาพเช่นนี้ไปก่อนในระยะแรก อย่างไรก็ตาม เมื่อพรรคเติบโตขึ้น คนมากขึ้น ส.ส.มากขึ้น เรื่องที่ต้องตัดสินใจส่งผลกระทบต่อคนในวงกว้างมากขึ้น ส.ส.และทีมงานของพรรคย่อมต้องการมีส่วนร่วมมากขึ้น
ยิ่งพรรคก้าวไกลโฆษณาเรื่อง พรรคมวลชน พรรคที่ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของ พรรคที่มีประชาธิปไตยกันภายในพรรค ก็จะยิ่งถูกคนในพรรคเรียกร้องการมีส่วนร่วมเข้าไปอีก มิพักต้องกล่าวถึง ผู้ลงคะแนนและผู้สนับสนุนจำนวนมากที่สามารถกดดันเรียกร้องพรรคได้เช่นกัน
ปัญหาเหล่านี้จะทยอยๆเกิดขึ้น ไล่ไปตั้งแต่… เ
รื่องใดให้อำนาจคณะนำตัดสินใจ แล้วให้ที่ประชุม ส.ส.รับทราบ เรื่องใดให้คณะนำและที่ประชุม ส.ส.ร่วมกันตัดสินใจ หรือคณะนำไม่กี่คนรวบอำนาจการตัดสินใจทั้งหมด แล้วให้ ส.ส.ยกมือพอเป็นพิธี?
คณะนำตัดสินใจแต่ผู้สนับสนุนพรรคไม่พอใจรวมตัวกันกดดัน
คณะกรรมการบริหารพรรคมาจากการจัดตั้งคนไว้ก่อนแล้วจัดประชุมเป็นพิธียกมือให้ตามระเบียบ หรือจะเปิดให้มีการแข่งขันกันภายในพรรคอย่างจริงจัง?
เป็นต้น
กรณีสาม ความขัดแย้งเรื่องความคิดและแนวทางของพรรค
พรรคก้าวไกลรวมคนจากหลากหลายกลุ่ม มีหลายเรื่องที่เห็นไม่ตรงกัน แต่ยอมกันไปเพื่อการณ์ใหญ่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป พรรคเติบใหญ่ขึ้น ความเห็นแตกต่างกันภายในพรรคในเรื่องความคิด แนวทาง นโยบายพรรค จะเริ่มปรากฏชัดมากขึ้น
เรื่องแบบนี้ เป็นธรรมดาของพรรคการเมือง หากในอนาคต เปิดให้มีการแข่งขันภายในพรรค ก็จะเกิดกลุ่มขั้วต่างๆ แข่งกันภายในว่า แนวคิดไหนจะชนะและได้บริหารชี้นำพรรค
ปัญหามีอยู่ว่า ในช่วงเริ่มต้นแบบนี้ จะประคองไม่ให้ประเด็นแบบนี้กลายเป็นความขัดแย้งจนสั่นคลอนพรรคได้อย่างไร