มีการเปิดเผยภาพจากที่เกิดเหตุ ขณะมีประชาชนยืนอยู่รอบๆ หลุมระเบิดขนาดใหญ่ ในขณะที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยและอาสาสมัครกำลังขุดผ่านกองซากปรักหักพังด้วยมือเปล่า เพื่อค้นหาผู้คนและซากศพที่ติดอยู่ใต้อาคารที่ถล่มลงมา ทั้งนี้ สำนักข่าว AFP รายงานว่า เจ้าหน้าที่กู้ภัยกล่าวว่า มีคน “ทั้งครอบครัว” ถูกสังหารจนราบหายไปในการโจมตีครั้งนี้ของอิสราเอล
ในเวลาต่อมา กองทัพอิสราเอลออกแถลงการณ์ยืนยันว่า เครื่องบินรบของอิสราเอลได้เข้าโจมตีศูนย์บัญชาการและควบคุมของกลุ่มฮามาสในพื้นที่จาบาเลีย “โดยอาศัยข่าวกรองที่แม่นยำ” ส่งผลให้ มูฮัมหมัด อาซาร์ หัวหน้าหน่วยต่อต้านรถถังขีปนาวุธของกลุ่มฮามาสเสียชีวิตลง
ก่อนหน้านี้เมื่อวันอังคาร (31 ต.ค.) ทางการปาเลสไตน์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ได้รับตัวผู้ได้รับบาดเจ็บ และศพผู้เสียชีวิตบางส่วนในฉนวนกาซาระบุว่า การโจมตีของอิสราเอลใส่ค่ายผู้ลี้ภัยจาบาเลีย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 50 ราย และได้บาดเจ็บอีกหลายสิบราย
จากรายงานของสำนักข่าว Al Jazeera รายงานเสริมว่า โมฮัมเหม็ด อาบู อัลกุมซาน วิศวกรกระจายเสียงประจำสำนักงาน Al Jazeera ในฉนวนกาซา ต้องสูญเสียสมาชิกในครอบครัวไปกว่า 19 คนจากการโจมตีครั้งนี้ของอิสราเอลในค่ายผู้ลี้ภัยจาบาเลีย
กลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์กล่าวว่า มีตัวประกัน 7 คน ถูกสังหารในเหตุระเบิดที่ก่อโดยอิสราเอลเองเมื่อช่วงวันอังคาร ซึ่งตัวประกันทั้ง 7 คนถูกจับได้ระหว่างการโจมตีของกลุ่มฮามาสใส่อิสราเอลอย่างรุนแรง เมื่อช่วงวันที่ 7 ต.ค. ทั้งนี้ ทางการอิสราเอลกล่าวว่า เป็นการโจมตีที่ได้สังหารผู้คนไปมากกว่า 1,400 ราย และมีการจับตัวประกันไปมากกว่า 200 ราย
“ผู้ถูกคุมขัง 7 คนถูกสังหารในการสังหารหมู่ที่จาบาเลียเมื่อวานนี้ รวมถึงผู้ถือหนังสือเดินทางต่างประเทศ 3 คน” กองพลน้อยเอซเซดีน อัล-กัสซาม กองทหารของกลุ่มฮามาส ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันพุธที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี อิสราเอลออกมาปกป้องการโจมตีจาบาเลียเมื่อวันอังคาร ว่าเป็นการมุ่งเป้าการโจมตีไปที่ผู้บัญชาการกลุ่มฮามาสในพื้นที่ดังกล่าว พร้อมระบุว่าเครื่องบินรบของอิสราเอลได้เข้าโจมตีอุโมงค์ "ขนาดใหญ่" ในบริเวณเดียวกัน ซึ่งได้สังหาร "ผู้ก่อการร้ายกลุ่มฮามาส" ไปในจำนวนมาก รวมถึง อิบราฮิม บิอารี ผู้บัญชาการของกองพันฮามาสในพื้นที่ ทั้งนี้ การโจมตีค่ายผู้ลี้ภัยโดยอิสราเอลครั้งนี้ ถูกประณามจากองค์กรสิทธิมนุษยชนและประเทศในตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ อียิปต์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
มาร์ติน กริฟฟิธส์ หัวหน้าฝ่ายมนุษยธรรมจากสหประชาชาติ กล่าวถึงการโจมตีของอิสราเอลดังกล่าวว่าเป็น “ความโหดร้าย” พร้อมระบุว่า “นี่เป็นเพียงความโหดร้ายครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นกับผู้คนในฉนวนกาซา ซึ่งการสู้รบได้เข้าสู่ช่วงที่น่ากลัวยิ่งกว่าเดิม พร้อมผลกระทบด้านมนุษยธรรมที่น่าสะพรึงกลัวมากขึ้นเรื่อยๆ”
ในโพสต์บนโซเชียลมีเดียเมื่อวันพุธ โจเซฟ บอร์เรลล์ นักการทูตระดับสูงของสหภาพยุโรปกล่าวว่า เขา “ตกใจกับจำนวนผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ภายหลังเหตุระเบิดที่ค่ายผู้ลี้ภัยจาบาเลียโดยอิสราเอล” ในขณะที่บอร์เรลล์กล่าวย้ำถึงการสนับสนุนของสหภาพยุโรปต่ออิสราเอลว่า “กฎแห่งสงครามและมนุษยชาติจะต้องถูกใช้เสมอ”
ที่มา: