การเดินทางเยือนของ ฮุน เซน ต่อเมียนมาในครั้งนี้ กำลังสร้างคำถามต่อการยอมรับความชอบธรรมของกองทัพเมียนมาจากประชาคมอาเซียนมากขึ้นไปกว่าเดิม หลังจากทั่วโลกกดดันว่าอาเซียนไม่สามารถแก้ไขปัญหาความรุนแรงจากผลพวงของรัฐประหารเมียนมาได้ วิกฤตในครั้งนี้กำลังถูกซ้ำเติมจากการเดินทางเยือนดังกล่าว เนื่องจากกัมพูชากำลังเป็นประธานอาเซียนในปีนี้
ก่อนหน้านี้ ฮุน เซน ได้กล่าวเมื่อช่วงเดือนธันวาคมของปีก่อนว่า หากกัมพูชา “ไม่ทำงานร่วมกับทางการเมียนมา แล้วจะทำงานร่วมกับใคร” ส่งสัญญาณชัดเจนว่าผู้นำอำนาจนิยมจากกัมพูชารายนี้ กำลังอ้าแขนต้อนรับกองทัพเมียนมาที่ยึดอำนาจการปกครองของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อกุมภาพันธ์ 2021 ที่ผ่านมา
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา อาเซียนได้บรรลุฉันทามติ 5 ประการ เพื่อหาทางออกในการยุติความรุนแรงในเมียนมา ในขณะที่ฉันทมติดังกล่าวกลับไม่ถูกนำมาปฏิบัติใช้อย่างจริงจัง ส่งผลให้อาเซียนถูกประชาคมโลกกดดันอย่างหนัก ทุกอย่างซ้ำร้ายลงเมื่อเกิดเหตุสังหารและเผา 35 ศพ บริเวณรัฐกะยาเมื่อช่วงสิ้นปี จนมีการเรียกร้องให้อาเซียนนำฉันทามติ 5 ประการนำมาปฏิบัติใช้ แต่ทุกอย่างยังคงไม่มีความคืบหน้า เพราะประเทศสมาชิกทั้งหมดยังคงอ้างหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน
การเดินทางเยือนเมียนมาของ ฮุน เซน ในครั้งนี้ มีกำหนดการ 2 วัน ทั้งนี้ ฮุน เซน อ้างว่า ตนพยายามหาทางออกในการนำสันติภาพคืนแก่เมียนมา ในขณะที่ก่อนหน้านี้ ตัวแทนจากกองทัพเมียนมาไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมการประชุมกับรัฐสมาชิกอื่นในอาเซียน ทั้งนี้ การเยือนเมียนมาของ ฮุน เซน กำลังทำให้ท่าทีของอาเซียนที่ไม่ชัดเจนต่อกรณีรัฐประหารเมียนมาตกต่ำลงไปกว่าเดิม นอกจากนี้ ฮุน เซน ยังมีท่าทีพร้อมสนับสนุนให้กองทัพเมียนมาเข้าร่วมการประชุมอาเซียนด้วย
ฮุน เซน ที่ประกาศว่าจะเป็นตัวกลางในการนำสันติภาพและความสงบกลับคืนสู่เมียนมา จะมีกำหนดการเข้าพบ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่ายน์ ผู้นำคณะรัฐประหารของเมียนมา แต่ไม่มีกำหนดการเข้าพบ อองซาน ซูจี ผู้นำพลเรือนที่ถูกจับกุมคุมขังโดยกองทัพอยู่แต่อย่างใด ทั้งนี้ จากการที่ ฮุน เซน เดินทางเยือนเมียนมาอย่างเป็นทางการ มีการจัดการชุมนุมประท้วงผู้นำกัมพูชาในเมียนมาหลายจุด เช่น ในเนปิดอว์ มัณฑะเลย์ ตะนาวศรี ตลอดจนเขตโมนยวา
ที่มา:
https://www.aljazeera.com/news/2022/1/7/protests-anger-as-hun-sen-visits-myanmars-military-leaders