การจัดทำรัฐธรรมนูญของไทยหลายครั้งมักเกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร
นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การจัดตั้งองค์กรที่ประกอบด้วยตัวแทนจากสาขาอาชีพต่างๆ ภายใต้ชื่อ 'สภาร่างรัฐธรรมนูญ' ได้เคยจัดตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ มาทั้งหมด 4 ชุด เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่
ส.ส.ร.ชุดแรก เกิดขึ้นครั้งแรกภายหลัง กลุ่มทหารนอกราชการนำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ เข้ายึดอำนาจ รัฐบาล ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 พร้อมจัดตั้งรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์
ส.ส.ร.ชุดนี้เกิดขึ้นตาม รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2490 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2 โดยให้รัฐสภาเลือกตั้ง ส.ส.ร. จำนวน 40 คน และที่ประชุมเห็นชอบให้ 'เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ' (จิตร ณ สงขลา) เป็นประธาน ส.ส.ร.คนแรก
เมื่อยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อย ที่ประชุมรัฐสภาได้เห็นชอบ ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 จำนวน 188 มาตรา โดยมีผลประกาศใช้เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2492 ทำให้รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2490 ที่บังคับใช้มา 1 ปี 14 เดือนต้องสิ้นสุดลง
ขณะที่ รัฐธรรมนูญ ฉบับถาวร พ.ศ.2492 มีผลบังคับใช้ เพียง2ปี 8 เดือน ก็ถูกยกเลิกโดยคณะรัฐประหาร พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ
ส.ส.ร.ชุดที่สอง เกิดขึ้นภายหลัง คณะปฏิวัตินำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2501 โดยฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2495 ที่บังคับอยู่ในขณะนั้น และประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 เพื่อจัดตั้ง ส.ส.ร.จำนวน 240 คน
ที่ประชุม ส.ส.ร.ลงมติเลือก พล.อ.สุทธิ์ สุทธิสารรณกร เป็นประธาน ส.ส.ร. เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2502
ระหว่างจัดทำรัฐธรรมนูญ มีการเลือกประธาน ส.ส.ร.คนใหม่ คือ นายทวี บุณยเกตุ เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2511 แทนพล.อ.สุทธิ์ ที่ถึงแก่อสัญกรรม
ส.ส.ร. ชุดนี้ ใช้เวลาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เรียกได้ว่ายาวนานที่สุดในโลกถึง 9 ปี 4 เดือน จึงจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2511 จำนวน 183 มาตรา จนมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2511 ทำให้ ธรรมนูญการปกครองพ.ศ.2502 ต้องสิ้นสุดลง หลังบังคับใช้มาเป็นเวลา 9 ปี 5 เดือน
อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 ที่ถูกร่างขึ้นอย่างมาราธอนถึง 9 ปี มีผลบังคับใช้เพียง 3 ปี 5 เดือน ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2514 โดยคณะปฏิวัติ ที่นำโดยจอมพลถนอม กิตติขจร
การมี ส.ส.ร.ชุดที่สาม ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง หลังผ่านเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ที่ระหว่างนั้นภาคประชาชนเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยังเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.
กระแสดังกล่าวนำไปสู่การเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน หรือกระแสธงเขียว จนนำไปสู่การจัดตั้ง ส.ส.ร.เพื่อมาปฏิรูปการเมือง
ซึ่งโมเดล ส.ส.ร.ครั้งนี้ เกิดจากการการผลักดันในสมัยรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา เมื่อปี 2538 ซึ่งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 6 พ.ศ.2539 กำหนดให้มี ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของรัฐสภา จำนวน 99 คน
โดยที่ประชุม ส.ส.ร.ได้เห็นชอบให้นายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2540
ส.ส.ร.ชุดนี้ให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ และนำเสนอต่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบทั้งฉบับ เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2540 โดยผลปรากฏว่า ที่ประชุมรัฐสภามีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยคะแนนเสียง 578 เสียง ไม่เห็นชอบ 16 เสียง และงดออกเสียง 17 เสียง
เป็นผลให้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 จำนวน 336 มาตรา มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2540
ทำให้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 สิ้นสุดลง หลังมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 5 ปี 10 เดือน
ขณะที่ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 บังคับใช้เป็นเวลา 8 ปี 11 เดือน ก็ต้องสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549
เมื่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เข้ายึดอำนาจการปกครองรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
โมเดล ส.ส.ร. ชุดที่ 4 จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 โดยตั้งสมัชชาแห่งชาติ จำนวน 1,982 คน พร้อมคัดเลือก 200 คนเป็นสมาชิก ส.ส.ร. จากนั้น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ซึ่งแปรรูปมาจาก คปค. ซึ่งมีผู้นำเหล่าทัพเพียงไม่กี่คนมาดำเนินการคัดเลือกให้เหลือ ส.ส.ร. จำนวน 100 คน
โดยที่ประชุม ส.ส.ร. เห็นชอบให้นายนรนิติ เศรษฐบุตร เป็นประธานส.ส.ร. พร้อมเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นด้วยมติเอกฉันท์ 98 เสียง
เมื่อร่างรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบจาก ส.ส.ร. แล้ว ได้มีการจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2550 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้ถูกรับรองผ่านการออกเสียงประชามติเป็นครั้งแรก โดยผลปรากฎว่า เสียงส่วนใหญ่ให้ความเห็นชอบ 14,727,306 เสียง มากกว่าคะแนนเสียงไม่เห็นชอบ 10,747, 441 เสียง
รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จำนวน 309 มาตรา จึงมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2550 แทนที่รัฐธรรมนูญ ฉบับ ชั่วคราว 2549 ที่มีผลบังคับใช้มา 11 เดือน
ขณะที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มีผลบังคับเพียง 6 ปี 9 เดือน จึงสิ้นสุดลง เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าควบคุมอำนาจการปกครองด้วยการยึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่อยู่ระหว่างรักษาการ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557
รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ถูกมองว่าแม้จะผ่านการออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 โดยมีเสียงเห็นชอบรับร่างรัฐธรรมนูญ 16,820,402 คะแนน (61.35 %) ไม่เห็นชอบ 10,598,037 (38.65 %) เห็นชอบคำถามพ่วง 15,132,050 คะแนน (58.07 %) ไม่เห็นชอบ 10,926,648 (41.93 %)
แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ยังถูกมองว่าเป็นผลผลิตของ คสช. มีมรดกจากการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ผ่านการจัดตั้ง ส.ว. 250 คนตามบทเฉพาะกาลเพื่อมาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา
นี่จึงเป็นเงื่อนไขที่ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมนอกรัฐสภา เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็น 1 ใน 3 ข้อเรียกร้อง รวมทั้งจะต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผ่านกลไกของ ส.ส.ร.
ซึ่งโมเดลการจัดตั้ง ส.ส.ร.ที่กำลังจะถูกผลักดันผ่านพรรคร่วมฝ่ายค้าน และภาคประชาชนนอกสภา ก็ต้องการให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ซึ่งถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันเป็นผลสำเร็จ นั่นจะเท่ากับว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญผ่านการมี ส.ส.ร. จะเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ในอนาคตอันใกล้นี้
และยังเป็นครั้งแรกที่มีการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน เพื่อมี ส.ส.ร.มาปฏิรูปการเมืองเพื่อล้างมรดกจากการรัฐประหาร
หากคิดเป็นอายุ 88 ปีของประชาธิปไตยไทยแล้ว กลไก ส.ส.ร.ที่จัดทำรัฐธรรมนูญมีที่มาจากคณะรัฐประหาร ถึง 3 ครั้งและมาจากรัฐบาลพลเรือน 1 ครั้ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง