ตามรายงานของกลุ่มสิทธิองค์กรมนุษยธรรมเพื่อเศรษฐศาสตร์การย้ายถิ่นฐาน (HOME) ระบุว่า นายจ้างในสิงคโปร์ถืออำนาจไว้ในมือ “อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน” เหนือคนงานทำงานบ้านที่เสียเปรียบในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เนื่องจากสถานะที่ไม่มั่นคงในการเป็นผู้ถือใบอนุญาตทำงาน
ตามรายงานระบุว่าโดยทั่วไปแล้วในสิงคโปร์ แรงงานทำงานบ้านที่ถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรม จะได้รับการสั่งห้ามไม่ให้ทำงานต่อไป และอาจถูกสั่งห้ามไม่ให้รับการจ้างงานในสิงคโปร์ในอนาคต หลังจากได้รับคำเตือนจากตำรวจ แม้ว่าจะพวกเขาจะไม่เคยถูกตัดสินว่ามีความผิดก็ตาม
“สิ่งสำคัญคือ การค้นพบนี้แสดงให้เห็นว่าตำรวจและระบบยุติธรรมทางอาญาถูกใช้เป็นเครื่องมือในการคุกคาม ลงโทษ และบ่อยครั้งเป็นการตอบโต้ต่อแรงงานข้ามชาติที่ทำงานบ้าน” HOME กล่าวในรายงาน ทั้งนี้ รายงานของ HOME ซึ่งเผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อ้างอิงจากผลการวิจัย 100 กรณี ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทำงานบ้านข้ามชาติ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมระหว่างปี 2562-2565
HOME ได้รวบรวมรายงาน หลังจากเกิดกรณีที่เป็นที่พูดถึงของอดีตพนักงานรับใช้ในบ้านในสิงคโปร์อย่าง ปาร์ตี ลียานี ซึ่งถูกกล่าวหาว่าขโมยทรัพย์สินรวมมูลค่า 30,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 7.8 แสนบาท) จาก ลิ่วมันเหลียง อดีตประธานบริษัทเครือสนามบินชางงี และครอบครัวของเขา อย่างไรก็ดี คำพิพากษาคดีลักทรัพย์ในปี 2562 ของปาร์ตีได้รับการยกเลิกลงโดยศาลฎีกาสิงคโปร์ เมื่อเดือน ก.ย. 2563 ต่อมาในเดือน เม.ย. คาร์ล ลูกชายของลิ่วถูกตัดสินจำคุก 2 สัปดาห์ในข้อหาให้การเท็จระหว่างการพิจารณาคดีของคนงานทำงานบ้าน
HOME กล่าวว่าข้อกล่าวหาที่พบบ่อยที่สุดต่อคนงานทำงานบ้านที่ปรากฏในการแจ้งความ คือการลักขโมย ซึ่งกรณีส่วนใหญ่เป็นเรื่อง “เล็กน้อยโดยธรรมชาติ” โดยในคดีหนึ่งมีการพบว่า นายจ้างรายหนึ่งได้แจ้งความต่อสาวใช้ของพวกเขากับตำรวจในข้อหาขโมยเงิน 10 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 260 บาท)
“การกล่าวหาว่าลักทรัพย์สามารถทำได้ง่ายมาก มันต้องการการพิสูจน์เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย และไม่ส่งผลเสียต่อนายจ้าง (ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร) ในขณะที่คดีมีผลลัพธ์ที่ไม่สมส่วน และอาจเป็นหายนะสำหรับแรงงานทำงานบ้านข้ามชาติ” รายงานของ HOME ระบุ
การทำร้ายร่างกายเป็นการกล่าวอ้างในการแจ้งความที่พบบ่อยครั้งรองลงมา โดยคดีดังกล่าวคิดเป็น 13% ของคดีที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทำงานบ้านข้ามชาติ โดยรวมแล้วคดีดังกล่าวมีเพียง 18% ของการแจ้งความเท่านั้นที่นำไปสู่การตั้งข้อหาทางอาญา 36% ไม่มีการดำเนินคดีใดๆ อีกต่อไป และ 43% นำไปสู่การ “ตักเตือนอย่างเข้มงวด” ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถออกคำสั่งแทนการดำเนินคดีได้ตามดุลยพินิจของตัวเอง
แม้ว่าการแจ้งความส่วนใหญ่จะไม่นำไปสู่การดำเนินคดีเพื่อเอาผิดทางอาญา แต่คนทำงานบ้านอาจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการถูกกล่าวหาเพียงอย่างเดียวว่าลักโขมย โดย HOME กล่าวว่า แม่บ้านที่ถูกกล่าวหาใช้เวลาเฉลี่ย 4 เดือนที่ศูนย์พักพิงของ HOME และข้อกล่าวหาดังกล่าวสร้างความตึงเครียดทางการเงิน และสร้างผลกระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรงต่อพวกเขาและครอบครัวของพวกเขา นอกจากนี้ HOME ยังกล่าวด้วยว่า คนงานเหล่านี้อาจเผชิญกับ “ข้อกล่าวหาเพื่อการแก้แค้น” หลังจากที่พวกเขาลาออกจากสถานที่ที่พวกเขาทำงาน
ในกรณีหนึ่งที่ได้รับการเน้นในรายงานระบุว่า คนงานทำงานบ้านซึ่งขอความช่วยเหลือที่สถานพักพิงของ HOME หลังจากเธอถูกปฏิเสธไม่ให้ส่งตัวกลับประเทศเป็นเวลา 1 ปี โดยนายจ้างกล่าวหาว่าเธอขโมยเงินไปเมื่อเธอกลับไปหานายจ้างเก่า เพื่อเก็บข้าวของของเธอออกจากที่ทำงานเก่า ทั้งนี้ คนงานรายดังกล่าวถูกบังคับให้อยู่ในสิงคโปร์อีก 9 เดือน เพื่อรอผลการสอบสวน ซึ่งสุดท้ายไม่มีการดำเนินคดีใดๆ เพิ่มเติมต่อเธอ
ในรายงาน HOME แนะนำว่าคนงานทำงานบ้านที่ให้ความร่วมมือในการสืบสวน ควรได้รับอนุญาตให้ทำงานต่อไป และผู้ที่ได้รับการออกคำเตือนที่เข้มงวด ไม่ควรถูกกีดกันจากการจ้างงานในอนาคต นอกจากนี้ HOME ยังเรียกร้องให้มีทางเลือกในการอยู่นอกบ้านสำหรับแรงงานทำงานบ้าน และการมีเสรีภาพที่มากขึ้นในการเปลี่ยนนายจ้าง
ที่มา: