องค์การสหประชาชาติออกแถลงการณ์แสดงความกังวลถึงสถานการณ์ในเมียนมา เรียกร้องให้กองทัพเมียนมาใช้ความอดกลั้นต่อความเคลื่อนไหวของประชาชนซึ่งประท้วงอย่างสันติ โดยไม่ใช่ความรุนแรงจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุม
รายงานระบุว่า คริสติน เชราเนอร์ บัวร์เกอร์เนอร์ ทูตพิเศษด้านกิจการเมียนมาของยูเอ็น ได้หารือทางโทรศัพท์กับพล.อ. โซ วิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และรองประธานคณะมนตรีการปกครองแห่งรัฐ โดยผู้แทนยูเอ็นเรียกร้องให้รัฐบาลทหาร เคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองซึ่งชุมนุมเคลื่อนไหวอย่างสันติ พร้อมย้ำว่าประชาคมโลกกำลังเฝ้าจับตาสถาการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากกองทัพใช้มาตรการรุนแรงเข้าปราบปรามประชาชน ยูเอ็นจะใช้ "มาตรการขั้นเด็ดขาด" จัดการกับกองทัพ
อย่างไรก็ตาม ด้านพล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่ายน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และคณะมนตรีการปกครองแห่งรัฐ แถลงโต้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐพยายามอย่างสุดความสามารถในการควบคุมสถาการณ์ อย่างไรก็ตาม กองทัพไม่ลังเลจะใช้มาตรการเด็ดขาดจัดการกับ "ผู้ก่อกบฏ" กับผู้ชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงเช่นกัน
ขณะเดียวกับสหประชาชาติยังออกแถลงการณ์ประณามการปิดกั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของกองทัพเมียนมา โดยระบุว่า ช่วงการหารือระหว่างบัวร์เกอร์เนอร์ กับ พล.อ. โซ วิน ผู้แทนยูเอ็นได้กล่าวประณามการปิดกั้นเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของการทำลายหลักประชาธิปไตย เนื่องจากประชาชนชาวเมียนมามีสิทธิเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรอบด้านและเสรี ขณะเดียวกันการปิดกั้นอินเทอร์เน็ต ยังส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนรวมถึงธนาคารซึ่งทำให้สถานการณ์ในประเทศยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น
ช่วงคืนที่ผ่านมา กองทัพได้ปิดกั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในทั่วประเทศอีกครั้งในช่วงเวลา ตี 1 - 9 โมงเช้าของวันรุ่งขึ้น ซึ่งคาดว่ากองทัพอาจใช้วิธีการตัดอินเทอร์เน็ตในช่วงคืนต่อไป ท่ามกลางความหวั่นเกรงของชาวเมียนมาในแต่ละชุมชนที่จัดเวรยามรักษาการดูแลความปลอดภัยกันเอง เนื่องจากหวั่นเกรงว่าฝ่ายความมั่นคงจะเข้ามาตรวจค้นหรือจับกุมผู้เคลื่อนไหวต้านรัฐประหารในยามวิกาล
ขณะเดียวกันคณะรัฐประหารเมียนมา ภายใต้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า "คณะมนตรีการปกครองแห่งรัฐ" ได้เผยแพร่แถลงการณ์เกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายบางมาตราของประมวลกฎหมายอาญาในประเด็น พฤติการณ์เข้าข่ายก่อสงคราม ซึ่งเป็นกฎหมายความมั่นคงภายในประเทศ ให้มีเนื้อหาครอบคลุมการปลุกระดม สนับสนุนหรือสมคบคิดต่อกลุ่มบุคคลใดก็ตามที่มีเป้าประสงค์ล้มล้างรัฐบาลและอำนาจตามรัฐธรรมนูญ
เนื้อหาของกฎหมายดังกล่าวระบุว่า การสร้างความเกลียดชังตลอดจนดูหมิ่นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง รวมถึงคณะผู้นำทหาร ไม่ว่าด้วยวาจา ภาพ ตัวหนังสือ หรือกริยาท่าท่ามีบทลงโทษจำคุกขั้นต่ำ 7 ปี ถึงสูงสุด 20 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะที่กลุ่มบุคคลซึ่งก่อให้เกิดความรุนแรง สร้างความเสียหายด้วยการขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่ยคง อาจรับโทษขั้นต่ำจำคุก 10 ปี ถึงสูงสุด 20 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกลุ่มบุคคลซึ่งรบกวนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ มีโทษสูงสุด 7 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา กองทัพได้ลำเลียงรถหุ้มเกราะพร้อมกำลังทหารเข้าประจำการตามจุดต่างๆ ในหลายเมืองก่อให้เกิดกระแสความหวาดวิตว่ากองทัพจะยกระดับเข้าปราบปรามการประท้วงซึ่งยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ