ไม่พบผลการค้นหา
ครม.เห็นชอบปรับเปลี่ยนสถานที่ก่อสร้างศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทย ในที่ดินราชพัสดุ แขวงบางลำพูล่าง เขตคลองสาน วงเงิน 5,574 ล้านบาท

อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 6 ต.ค. 2563 เห็นชอบเปลี่ยนแปลงสถานที่ดำเนินการก่อสร้างศูนย์ราชการ กระทรวงมหาดไทย จากแขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ไปเป็น แขวงบางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นในที่ดินราชพัสดุ มีเนื้อที่ประมาณ 18-0-17 ไร่ 

ทั้งนี้ สำนักงบประมาณได้เห็นชอบความเหมาะสมของราคาค่าก่อสร้างศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทย ในวงเงินกว่า 5,574 ล้านบาท โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 จำนวนเงินกว่า 900 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 - 2568 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา สมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติหน้าที่ปลัดกระทรวมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประกวดราคาจ้างก่อสร้างศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทย ลงนามในประกาศสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ประกาศให้ บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ PLE เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด และได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ชนะเสนอราคา เป็นเงินทั้งสิ้น 5,574.50 ล้านบาท โดยเป็นราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่มและ จากราคากลาง 6,002.39 ล้านบาท

สำหรับ โครงการนี้เป็นอาคารศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทย หลังเดียว มี 4 อาคาร สูง 21 ชั้น มีพื้นที่รวมประมาณ 215,000 ตารางเมตร เป็นที่ตั้งของส่วนราชการ 6 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กรมที่ดิน กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยอาคารจะถอยร่นจากแม่น้ำ 45 เมตร มีที่จอดรถ และท่าเรือ บนที่ดินราชพัสดุ เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ประมาณ 18 ไร่ ย่านเจริญนคร ใกล้กับศูนย์การค้าไอคอนสยาม เดิมเป็นพื้นที่ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว 

ทั้งนี้ บมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างงานระบบ ปัจจุบันมีงานก่อสร้างที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 23 โครงการ มูลค่า 13,413 ล้านบาท และส่วนใหญ่เป็นงานซับคอนแทร็ค เช่น งานระบบรัฐสภาใหม่ งานศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) และ สายสีเขียว (หมอชิต-คูคต) ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (ชั้น 2-4) และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นต้น