วันที่ 4 ม.ค.2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 19 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญ พิจารณาเสร็จสิ้นในวาระที่ 2 ซึ่งค้างการลงมติในมาตรา 7/4 ว่าด้วยเศรษฐกิจจากกัญชา กัญชง เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบจึงต้องปิดประชุมไปก่อน
โดยในช่วงต้นของการประชุม ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้แจ้งว่าจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่มีจำนวน 437 คน ทำให้องค์ประชุมกึ่งหนึ่งเท่ากับ 218 คน หลังรอองค์ประชุมประมาณ 15 นาที ได้มีสมาชิกแสดงตน 224 คน จึงสามารถลงมติได้ โดยที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 223 ต่อ 129 เสียง เห็นชอบกับมาตรา 7/4 ที่กรรมาธิการเพิ่มขึ้นใหม่
จากนั้นเข้าสู่การอภิปรายมาตรา 8 ว่าด้วยคณะกรรมาธิการกัญชา กัญชง โดยกรรมาธิการเสียงส่วนน้อยอย่าง เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ที่ระบุว่า พรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยกับหมวดที่ว่าด้วยกรรมาธิการดังกล่าวทั้งหมด และพบว่ากรรมาธิการส่วนใหญ่เป็นข้าราชการที่มาจากหน่วยงานต่างๆ ในแต่ละกระทรวง หากเป็นยุค คสช. ก็คงมีกรรมาธิการฯ สัดส่วนทหารเข้ามาด้วยแล้ว แม้จะเป็นบุคคลที่มีความรู้เชี่ยวชาญ แต่อาจมีปัญหาออกกฎเพิ่มเติมยิบย่อยให้ซ้ำซ้อนกับกฎที่กระทรวงต่างๆ มีอยู่แล้ว
“การที่ผู้ใช้กฎหมายมาออกกฎเอง นับว่าผิดหลักการอย่างยิ่ง และคณะกรรมาธิการดังกล่าวก็ไม่ได้มีที่มาที่เป็นประชาธิปไตยเลย มาจากการแต่งตั้งโดยตำแหน่งมากกว่า ส่วนร่วมของประชาชนอยู่ตรงไหน อำนาจเป็นของประชาชนจริงหรือเปล่า มีทุกหน่วยงานเลยนอกจากประชาชน ถ้าสภาแห่งนี้ยืนยันในหลักการว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ต้องตัดมาตรานี้ออกทั้งหมด” เท่าพิภพ กล่าว
ขณะที่ พิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งแปรญัตติโดยเห็นว่า คณะกรรมาธิการชุดนี้ควรอยู่ในบทบาทหน้าที่ของกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานและเลขานุการ แทนที่จะเป็นกระทรวงสาธารณสุข พร้อมเสนอให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานกรรมาธิการฯ และอธิบดีกรมสรรพสามิตเป็นเลขานุการฯ ผู้ว่าการยาสูบแห่งประเทศไทยเป็นผู้ช่วยเลขานุการ เพราะในอดีตกระทรวงการคลังก็กำกับดูแลพืชจำพวกฝิ่นอยู่แล้ว การทำงานน่าจะมีความสอดคล้องกัน
ด้าน นิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ไม่ขัดข้องที่จะให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ แต่ขอเสนอให้เพิ่ม เลขาธิการกฤษฎีกา ป.ป.ส. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อธิบดีส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก และกรมสุขภาพจิตต่างๆ เนื่องจากแม้กัญชาจะนำออกจากยาเสพติดแล้ว แต่ยังมีช่องว่างอยู่กับการใช้ที่ยังไม่เป็นยาอย่างแท้จริง จึงต้องมีคณะกรรมาธิการฯ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลยาเสพติดมาร่วม
เช่นเดียวกับ ดะนัย มะหิพันธ์ ส.ส.อำนาจเจริญ พรรคเพื่อไทย มองว่าโครงสร้างของการตั้งกรรมาธิการฯ ไม่เหมาะสม หากเห็นความสำคัญจริงควรให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมาธิการ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นเลขาฯ และให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมาธิการด้วย เพื่อจะสามารถเสนอแนะแก้ไขการควบคุมการใช้กัญชาต่างๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับกรรมาธิการเสียงข้างมากในมาตรา 8 ด้วยคะแนน 256 ต่อ 116 เสียง โดยไม่แก้ไขตามที่กรรมาธิการเสียงข้างน้อยสงวนความเห็น หลังจากนั้น ที่ประชุมยังได้ลงมติเห็นชอบกับแต่ละมาตราที่คณะกรรมาธิการเสียงข้างมากแก้ไขและเพิ่มขึ้นใหม่จนถึงมาตรา 11
’ศุภชัย’ ยื้อนาน สุดท้ายก็ล่ม
จนกระทั่งเวลาประมาณ 14.00 น. ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม หลังเสร็จสิ้นการอภิปราย ได้กดออกเรียกสมาชิกเข้ามาแสดงตนเพื่อลงมติในมาตรา 11 หลายครั้ง อย่างไรก็ตาม หลังรอองค์ประชุมอยู่ราว 30 นาที ก็ยังไม่ครบองค์ประชุม
จากนั้น อุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย หารือว่า ส.ส.ที่อยู่ข้างนอก ก็แปลว่าเขาไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถ้าหากเห็นด้วยองค์ประชุมก็ต้องครบแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องรอต่อไปอีก หากจะถ่วงกันไปแบบนี้ ควรถอนร่างไปก่อนดีกว่า เพราะเรื่องนี้ติดอยู่ไม่รู้กี่สัปดาห์แล้ว ยังมีร่างกฎหมายอื่นๆ รออยู่อีก ขอเสนอแนะด้วยความห่วงใยสภาฯ
จากนั้น ประธานฯ ได้ตัดสินใจสั่งลงมติในมาตรา 11 ปรากฏว่าจำนวนผู้ลงมติมีเพียง 204 คน ซึ่งน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ คือ 218 คน โดยมีผู้เห็นด้วย 147 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง งดออกเสียง 50 เสียง ไม่ลงคะแนน 5 นับว่าองค์ประชุมไม่ครบ ประธานฯ จึงได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 15.03 น.
สภาล่มรอบที่ 28 สมฉายา 3 วันหนี 4 วันล่ม
อย่างไรก็ตาม ตลอดปี 2565 การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพียงอย่างเดียวได้มีสถิติองค์ล่มถึง 11 ครั้งตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นปี 2565 ทำให้สภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันถูกบันทึกไว้ว่าเป็นชุดที่องค์ประชุมล่มอยู่บ่อยครั้งซ้ำซาก ซึ่งที่ประชุมสภาฯ ได้องค์ประชุมล่มก่อนหน้านี้คือ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2565 ถือเป็นครั้งที่ 27 ส่งท้ายศักราช 2565 ขณะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ในวาระที่ 2
โดยองค์ประชุมสภาฯ ล่มในวันเดียวกันนี้ ถือเป็นครั้งที่ 28 ตลอด 4 ปีของสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน และสื่อมวลชนประจำรัฐสภา ได้ตั้งฉายาสภาฯ ชุดนี้ว่า "3 วันหนี 4 วันล่ม" เนื่องจากตลอดการประชุมรอบปี 65 ของ ส.ส. ประสบปัญหาสภาล่มซ้ำซาก ทำให้การทำงานเกิดความล่าช้า ตั้งแต่วันเปิดสมัยประชุมจนส่งท้ายปี โดย ส.ส.ฝ่ายค้าน เล่นเกมนับองค์ประชุม ทั้งที่ฝ่ายตนเองนั้นก็มาร่วมประชุมน้อย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง