ไม่พบผลการค้นหา
‘ม.นอร์ทกรุงเทพ’ เปิดผลโพลประชาชนทั่วประเทศพบว่ากลุ่มตัวอย่างถึง69.9% มีความต้องการ 'นโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต' เห็นด้วยว่าต้องเดินหน้าต่อ หวังแบ่งเบาภาระในครัวเรือน-กระตุ้นเศรษฐกิจ-สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน

วันที่ 16 เม.ย. ผศ.ดร.สานิต ศิริวิศิษฐ์กุล หัวหน้าแผนกวิจัย สำนักวิจัย มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ เปิดเผยว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกรณี ”คิดอย่างไรกับเงินดิจิทัล 10,000 บาท“ จำนวน 1,400 ราย ในช่วงวันที่ 12 – 14 เม.ย. จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศพบว่า มีความเข้าใจนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ระดับมาก 17% ระดับค่อนข้างเข้าใจ 48% ระดับไม่ค่อยเข้าใจ 28% และไม่เข้าใจเลย 7.6% 

ขณะเดียวกันได้สำรวจถึงความต้องการพบว่าประชาชนมีความต้องการรวม 69.9% แบ่งเป็น ความต้องการในระดับมาก 38% ค่อนข้างต้องการ 31.9% และ ไม่ต้องการรวม 30.1% แบ่งเป็น ไม่ค่อยต้องการ 18.4% และไม่ต้องการเลย 11.7% 

นอกจานั้นยังสอบถามถึงความเหมาะสมในหลักเกณฑ์และมาตรการในแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พบว่า มีความเห็นว่าเหมาะสมมาก 18.1% ค่อนข้างเหมาะสม 40.9% ไม่เหมาะสม 14.7% และยังได้สำรวจว่านโยบายการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาทว่าควรดำเนินการต่อไปหรือไม่ พบว่า ควรดำเนินการต่อ 57.5% ควรดำเนินการต่อแต่ควรมีการปรับปรุงเงื่อนไข 31.9% และไม่ควรดำเนินการต่อ 10.6%

พร้อมกันนี้ ยังได้สอบถามถึงความคิดเห็นว่าเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทมีประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ พบว่า มีประโยชน์ในระดับมากที่สุด 22.4% มีประโยชน์ค่อนข้างมาก 32.7% มีประโยชน์ค่อนข้างน้อย 26.5% และ มีประโยชน์น้อยที่สุด 11.4% 

นอกจากนั้นยังได้สำรวจถึงเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทสามารถแบ่งเบาภาระในครัวเรือนมีความเห็นว่ามีประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ พบว่า มีประโยชน์ในระดับมากที่สุด 21.4% มีประโยชน์ค่อนข้างมาก 40.9% มีประโยชน์ค่อนข้างน้อย 29.1% และ มีประโยชน์น้อยที่สุด 8.6% 

ขณะเดียวกันยังสอบถามว่าเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทสามารถเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ร้านค้ารายย่อยทั่วประเทศความเห็นว่า มีประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ พบว่า มีประโยชน์ในระดับมากที่สุด 17.7% มีประโยชน์ค่อนข้างมาก 39.5% มีประโยชน์ค่อนข้างน้อย 31.9% และ มีประโยชน์น้อยที่สุด 10.9%

ผศ.ดร.สานิต ยังได้สำรวจต่ออีกว่า หากได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทจากรัฐบาลจะวางแผนใช้เงินเพื่อสิ่งใด พบว่าคนไทยต้องการใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อของใช้ในชีวิตประจำวัน 50.4% สินค้าทั่วไป 25.7% ซื้ออาหารและเครื่องดื่ม 22.4% และอื่น ๆ 1.4%