ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า เปิดเผยว่าเหตุผลของการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมองว่า 1.ต้องมี ส.ส.ร. มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยไม่ต้องจำกัดว่าห้ามแก้หมวดใดหมวดหนึ่ง ให้ทำใหม่ทั้งฉบับภายใต้กรอบการเป็นรัฐเดี่ยว ภายใต้หลักการและราชอาณาจักรตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และ 2.ระหว่างทางที่รอการพิจารณาในสภาฯ ว่าจะได้ ส.ส.ร.เมื่อไหร่ สามารถเสนอเข้าไปคู่ขนานได้คือ การเสนอญัตติเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 269-272 ซึ่งเป็นการปิดสวิตซ์ ส.ว. รวมทั้งการยกเลิกมาตรา 279 ที่รับรองประกาศการกระทำของคณะรัฐประหารก่อนหน้านี้
โดยเหตุที่ต้องเสนอคู่ขนาน เพราะกว่าจะมี ส.ส.ร.กว่าจะแก้ไขจนมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้นอาจใช้เวลา 1-2 ปี หากเกิดอุบัติเหตุการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยุบสภาฯ ซึ่งการยุบสภาฯ จะไม่เกิดความหมายอะไรถ้ายังมี 250 ส.ว.ที่ยังมีอำนาจเลือกนายกฯ จึงเสนอให้มีการปิดสวิตซ์ ส.ว.ไปก่อน
หากยังประสงค์จะมี ส.ว.อีก ก็ค่อยให้เข้ากลับมาตามช่องทางปกติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 107 พล.อ.ประยุทธ์จะได้กลับมาเป็นนายกฯ อย่างสง่างาม ไม่มีคำครหา ทั้งนี้ ส.ว.หลายคนยอมยกเลิกอำนาจตัวเองตามมาตรา 272 แต่บางคนก็ไปไกล ยอมถึงขั้นให้ยกเลิก 250 ส.ว.ไปเลย ทำให้สถานการณ์ชุมนุมผ่อนคลาย คลี่คลายลง
พร้อมกับชี้ว่า ลองนึกสภาพว่า ถ้าสิ่งที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องไม่ได้รับการตอบสนองแม้แต่เรื่องเดียว พวกเขาอาจยกระดับการชุมนุม เราคาดเดาไม่ออกว่า ท้ายที่สุดจะออกมาเป็นแบบใด เรื่องใดที่พอจะผ่อนคลายสถานการณ์ลงได้ ก็ควรรีบทำ
ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคเพื่อไทยมองว่าแนวทางของพรรคก้าวไกลเป็นไปได้ยากที่ ส.ว.จะปิดสวิตซ์ตัวเอง และการชุมนุมอาจไม่สามารถกดดัน ส.ว.ได้ ปิยบุตรกล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 จำเป็นต้องได้รับเสียงโหวต 1 ใน 3 จาก ส.ว.ไม่ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญเรื่องใดที่ไปกระทบประโยชน์ คสช. หรือ ส.ว.ย่อมแก้ยากทุกเรื่อง เชื่อว่าพี่น้องประชาชน หรือแม้กระทั่ง ส.ส.ต่างตระหนักในเรื่องนี้ การจะแก้ได้หรือไม่ได้อยู่ที่การกดดันนอกสภาฯ การกดดันนอกสภาฯ ที่ทำมาตลอด 1 เดือนที่ผ่านมาเป็นเหตุผลหลักที่ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง ทำให้รัฐบาลยอมขยับ เชื่อว่าถ้านอกสภาฯ ยังกดดันให้ยกเลิก ส.ว.ก็เป็นไปได้ที่ ส.ว.จะยอมเปลี่ยนใจ แต่หากปล่อยไปเรื่อยๆ ก็จะอ่อนแรงลง คราวนี้แม้แต่ ส.ส.ร.ก็จะไม่ได้ หรือแม้แต่การแก้ไขในสภาฯ ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่า เขาอาจยอมในวาระแรก แต่อาจไปเบี้ยวในวาระ 3 ก็ได้
ส่วนความเห็นที่ต่างกับพรรคเพื่อไทยอาจเป็นความขัดแย้งระหว่างพรรคฝ่ายค้านด้วยกันเองหรือไม่นั้น ปิยบุตรกล่าวว่า ตอนนี้เป็นคนนอกแล้ว จึงไม่ทราบว่าเขาประชุมอะไรกัน หรือมีความขัดแย้งอะไรกัน ซึ่งในฐานะคนนอกที่มองเข้าไปนั้นเชื่อว่า พรรคการเมืองแต่ละพรรคมีอิสระต่อกัน มีความคิดแตกต่างหลากหลาย หากคิดเหมือนกันหมดคงเป็นพรรคเดียวกันไปแล้ว เมื่อเป็นคนละพรรคย่อมคิดแตกต่างกัน จึงมียุทธศาสตร์ ยุทธวิธีการขับเคลื่อนแตกต่างกัน ที่ผ่านมาคิดว่า บุคคล กรรมการบริหารพรรค ไม่ได้มีความขัดแย้งอะไร ยังทำงานในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่สำหรับคนที่สนับสนุนนั้น บางคนอาจสนับสนุนพรรคเพื่อไทย บางคนสนับสนุนพรรคก้าวไกล ก็มีการถกเถียงกันบ้างทางโลกโซเชียล ซึ่งเป็นไปตามแนวทางประชาธิปไตย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: