พรรคพลังประชารัฐ ประโคมปี่กลองการเลือกตั้งหลังกำหนดวันเลือกตั้งเพียง 1 วัน ด้วยการประกาศนโยบาย 7-7-7
ชู 7 สวัสดิการประชารัฐ เป็นการสานต่อและย้ำความทรงจำของความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในรัฐบาลประยุทธ์ผ่านการดำเนินนโยบาย “ประชารัฐ” อันได้แก่ บัตรประชารัฐ, สวัสดิการรายกลุ่ม, สวัสดิการคนเมือง, หมดหนี้มีเงินออม, บ้านล้านหลัง, บ้านสุขใจวัยเกษียณ, สิทธิ์ที่ดินทำกิน ในข้อหลังสุดกำลังเป็นวิวาทะระหว่าง “ประยุทธ์ และ สามมิตร” ซึ่งผลลงเอยที่ นายกฯ เสนอว่า จะขยายสิทธิ์ที่ดิน สปก. ให้เปิดช่องทำกิจกรรม-กิจการอย่างอื่นได้ นอกไปจากทำการเกษตร แต่ย้ำว่า “ห้ามขายเด็ดขาด”
ชู 7 สังคมประชารัฐ และ 7 เศรษฐกิจประชารัฐ เป็นภาคต่อของสโลแกน “ไทยแลนด์ 4.0” ที่รัฐบาลได้ขายคำมาก่อนหน้าราว 3 ปีมาแล้ว นโยบายสังคมก็เช่น การศึกษา 4.0, กระจายศูนย์กลางความเจริญสู่ภูมิภาค, เมืองอัจฉริยะสีเขียว, ชุมชนประชารัฐร่วมพัฒนาบ้านเมือง, กรุงเทพ 5.0 ขณะที่นโยบายภาคเศรษฐกิจเช่น ยกระดับความสามารถผู้ผลิต, เกษตรประชารัฐ 4.0, กระจายโอกาสด้วยการท่องเที่ยวชุมชน, เศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่านการแบ่งปัน,นวัตกรรมสีเขียว และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
นั่นคือ นโยบาย 7-7-7 จากพรรคพลังประชารัฐ โดยนัยยะ คือการสืบทอดสิ่งที่พวกเขาเองเข้าใจว่า-เชื่อว่าเป็นความสำเร็จในรัฐบาลประยุทธ์
ในเวทีหาเสียง พรรคพลังประชารัฐ ไม่เพียงนำเสนอนโยบายโดยเน้นเชื่อมต่อกับรัฐบาลประยุทธ์ ทว่ายังประกาศขาย “ความสงบ-การไม่มีระเบิด -เผาบ้านเผาเมือง-การเมืองวุ่นวาย” เป็นหนึ่งในจุดขายสำคัญ จนพรรคเพื่อไทยโต้กลับด้วยวาทกรรมใหม่ “พรรคเพื่อไทยจะสร้างความสงบสุขบนความอยู่ดีกินดีของชีวิตประชาชน” ยกว่าความสงบแบบพรรคพลังประชารัฐ คือความสงบของเศรษฐกิจที่ชนชั้นล่างจนลงเรื่อยๆ ขณะที่นายทุนมั่งคั่งขึ้นไปเรื่อยๆ
อีกหนึ่งจุดขายของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นจุดอ่อนปวกเปียกในเวลาเดียวกัน คือการยืนยันตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้งพรรคว่าพวกเขาเลือกหนุนใคร และอะไรคือภารกิจพิเศษของพรรคในการเลือกตั้งรอบนี้
ฉับพลันเมื่อถึงวันที่กำหนดให้แต่ละพรรคการเมืองต้องเผยรายชื่อผู้จะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐ เป็นที่ยืนยันกันหลายฝ่ายแล้วว่า จะปรากฎ 3 ชื่อสำคัญในบัญชี คือ “อุตตม-ประยุทธ์-สมคิด” ชื่อแรกมาโดยตำแหน่ง ชื่อสองมาโดยการเป็นตัวจริง และชื่อสามมาโดยการเป็นผู้จัดการรัฐบาลในสมัยหน้า
“อุตตม สาวนายน” จะนั่งใน “บัญชีนายกรัฐมนตรี” ในฐานะที่เป็น “หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ” ชื่อนี้จะขายต่อสาธารณชนในฐานะ “เจ้าโปรเจค EEC-เทคโนแครตที่เชี่ยวชาญในทางเศรษฐกิจ”
อุตตม ผูกพันทางใจกับ “รองนายกสมคิด” ในฐานะที่เป็น “ทีมสมคิด-ลูกน้องสมคิด-มองสมคิดเป็นที่ปรึกษาทางใจ” อุตตมเป็นวงในสุดที่ล้อมตัวรองนายกฯ สมคิดอยู่
ทุกเช้าวันจันทร์ อุตตมจะประชุม ครม.เศรษฐกิจที่ห้องทำงานของสมคิด ขณะที่หลังประชุม ครม.ในวันอังคาร เขาและ รัฐมนตรีในกำกับของสมคิดก็มีนัดประชุมต่อที่ห้องทำงานสมคิด เมื่อมีวาระทางการเมืองเร่งด่วนต้องการคำปรึกษาทั้งในทางการเมือง และทางใจ 4 รัฐมนตรี อันได้แก่ “อุตตม-สนธิรัตน์-สุวิทย์-กอบศักดิ์” จะเดินเข้าออกห้องทำงานของรองนายกสมคิดที่ตึกบัญชาการ 1 ชั้น 1 เป็นว่าเล่น ห้องนี้เองที่ขับเคลื่อนทั้งดีลเปิด-ดีลลับ ขยับทิศทางการเมืองไทย สื่อใหญ่ตั้งข้อสังเกตว่า ห้องแห่งนี้คือที่มาของพรรคการเมืองที่กำลังเนื้อหอมในเวลานี้
“ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะนั่งใน “บัญชีนายกรัฐมนตรี” ในฐานะที่เป็น “ตัวจริง-หัวใจของพรรคพลังประชารัฐ” ชื่อนี้จะขายต่อสาธารณชนในฐานะ “ผู้นำความสงบสุขและความเป็นปึกแผ่นมาสู่การเมืองไทย-นำเสนอความสนิทสนมกับกองทัพ อันจะนำมา ซึ่งภาพความสงบสุขที่พรรคพลังประชารัฐพยายามนำเสนอต่อสังคม”
สองวันก่อน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เริ่มเปรยถึง “อนาคตทางการเมือง”
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “การจะตอบรับใคร จะต้องคิดอย่างละเอียด แต่ถ้าคิดว่าจะอยู่ต่อเพื่อทำงาน ก็คงต้องสนับสนุนพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่ต้องเป็น พรรคที่ต้องทำงานด้วยความตั้งใจอย่างแท้จริง และทำให้บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปสู่วันข้างหน้า ไม่ใช่ไปล้มล้างทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำมาทั้งหมด จะเสียเวลาเปล่า”
ประโยคนี้ ย้ำแน่นหนักถึงความเป็นไปได้ในการตอบรับอยู่ในบัญชีนายกฯ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเท่ากับตอบรับที่จะกุมบังเหียนประเทศต่อไปอีก 4 ปีข้างหน้า และอาจยาวนานไปถึง 8 ปี เพราะ สว.รุ่นใหม่ จะมีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอีกหน กติกาที่ล๊อคอยู่เช่นนี้เอง ที่จะเป็นจุดอ่อนสำคัญในการขายประยุทธ์ต่อสาธารณชน
โดยเฉพาะกับ “คนรุ่นใหม่” ซึ่งส่ายหน้าให้กับการบริหารงานของรัฐบาลประยุทธ์ตลอดหลายปีมานี้ และคนกลุ่มนี้เองที่เป็น “ผู้เลือกตั้งหลัก” ในการเลือกตั้งปี 2562
“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” จะนั่งใน “บัญชีนายกรัฐมนตรี” ในฐานะที่เป็น “หัวใจของพรรคพลังประชารัฐ-ผู้จัดการรัฐบาล-มิตรของสามมิตร” ชื่อนี้จะขายต่อสาธารณชนในฐานะ “นักบริหารมืออาชีพทั้งในยุครัฐบาลทักษิณ และรัฐบาลประยุทธ์-เทคโนแครตที่เชี่ยวชาญในทางเศรษฐกิจ-มือประสานสิบทิศ”
ถ้า “ทักษิณ ชินวัตร” ลงจากบังเหียนนายกรัฐมนตรี ครบสองสมัยแบบชนิดแลนดิ้งสวยงาม ว่ากันว่า รายชื่อนายกรัฐมนตรีคนต่อไปจากพรรคไทยรักไทย จะชื่อ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ในวันที่ทักษิณเรืองอำนาจ เขาคือหนึ่งในคนที่นายใหญ่ไว้วางใจ เป็นทั้ง “กุนซือมือคิดนโยบายที่ติดใจประชาชน-ขุนคลัง-รองนายก-รัฐมนตรีพาณิชย์-แคนดิเดตนายกจากพรรคไทยรักไทย” ทว่าวงทานข้าวลับร่วมกับผู้นำพรรค-รัฐมนตรี ที่ซอยต้นสน เพื่อบ่นระบายถึง ทักษิณ ในวันเผชิญพายุการเมืองจากคนเสื้อเหลือง ก็แว่วถึงหูนายใหญ่ จนทำให้ความสัมพันธ์แตกร้าวในที่สุด
หลังจากนั้นตัวเขาเองยืนอยู่ด้านตรงข้ามของทักษิณมาโดยตลอด เป็นเส้นขนานที่ไม่มีวันผนวกรวม และเป็นที่มาให้ตัวเขาเองเดิมพันการเมืองหลังการเลือกตั้ง 2562 ด้วยการผลักดันให้ลูกศิษย์ที่ไว้ใจ ให้กำเนิดพรรคพลังประชารัฐ พรรคการเมืองซึ่งจะเป็น ตัวละครหลักในการเลือกตั้งรอบนี้
เมื่อตัดสินใจแน่แล้วว่า จะสืบทอดอำนาจทางการเมืองให้สำเร็จ สายโทรศัพท์แรกจึงดังขึ้นไปที่ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” มิตรเก่าแก่ในทางการเมือง
อีกหนึ่งหมายเหตุทางการเมืองที่ต้องหมุดไว้ คือการเปิดเผยของสุริยะ ถึง เรื่องเล่าวันกำเนิด “สามมิตร แห่งพลังประชารัฐ” สุริยะ บอกว่า “อยากขอกล่าวถึงเบื้องหลังกลุ่มสามมิตร โดยเมื่อประมาณวันที่ 11 เมษายน ผู้ใหญ่ที่ผมเคารพตั้งแต่สมัยทำพรรคไทยรักไทยด้วยกัน ผมคงไม่ขอเอ่ยชื่อ น่าจะทราบกันดี ท่านบอกว่า ถ้าไม่มีพรรคทางเลือกใหม่ให้ประชาชน การเลือกตั้งครั้งใหม่ 2 ขั้วเดิมมา เมื่อเลือกตั้งเสร็จคงจะเกิดวิกฤตทางการเมืองอีก ซึ่งจะเกิดเหตุการณ์ที่ทหารเข้ามา ถ้าไม่ต้องการเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นก็ต้องมาเป็นพรรคทางเลือกใหม่”
ชื่อชั้นของ สมคิด ในบัญชีนายกรัฐมนตรี คือการค้ำประกันว่า สถานะของ “สามมิตร-เทคโนแครต-นักธุรกิจ-กลุ่มทุน” จะยังมั่นคงเสมอในรัฐบาลผสมที่มีทหารเป็นคนเคาะในวงโต๊ะการเมือง ทว่ายังเป็นการย้ำถึงสถานะ “ผู้จัดการรัฐบาล” ขนานไปกับ “ประวิตร วงษ์สุวรรณ” พี่ใหญ่ที่ผู้ใหญ่จากหลากหลายวงการให้ความเคารพนับถืออีกด้วย
สำหรับกติกาที่กำหนดไว้ รายชื่อในบัญชีนายกฯ ของพรรคการเมือง ไม่จำเป็นจะต้องเป็นสมาชิกพรรค เมื่อพรรคการเมืองส่ง “เทียบเชิญ” ผู้ได้รับการทาบทามจะต้องตอบเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจน ในเอกสารที่จะนำส่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงต้องมี “หนังสือยินยอมจากบุคคลนั้น” ต้องมีหนังสือยินยอมทั้งจาก อุตตม-ประยุทธ์-สมคิด!!
แม้พรรคพลังประชารัฐจะเชื่อว่า ทั้ง 3 รายชื่อแคนดิเดต นายกรัฐมนตรีจากพรรค จะโดดเด่น เป็นแม่เหล็กดึงดูดคะแนนเสียงชั้นดี ทว่าสำหรับอีกฟากฝั่ง ทั้ง 3 รายชื่อแคนดิเดต ก็ถือเป็นบาดแผลชั้นดีให้โจมตีได้ไม่เว้นวัน!!