เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย นำโดยกฤษณะ ไก่แก้ว และนันทพงศ์ ปานมาศ แกนนำเครือข่ายฯ พร้อมด้วยธิติมา บุตรดี นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงและสมาชิกเครือข่ายฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บาดเจ็บ ร่วมยื่นหนังสือเรียกร้องให้ ไล่สมเดช คงวิจิตร์ ภาคีเครือข่ายปกป้องสถาบัน ออกจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง หลังก่อเหตุทำร้ายร่างกายนักศึกษารามคําแหง เมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่่านมา
โดยขอทวงถามความคืบหน้าและการดำเนินการ ดังนี้
1.ขอให้มหาวิทยาลัยไล่สมเดช คงวิจิตร์ ออกจากการเป็นเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย
2.ทางมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างไรบ้าง สำหรับบุคคลที่ได้ทำร้ายนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ภายในมหาวิทยาลัย หรือมีความเกรงกลัวต่อกลุ่มบุคคลดังกล่าว ที่มีความเชื่อมโยงกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางคน
3.ทางผู้บาดเจ็บจะไม่รับการช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยในเรื่องค่ารักษาพยาบาล จนกว่าผลการดำเนินการของมหาวิทยาลัยจะเป็นรูปธรรม และเป็นที่พอใจ เพราะไม่ต้องการเป็นข้อกล่าวอ้าง สร้างความชอบธรรมให้กับผู้บริหารมหาวิทยาลัย
โดยมีตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวประณามการกระทำข้างต้นและประณาม องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง (อศ.มร.) รวมถึงประณามท่าทีของ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ไม่ได้ปกป้องลูกศิษย์ของตัวเอง แต่กลับให้ท้ายบุคคลภายนอก ซึ่งก็รู้ว่าเป็นคนของใคร ต่างจากอธิการบดีของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ที่ปกป้องนักศึกษาขอร้องตัวเอง พร้อมย้ำถึงสถาบันการศึกษาที่ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการทำกิจกรรมและแสดงออกทางการเมือง และต่อกรณีที่เกิดขึ้นนั้น เห็นพ้องกันว่า 'สมเดช' หนึ่งในผู้ก่อเหตุ ไม่สมควรเป็นเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยอีกต่อไป หากอธิการบดี ไม่ไล่สมเดชออกทางเครือข่ายก็จะชุมนุมขับไล่อธิการบดีฯ ในลำดับต่อไป
ธิติมา กล่าวว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น ไม่ได้ตกใจอะไร แต่จิตตกลงเรื่อยๆ จากท่าทีของผู้มีอำนาจทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย แต่แม้ถูกกระทำก็ไม่มีผลกับตัวเอง "คิดว่าเราบาดเจ็บเพียงเท่านี้ยังไม่ได้รับความยุติธรรม ผู้ที่เจ็บมากกว่าเราและไม่ได้รับความยุติธรรม จะมีรู้สึกขนาดไหน"
พร้อมยืนยันว่า ทางเครือข่ายฯ เห็นมาตลอดว่ามีเพื่อนๆ ถูกจับไป ท่าทีผู้มีอำนาจและกระบวนการยุติธรรมเพิกเฉยอย่างไร สร้างความเจ็บปวดให้กับพวกเราและ "ถ้าเขาเห็นหัวเรา เราคงไม่มาอยู่ตรงนี้หรอก"
นันทพงศ์ ปานมาศ แกนนำเครือข่ายฯ กล่าวว่า ผู้ก่อเหตุบอกว่านักเรียนนักศึกษาฝ่ายประชาธิปไตย เข้าไปก่อกวนกลุ่มคนเสื้อเหลืองก่อน ด้วยการใช้ 'สายตาล้มล้างสถาบัน' ซึ่งตนไม่เข้าใจว่า เป็นสายตาอย่างไร และสายตาจะล้มล้างสถาบันได้อย่างไร และมีคำถามว่า พฤติการณ์ที่ไล่เตะเด็ก ม. 1 สมเหตุสมผลหรือไม่? วุฒิภาวะคุณมีขนาดไหน? อายุ 40-50 ปี มีตำแหน่งหน้าที่เป็นพนักงานลูกจ้างมหาวิทยาลัยและมีตำแหน่งทางการเมืองข้างนอกอีกด้วย
หลังจากเกิดเหตุการณ์ยังมีกลุ่มคนเสื้อเหลืองซึ่งบางคนพอรู้จักกันบ้างข่มขู่สมาชิกเครือข่ายฯ ในเชิงว่า "อย่าให้เห็นอีกเดี๋ยวเจอดี" และ "ระวังตัวให้ดี" นักศึกษารามคำแหงและสมาชิกเครือข่ายฯ หลายคนไม่กล้าเดินในมหาวิทยาลัยคนเดียว มีความหวาดระแวง ขณะที่ผู้ปกครองของนักเรียนมัธยมที่ถูกทำร้ายก็ไม่กล้าแจ้งความเพราะกลัวอิทธิพล
พร้อมย้ำว่า การสวมเสื้อเหลืองหรืออ้างว่ารักสถาบัน ก็ไม่มีสิทธิมาทำร้ายใคร และยืนยันว่า ประชาชนคือเจ้าของประเทศ ที่สำคัญข้อเสนอของขบวนการคนรุ่นใหม่ที่ต้องการให้ปฏิรูปสถาบันไม่ใช่การ 'ล้มเจ้า'
ขณะที่มีศิษย์เก่ารามคำแหงรวบรวมรายชื่อและอ่านแถลงการณ์ ประณามการกระทำดังกล่าวรวมถึงการดำเนินการที่ล่าช้าของทางมหาวิทยาลัย และเรียกร้องสอดคล้องกับทางเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตยด้วย
รศ.อดุลย์ ตะพัง รองอธิการบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นผู้มารับหนังสือพร้อม เปิดเผยว่า ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงรวมถึงคณะกรรมการที่จะเยียวยาผู้เสียหายแล้ว ซึ่งจะรีบสรุปภายใน 2 สัปดาห์ ส่วนคลิปที่เกิดเหตุ ตนยังไม่ได้ดู เพราะเป็นคนโบราณ แม้ว่ามีลูกชายที่กำลังศึกษาอยู่ แต่ก็เป็นคนละยุคกัน อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัย ให้สิทธิผู้เสียหายเข้าไปแจ้งความ
ทำให้ทางเครือข่ายฯ ไม่พอใจหรือและรู้สึกเสียใจกับการตอบคำถามของ รศ.อดุลย์ ที่นอกจากมหาวิทยาลัยไม่เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุ ปกป้องลูกศิษย์ตัวเองแล้ว ยังบอกว่าให้สิทธิในการแจ้งความ ทั้งที่ผู้เสียหายไม่จำเป็นต้องขอสิทธิจากใครในการแจ้งความ
ผู้กำกับ สน.หัวหมาก รับปากทำคดีตรงไปตรงมา
เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตยเดินทางมาทวงถามความคืบหน้ากรณีกลุ่มชายเสื้อเหลืองรุมทำร้ายนักเรียนและนักศึกษารามคำแหงสมาชิกเครือข่ายเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 โดยเรียกร้องให้ ผู้กำกับการ สน.หัวหมากลงมาชี้แจงกับทางเครือข่าย พร้อมสลับกันปราศรัยย่อย เนื้อหาเน้นถึงการคุกคามประชาชนโดยอำนาจรัฐและความอยุติธรรมในสังคม นอกเหนือจาก ประนามการกระทำของกลุ่มคนเสื้อเหลือง, ท่าทีของอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงและความล่าช้าในการทำคดีของตำรวจ
ซึ่งพ.ต.อ.เลิศศักดิ์ เขียมทรัพย์ ผู้กำกับ สน.หัวหมาก ลงมาให้ข้อมูลก่อนให้ส่งตัวแทนไปยื่นหนังสือตามขั้นตอน พร้อมเปิดเผยว่า ทางตำรวจมีหลักฐานบางส่วนแล้ว หากนักเรียนนักศึกษาและประชาชนหรือสื่อมวลชน มีหลักฐานเพิ่มเติมก็สามารถส่งมาได้ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานและยังไม่ได้เรียกตัวผู้ก่อเหตุมาสอบสวน เพราะในเหตุการณ์มีคนจำนวนมาก ซึ่งต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง โดยได้ส่งเรื่องขอภาพกล้องวงจรปิดจากทางมหาวิทยาลัยรามคำแหงแล้ว แต่มหาวิทยาลัยยังไม่ได้ส่งมาให้ตำรวจ อย่างไรก็ตาม ขอรับปากว่าจะทำงานอย่างตรงไปตรงมาและข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไม่ได้
เมื่อถามถึงความยาก-ง่าย ของคดีนี้หากให้คะแนน 1-10 จะให้เท่าไร พ.ต.อ.เลิศศักดิ์ กล่าวว่า คดีนี้ไม่ยาก แต่ให้คะแนนความยาก-ง่าย ที่ "ระดับ 7" พร้อมยืนยันว่า ไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับความช้าหรือเร็วของการดำเนินการในคดี โดยภายใน 1 สัปดาห์ถัดจากนี้ จะมีความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีนี้แน่นอน