วันนี้ (7 ธ.ค. 67) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Tourism) ได้มอบรางวัลให้แก่ ชุมชนตำบลบ่อสวก จังหวัดน่าน ของประเทศไทยได้รับรางวัลชุมชนท่องเที่ยวยอดเยี่ยมโลก (Best Tourism Village 2024) ซึ่งถือว่าเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ที่สะท้อนความสำเร็จในการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนและภาคีเครือข่ายมาร่วมกันพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และมีความโดดเด่นด้านการจัดการแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนของไทย “ บ่อสวกมีความหมายถึงบ่อเกลือที่นักท่องเที่ยวเมื่อไปเยือนจังหวัดน่านมักจะแวะชมเสมอ
นอกจากนี้ยังมีชื่อเสียงเรื่องแหล่งโบราณคดีเตาเผาเครื่องปั้นโบราณ ศิลปะพื้นบ้าน และภูมิปัญญาท้องถิ่น มีกิจกรรมที่น่าสนใจให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้วิถีชุมชนผ่านงานหัตถกรรมพื้นบ้าน ที่หลากหลาย” ทั้งนี้ตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ระดับท้องถิ่นช่วยกันนำเสนอและผลักดัน เพื่อให้ประเทศไทยเข้าสู่เป้าหมายการเป็น Tourism Hub ที่สำคัญของโลก ซึ่งการคว้ารางวัลชุมชนท่องเที่ยวยอดเยี่ยมโลก (Best Tourism Village 2024) จากองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Tourism) ของชุมชนตำบลบ่อสวก จังหวัดน่าน ครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล อำเภอ หรือจังหวัดล้วนแต่มีศักยภาพ สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของโลกได้ หากทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจสนับสนุนจะสามารถพลิกโฉมประเทศด้านการท่องเที่ยวได้แน่นอน” สำหรับ โครงการประกวดรางวัล Best Tourism Villages by UN Tourism หรือองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ ได้เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2563 มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นสู่มาตรฐานสากล ลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ส่งเสริมพลังของสตรีและเยาวชน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนา รวมทั้งยังเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม ซึ่งมีหลักเกณฑ์การประเมินชุมชนเพื่อพิจารณาเป็นชุมชนท่องเที่ยวยอดเยี่ยมโลก Best Tourism Village ด้วยกัน 9 ประเด็น ได้แก่
1) การจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติและวัฒนธรรม
2) การส่งเสริมและอนุรักษ์ทรัพยากรทางวัฒนธรรม
3) การยกระดับเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน รวมถึงการกระจายรายได้และการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับชุมชน
4) การจัดการสังคมวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง
5) การจัดการสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากทั้งการท่องเที่ยวและการดำรงชีวิต
6) การพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและการบูรณาการห่วงโซ่คุณค่าทางการท่องเที่ยว
7) การมีธรรมาภิบาลและให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวและชุมชนท้องถิ่น
8) ระบบสาธารณูปโภคและการเชื่อมต่อสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวและชุมชนท้องถิ่น
9) การบริการสุขภาพ สุขอนามัยและความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวและชุมชนท้องถิ่น
ทั้งนี้รัฐบาลขอเชิญชวนผู้นำท้องถิ่นองค์การปกครองท้องถิ่น และส่วนราชการต่างๆ ได้ค้นหาสิ่งดีๆ ตามแนวทางของสหประชาชาติด้านการท่องเที่ยวเพื่อนำเสนอในการประกาศสถานที่ต่างๆ ในประเทศไทยต่อไป ซึ่งเชื่อว่า ในทุกพื้นที่ของประเทศไทยที่มีอยู่กว่า 74,000 หมู่บ้าน กว่า 800 อำเภอมีสถานที่ท่องเที่ยว ที่ให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกได้รับรู้ว่าประเทศไทยเที่ยวได้ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ