วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2568 นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ จังหวัดมหาสารคาม เพื่อติดตามความก้าวหน้าของโครงการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก โดยมีนายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม พร้อมคณะ นายแพทย์กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม เขต 1 และนายรัฐ คลังแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม เขต 6 ให้การต้อนรับ
นางสาวธีรรัตน์ ได้เข้าเยี่ยมชม ในพื้นที่บ้านหนองเขื่อนช้าง ศูนย์กลางของ กลุ่มทอผ้า กลุ่มสัมมาชีพชุมชน และศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP ซึ่งเป็นแหล่งอนุรักษ์และพัฒนาหัตถกรรมพื้นเมืองที่สำคัญของจังหวัด
กลุ่มทอผ้าบ้านหนองเขื่อนช้าง ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2531 โดยมีเป้าหมายเพื่อสืบสานภูมิปัญญาการทอผ้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย สมาชิกในกลุ่มเป็นชาวบ้านในชุมชนที่ร่วมมือกันในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การทอผ้าไปจนถึงการจัดจำหน่ายสินค้า หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นของกลุ่มคือ "ผ้าไหมลายสร้อยดอกหมาก" ซึ่งเป็นผ้าไหมโบราณที่มีลวดลายประณีตและกระบวนการทอที่ซับซ้อน ผ้าลายนี้ได้รับการยกย่องให้เป็น ลายผ้าไหมประจำจังหวัดมหาสารคาม หลังจากได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดผ้าไหมประจำจังหวัด ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับความนิยมและมีมูลค่าสูงในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
การลงพื้นที่ครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยเฉพาะกลุ่มทอผ้าและผลิตภัณฑ์ OTOP ที่สะท้อนเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของมหาสารคาม นางสาวธีรรัตน์ได้พูดคุยกับชาวบ้าน รับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะ รวมถึงแนวทางพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของผลิตภัณฑ์
ต่อมานางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เดินทางไปยัง สนามทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุดรธานี เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “OTOP ภูมิภาค 2568” โดยมี นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายกรวีร์ สาราคำ นายธีระชัย แสนแก้ว และนายวัชระพล ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุดรธานี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนชาวอุดรธานี ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น
สำหรับงาน “OTOP ภูมิภาค 2568” จัดขึ้นโดยกรมการพัฒนาชุมชน ภายใต้แนวคิด “OTOP ช้อปสนุก สุขทุกภาค” ครอบคลุม 5 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ อุดรธานี นครศรีธรรมราช บุรีรัมย์ เชียงใหม่ และพระนครศรีอยุธยา โดยมุ่งเน้นการนำเสนอสุดยอดสินค้าภูมิปัญญาที่มีคุณภาพและสะท้อนอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดให้ผู้ประกอบการ OTOP พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าการจัดงานในครั้งนี้จะสร้างรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท
นางสาวธีรรัตน์ ได้กล่าวเชิญชวนประชาชนร่วมสนับสนุนผลิตภัณฑ์ OTOP โดยระบุว่า "โอกาสนี้ อยากขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ OTOP ด้วยการเลือกซื้อสินค้าในงาน OTOP ภูมิภาค ซึ่งจะจัดขึ้นทั้ง 5 จังหวัดทั่วไทย เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป"
สำหรับงาน OTOP ภูมิภาค 2568 ครั้งถัดไป จะจัดขึ้นที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 โดยยังคงมุ่งเน้นการนำเสนอสินค้า OTOP คุณภาพจากทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน