ไม่พบผลการค้นหา
'ก้าวไกล' แจง 'พิธา' ไม่ได้เป็นนายประกัน 'ทานตะวัน' แล้ว มองการเคลื่อนไหวของ ตะวันทำให้คนในสังคมไม่สบายใจ แต่ขอสังคมมองภาพใหญ่ หาทางออกอย่างมีวุฒิภาวะ

10 ก.พ. 2567 ช่องทางสื่อสารทางออนไลน์ของพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความชี้แจง ระบุว่า จากกรณีที่มีการสอบถามถึงสถานะของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะนายประกันของทานตะวัน ตัวตุลานนท์ 

ขอชี้แจงว่าแม้ปัจจุบัน ในแง่กฎหมาย พิธาไม่ได้เป็นนายประกันของคุณทานตะวัน เนื่องจากคุณทานตะวันยื่นคำร้องขอถอนประกันตัวเองเมื่อต้นปี 2566 แต่พรรคก้าวไกลและพิธา ในฐานะนักการเมืองและในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่มีความห่วงใยบ้านเมืองและอนาคตของคนรุ่นใหม่ รู้สึกไม่สบายใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

พรรคก้าวไกลทราบว่าการแสดงออกของคุณทานตะวัน อาจสร้างความไม่สบายใจต่อประชาชนจำนวนไม่น้อย รวมถึงทำให้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับขอบเขตของการแสดงออกและเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวิธีการต่าง ๆ ในการเพิ่มแนวร่วมในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง 

อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องมองเรื่องนี้โดยไม่แยกขาดจากภาพใหญ่ด้วยเช่นกัน นั่นคือความขัดแย้งทางการเมืองและความจริงอันน่ากระอักกระอ่วนที่ยังคงดำเนินอยู่ ซึ่งต้องอาศัยการพิจารณาร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคมถึงต้นตอของปัญหา และการสร้างพื้นที่สำหรับทุกฝ่ายเพื่อหาทางออกอย่างมีวุฒิภาวะและคลี่คลายความขัดแย้งในปัจจุบัน ซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศไทยให้เท่าทันโลก

ขณะที่ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีของ ตะวัน ว่า สิ่งที่ไม่ปรารถนามากที่สุดคือการปะทะกันอย่างรุนแรงไม่ว่าจะเป็นการไล่ล่า การล่าแม่มด โดยหากให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสุดขั้วขึ้นเรื่อยๆ จะต้องตั้งสติให้ดี ใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยและสติในการที่จะลดช่องว่างทางความคิด ความเข้าใจ โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง ซึ่งในกรณีนี้ก็เข้าใจในความคับข้องใจ แต่ก็ต้องช่วยกันดูว่าการสื่อสาร การแสดงความคิดให้สังคมได้มีความเข้าใจและพร้อมที่จะพิจารณาสื่อสารประเด็นที่ดีที่สุดว่าควรจะเป็นอย่างไร

ชัยธวัช ยังกล่าวถึงกรณีที่วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการกระทำของตะวัน ว่า ยอมรับว่าในเรื่องนี้มีความคิดเห็นหลากหลาย เรื่องนี้ก็เป็นตัวอย่างแม้ว่าจะมีคนหลายส่วนพร้อมที่จะเข้าใจประเด็นนี้อยากจะสื่อสาร แต่ก็อาจจะมีคนไม่เห็นด้วยกับวิธีการ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นที่จะเป็นเหตุผลที่จะผลักให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสุดขั้วมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ยอมรับ เพิ่มช่องว่างระหว่างกัน ยิ่งปะทะกันอย่างรุนแรงเป็นเหตุที่ไม่ควรเกิดขึ้น และเห็นว่าเป็นเวลาที่จะต้องใช้สติมากขึ้น โดยไม่ใช้อารมณ์ ซึ่งการนิรโทษกรรมก็เป็นกระดุมเม็ดแรกและหวังว่าจะระบายความกดดัน พร้อมกันนี้ยังเห็นว่าจะต้องทำให้ทุกคนเย็นลงเพื่อจะได้นั่งพูดคุยกัน