ตระกูลอี (Lee Family) เจ้าของธุรกิจในเครือซัมซุงกรุ๊ป แชโบลยักษ์ใหญ่ผู้กุมอำนาจเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ออกมาประกาศว่าจะจ่ายภาษีมรดกก้อนใหญ่ที่เป็นมูลค่ามากถึง 12 ล้านล้านวอน หรือราวๆ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.4 แสนล้านบาท โดยจะแบ่งจ่ายให้กับหน่วยงานรัฐบาลโซลเป็น 6 งวด ในระยะเวลา 5 ปี ทั้งเตรียมบริจาคที่ดินและผลงานศิลปะในครอบครองของตระกูลบางส่วนให้เป็นสมบัติของชาติแก่พิพิธภัณฑ์
เรื่องภาษีก้อนมหึมานี้ มีขึ้นหลังการเสียชีวิตของ อีคุนฮี (Lee Kun-hee) อดีตซีอีโอและประธานใหญ่แห่งกลุ่มธุรกิจซัมซุง ซึ่งเสียชีวิตลงเมื่อ 25 ต.ค. 63 ขณะอายุ 78 ปี พร้อมทิ้งทรัพย์สมบัติมรดกมหาศาลกว่า 19,600 ล้านดอลลาร์ แก่ภรรยาและบุตรทั้งสาม หนึ่งในนั้นคือ อี แจ ยอง (Lee Jae-yong) รองประธานซัมซุง ผู้จ่อขึ้นกุมอำนาจธุรกิจของซัมซุงกรุ๊ป ทว่าเวลานี้เขากำลังถูกดำเนินคดีจำคุกในหลายข้อหาทั้งจ่ายสินบน ยักยอกทรัพย์ ซุกหุ้น และความผิดอื่นๆ อีกหลายกระทง
ก่อนเสียชีวิต อีคุนฮี ถือหุ้น 4.18% ในบริษัท Samsung Electronics, 20.76% ใน Samsung Life Insurance และอีก 2.88% ใน Samsung C&T ยังไม่นับรวมผลงานศิลปะหายากซึ่งเขาสะสมไว้เป็นคอเลกชันส่วนตัวอีกมากกว่า 23,000 ชิ้น ที่มีทั้งภาพเขียนของศิลปินดังระดับโลกหลายคน อาทิ ปาโบล ปิกัสโซ, พอล โกแกง, โกลด มอแน, ฌูอัน มิโร และ ซัลบาโด ดาลี โดยรายงานข่าวระบุว่า งานศิลปะบางส่วนเหล่านี้จะถูกมอบให้พิพิธภัณฑ์ของชาติ
เกาหลีใต้มีกฎหมายภาษีมรดกที่สูงเป็นประเทศหนึ่งของโลก โดยคิดอัตราภาษีเกือบ 50% ของผู้ล่วงลับที่ได้ทิ้งไว้ให้ทายาท ในตอนหนึ่งของคำแถลงของซัมซุง ระบุว่า "ตระกูลอีคาดว่าจะต้องชำระภาษีมรดกมากกว่า 12 ล้านล้านวอน (หรือราว 10,800 ล้านดอลลาร์) หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของทรัพย์สินทั้งหมดที่อดีตประธานผู้ล่วงลับได้ทิ้งไว้"
สื่อเกาหลีใต้รายงานว่า "ภาษีมรดกครั้งนี้นับว่ามีมูลค่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้หรือของทั่วโลกเท่าที่เคยมีมา" โดยมีกำหนดจ่ายในงวดแรกวันที่ 30 เม.ย. นี้
สื่อด้านธุรกิจประเมินว่า ทรัพย์สินที่อดีตประธานอี ทิ้งไว้ทั้งหุ้นในบริษัทของเครือซัมซุง ตลอดจนอสังหาริมทรัพย์ โบราณวัตถุและศิลปะวัตถุทั้งหลาย อาจมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2-3 ล้านล้านวอน โดยในแถลงการของซัมซุงกรุ๊ประบุว่า งานศิลปะในคอเลกชันส่วนตัวของอดีตประธานอี ราว 23,000 ชิ้นจะถูกนำไปบริจาค รวมถึงโบราณวัตถุที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกของชาติ 14 ชิ้น ซึ่งจะถูกนำไปจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของเกาหลี ส่วนภาพวาดของจิตรกรดังในข้างต้น จะถูกนำไปบริจาคให้แก่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแห่งชาติ (National Museum of Modern and Contemporary Art) ขณะที่โคเรียไทม์สชี้ว่า อีคุนฮี สะสมงานศิลปะไว้ถึง 13,000 ชิ้น ตั้งแต่งานศิลปะยุคเกาหลีโบราณไปจนถึงงานศิลปะร่วมสมัยตะวันตก ยังไม่รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นคฤหาสน์ 2 หลังในย่านใจกลางกรุงโซล ที่มูลค่าประเมินแล้วไม่ต่ำกว่า 40.8 พันล้านวอน และ34.2 พันล้านวอน และสวนสนุกดังของประเทศอย่าง เอเวอร์แลนด์ ที่มีมูลค่ามากกว่า 2.5 ล้านล้านวอน
ตามรายงานของสื่อท้องถิ่นระบุว่า การจ่ายภาษีครั้งนี้อาจสะเทือนถึงโครงสร้างอำนาจแชโบลในเครือซัมซุง เนื่องจากตามข้อกำหนดแล้ว ภรรยาม่ายของอดีตประธานใหญ่จะได้รับส่วนแบ่งมรดกราว 1 ใน 3 ขณะที่บุตรทั้ง 3 คน จะได้รับมรดกจำนวน 2 ใน 9 ของทั้งหมด แต่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายเชื่อว่า ตระกูลซัมซุงอาจตกลงกันเป็นการภายในที่จะให้สัดส่วนมรดกจำนวนมากที่สุดแก่ อี แจ-ยอง ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามทายาทซัมซุง แต่กำลังเผชิญปัญหาทางคดีความ ขณะที่การยินยอมภายในนั้นอาจอยู่เหนือข้อกำหนดตามกฎหมายของเกาหลีด้วย
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม สำหรับ 'อี แจ-ยอง' คือบุคคลที่หลายฝ่ายเชื่อว่าเขาจะก้าวขึ้นมากุมบังเหียนในอาณาจักรธุรกิจทั้งหมดของซัมซุง ในฐานะทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูล แต่ก็ต้องเจอคดีความที่เผชิญอยู่ในขณะนี้ส่วนหนึ่งก็มาจากความพยามของเขาในการใช้ช่องโหว่ด้านการถือหุ้น เพิ่มอำนาจในบอรด์บริหารให้กับตนเองเพื่อให้มีสิทธิมีเสียงในบอร์ดบริหารมากขึ้น หากลี แจ-ยอง ยังต้องการรักษาอำนาจทางโครงสร้างในบอร์ดบริหารของกลุ่มธุรกิจ เขาคงไม่เลือกทางที่จะต้องขายหุ้นทิ้งออกไป เพราะจะก่อให้เกิดปัญหาในการต่อรองอำนาจในบริษัทได้ โดยปัจจุบันซัมซุงมีบริษัทในเครือทั้งหมดถึง 59 บริษัท ดำเนินธุรกิจในหลากหลายประเภท
หากเป็นไปตามรายงานข้างต้นที่ อี แจ-ยอง ซึ่งขณะนี้ถือเป็นผู้นำโดยพฤตินัยของกลุ่มบริษัทซัมซุง จะได้รับส่วนแบ่งมรดกมากที่สุด เขาเองต้องเป็นผู้จ่ายภาษีมรดกจำนวนมากที่สุดเช่นกัน สื่อท้องถิ่นเกาหลีใต้หลายแห่งรายงานตรงกันว่า อี แจ-ยอง กำลังมองหาแหล่งเงินกู้ราว 5 แสนล้านวอน หรือ ประมาณ 450 ล้านดอลลาร์ เพื่อใช้สมทบในการจ่ายภาษีมรดก ซึ่งนี่อาจถือเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลเพียงรายเดียวที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้เช่นกัน
TheBell สื่อเกาหลีใต้รายงานอ้างแหล่งข่าวเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารรายใหญ่ของประเทศว่า "ไม่มีเหตุผลใดที่สถาบันการเงินต่างๆ จะไม่ปล่อยสินเชื่อก้อนใหญ่นี้ให้ทายาทซัมซุง ... พวกเขามีความน่าเชื่อถือ (Credit) ส่วนบุคคลที่ยอดเยี่ยม และมีอำนาจในการสร้างเงินสด เช่นเดียวกับความสามารถในการชดใช้หนี้สินเชื่อ"
แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนขณะนี้สถานการณ์ด้านธุรกิจของกลุ่มซัมซุง กำลังเผชิญปัญหาหลายด้าน ทั้งการขาด "ผู้นำโดยพฤตินัย" เนื่องจากกำลังอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดี ปัญหาเชิงโครงสร้างบริหารภายในของบอร์ด การสูญเสียอดีตประธานใหญ่ที่มาพร้อมปัญหาด้านการเงินที่ทายาทต้องจ่ายภาษีมรดก รวมถึงธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์อันเป็นหัวใจหลักของซัมซุงที่ขณะนี้กำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนชิปประมวลผลอย่างหนัก จนไม่อาจส่งมอบสินค้าได้ทันตามกำหนด ทั้งยังมีผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ทั้งในประเทศและทั่วโลก
ที่มา: Nikkei , WSJ , Koreabizwire