เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2566 สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง โพลเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 1 (ฉบับเต็ม) กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 53,094,778 คน ดำเนินโครงการ จำนวน 1,257 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 20 - 25 มี.ค. พ.ศ.2566 โดยมีประเด็นน่าสนใจคือ ความตั้งใจของประชาชนจะเลือกพรรคการเมือง แบ่งออกระหว่าง กลุ่มพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล และ กลุ่มพรรคร่วมฝ่ายค้าน พบว่า ในกลุ่มพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลรวมกันได้ร้อยละ 51.6 ในขณะที่ พรรคร่วมฝ่ายค้านตอนนี้รวมกันได้ร้อยละ 43.3 โดยในกลุ่มพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล อันดับหนึ่งได้แก่ พรรคภูมิใจไทย ได้ร้อยละ 19.1 เพราะ เชื่อมั่นศรัทธา อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคฯ ต้องการเปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศ ต้องการคนมีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์การเมือง มีผลงานเป็นที่ยอมรับนานาชาติช่วงวิกฤตโควิด ไม่ต้องการความขัดแย้ง ไม่ต้องการเห็นการสืบทอดอำนาจ ผู้นำที่ไม่สร้างความขัดแย้ง ต้องการการพัฒนา ชอบนโยบายสุขภาพ และ อสม. และนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเป็นคนจิตใจดี ช่วยเหลือชีวิตคนตัวเล็กตัวน้อย เป็นต้น
อันดับที่สองได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 13.4 เพราะ เชื่อมั่นศรัทธา จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ชวน หลีกภัย และอดีตผู้นำพรรค เชื่อมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต มีประสบการณ์ทางการเมือง ความเป็นสุภาพบุรุษ ความเป็นสถาบันพรรคการเมือง มีหลักการ อุดมการณ์การเมือง ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ มีผลงานประกันรายได้เกษตรกร การค้าระหว่างประเทศ ไม่ต้องการเห็นการสืบทอดอำนาจ เป็นต้น
นอกจากนี้ อันดับที่สาม ได้แก่ พลังประชารัฐ ร้อยละ 10.1 เพราะ เชื่อมั่นใน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีผลงานแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ที่ทำกิน บริหารจัดการน้ำ ความสงบความมั่นคงของบ้านเมือง เป็นต้น และ พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 7.3 เพราะ เชื่อมั่นศรัทธาใน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ความซื่อสัตย์สุจริต มีผลงานแก้วิกฤตชาติ ความวุ่นวายของบ้านเมือง จริงจัง จริงใจ อดทน ชอบโครงการ คนละครึ่ง เป๋าตัง
ที่เหลือเป็น พรรคชาติพัฒนากล้า ร้อยละ 0.9 และพรรคชาติไทยพัฒนา ร้อยละ 0.8 ตามลำดับ
ขณะที่ ความตั้งใจของประชาชนจะเลือก ส.ส. ในกลุ่มพรรคร่วมฝ่ายค้าน พบว่า อันดับแรก พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 36.9 เพราะ ชอบอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ต้องการคนรุ่นใหม่ ต้องการเปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศ เข้าถึงชาวบ้านและประชาชน ชอบนโยบาย ไม่ต้องการเห็นการสืบทอดอำนาจ เป็นต้น รองลงมาคือ พรรคก้าวไกล ร้อยละ 5.9 เพราะ ชอบหัวหน้าพรรค พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ต้องการเปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศ ต้องการคนรุ่นใหม่ อยากลอง ไม่ต้องการเห็นการสืบทอดอำนาจ เป็นต้น และพรรคเสรีรวมไทย ร้อยละ 0.5 เพราะ ชอบ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรค เพราะตรงไปตรงมา เด็ดขาด ชัดเจน เป็นต้น
เมื่อวิเคราะห์ภาพรวมของความตั้งใจของประชาชนจะเลือก ส.ส. พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 51.6 ระบุ จะเลือกพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล ได้แก่ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ชาติพัฒนากล้า ชาติไทยพัฒนา เป็นต้น ในขณะที่ ร้อยละ 43.3 จะเลือกพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้แก่ เพื่อไทย ก้าวไกล เสรีรวมไทย เป็นต้น และร้อยละ 5.1 ระบุอื่น ๆ เช่น ไทยสร้างไทย และไทยภักดี เป็นต้น ที่น่าพิจารณา คือ ความตั้งใจของประชาชนจะเลือก พรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล กับ พรรคร่วมฝ่ายค้าน แบ่งตามกลุ่มจุดยืนการเมือง พบว่า กลุ่มพลังเงียบส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.8 กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.3 และแม้แต่กลุ่มผู้ไม่สนับสนุนรัฐบาลร้อยละ 15.6 ตั้งใจจะเลือก พรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล ได้แก่ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ชาติไทยพัฒนา เป็นต้น ในขณะที่ กลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาล ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.7 กลุ่มพลังเงียบร้อยละ 34.6 และแม้แต่กลุ่มสนับสนุนรัฐบาลร้อยละ 21.4 ตั้งใจจะเลือกพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้แก่ เพื่อไทย ก้าวไกล เสรีรวมไทย เป็นต้น ตามลำดับ
นอกจากนี้ ที่น่าสนใจคือ คนที่ประชาชนอยากได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปในกลุ่มแฟนคลับของพรรคร่วมรัฐบาล จำแนกตามกลุ่มอาชีพ พบว่า อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นขวัญใจมากสุดใน 4 กลุ่มอาชีพได้แก่ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐร้อยละ 20 พนักงานเอกชนร้อยละ 18.4 อาชีพอิสระค้าขายร้อยละ 19.8 และนักศึกษา ร้อยละ 23.2 เพราะเป็นคนมีความสามารถ มีผลงานเคยแก้วิกฤตชาติ เป็นผู้นำที่ไม่ก่อความขัดแย้งกับใคร จิตใจดี ช่วยเหลือชีวิตคน ไม่ด่างพร้อย ดูแลคนตัวเล็กตัวน้อย ชอบนโยบายสุขภาพ ดูแลใส่ใจคนทุกกลุ่ม เป็นต้น
ในขณะที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นขวัญใจมากสุดใน 2 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐร้อยละ 20.0 เท่ากับนายอนุทิน ชาญวีรกูล และในกลุ่มอาชีพเกษตรกร ร้อยละ 22.5 เพราะ มีหลักการ มีอุดมการณ์ ซื่อสัตย์สุจริต ไม่ด่างพร้อย มีผลงานประกันรายได้เกษตรกร แก้ปัญหาการค้าระหว่างประเทศ เป็นสุภาพบุรุษ ไม่มีภาพของความขัดแย้ง เป็นต้น
สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นขวัญใจมากที่สุดในกลุ่มพ่อบ้าน แม่บ้าน เกษียณอายุ ร้อยละ 33.3 รองลงมาคือกลุ่มข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ ร้อยละ 16.7 อาชีพอิสระและค้าขายส่วนตัว ร้อยละ 12.5 เพราะ มีผลงานแก้วิกฤตชาติ มีจุดยืนชัดเจน จริงใจจริงจัง รักษาความสงบของบ้านเมือง ซื่อสัตย์สุจริต เป็นทหาร เป็นต้น ในขณะที่ได้เพียงร้อยละ 1.8 ในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา
ที่น่าพิจารณาคือ ในกลุ่มแฟนคลับพรรคร่วมฝ่ายค้าน พบว่า แพทองธาร ชินวัตร เป็นขวัญใจมากที่สุดในกลุ่มอาชีพเกษตรกร ร้อยละ 46.0 รองลงมาคือกลุ่มอาชีพอิสระและค้าขาย ร้อยละ 38.7 กลุ่มอาชีพพนักงานเอกชนร้อยละ 37.7 และกลุ่มอาชีพข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐร้อยละ 36.7 ส่วนเหตุผลที่อยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีในมุมมองของแฟนคลับพรรคร่วมฝ่ายค้านคือ เป็นลูก อดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นคนรุ่นใหม่ ต้องการเปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศ ไม่ต้องการให้มีการสืบทอดอำนาจ ต่อต้านเผด็จการทหาร และช่วยนำพ่อกลับบ้าน เป็นต้น
ในขณะที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นขวัญใจมากที่สุดในกลุ่มนักเรียนนักศึกษาร้อยละ 32.1 เพราะ ต้องการคนรุ่นใหม่ คนมีความรู้ความสามารถ ต้องการเปลี่ยนแปลง ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ ต่อต้านเผด็จการทหาร เป็นต้น
รายงานของสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ระบุด้วยว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ถ้ามีการเลือกตั้งวันนี้และพรรคร่วมรัฐบาลยังเหนียวแน่นไม่แตกแยก ไม่แย่งปลาในบ่อเดียวกัน จะส่งผลให้ผลการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลน่าจะออกมาเป็นเหมือนรัฐบาลที่มีพรรคร่วมรัฐบาลวันนี้ ถ้าไม่มีการยุบพรรคของพรรคร่วมรัฐบาลเกิดขึ้น แต่ผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาลอาจจะไปอยู่ที่พรรคภูมิใจไทยและนายกรัฐมนตรีคนต่อไปอาจจะเป็นอนุทิน ชาญวีรกูล หรือคนอื่นใดที่พรรคร่วมรัฐบาลจะสามารถตกลงกันได้ ในขณะที่ พรรคร่วมฝ่ายค้านจะยังคงเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และอื่น ๆ ข้อมูลผลสำรวจครั้งนี้จึงชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาล หากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้นภาพอนาคตทางการเมืองหลังการเลือกตั้งก็ไม่น่าจะแตกต่างไปจากผลสำรวจครั้งนี้เท่าใดนัก