วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงดัชนีความสามารถทางภาษาอังกฤษ (EF English Proficiency Index) ประจำปี 2023 ซึ่งประเทศไทยมีดัชนีต่ำสุดในบรรดา 8 ประเทศกลุ่มอาเซียนที่มีการวัดผล โดยอยู่ที่ 101 จาก 113 ประเทศ ด้วยคะแนน 416 ลดลงจากอันดับ 97 จาก 111 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2022
พริษฐ์กล่าวว่า แม้ปัญหาเรื่องทักษะภาษาอังกฤษ อาจมีหลายปัจจัยนอกเหนือจากระบบการศึกษา แต่ตนคิดว่าปัญหานี้ สะท้อนถึง 2 ปัญหาของระบบการศึกษาไทยในภาพรวม คือคุณภาพระบบการศึกษาและความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา
ในแง่คุณภาพระบบการศึกษา นักเรียนไทยไม่ได้มีจำนวนชั่วโมงเรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนที่น้อยกว่าประเทศอื่นๆ แต่หลักสูตรและวิธีการสอนปัจจุบัน ไม่สามารถแปรชั่วโมงเรียนเหล่านั้นหรือความขยันของนักเรียนออกมาเป็นทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพได้ดีเท่าที่ควร ขณะที่ในแง่ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา เด็กไทยปัจจุบันยังไม่ได้มีโอกาสเข้าถึงการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่มีคุณภาพอย่างทัดเทียมกัน โอกาสในการเรียนต่อต่างประเทศ เรียนในโรงเรียนนานาชาติ หรือเรียนในโรงเรียนที่จัดหลักสูตรภาษาอังกฤษ (English Programme หรือ EP) ยังคงเป็นโอกาสที่เด็กบางกลุ่มเท่านั้นที่เข้าถึง
พริษฐ์กล่าวว่า หากพูดถึงการปฏิรูประบบการศึกษา มีนโยบายอย่างน้อย 5 ด้านที่รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ สามารถดำเนินการได้ เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของนักเรียนและเยาวชนทั่วประเทศ ดังนี้
(1) ออกแบบหลักสูตร การสอน การประเมินวิชาภาษาอังกฤษใหม่ เช่น ปรับหลักสูตรวิชาภาษาอังกฤษ ให้เน้นด้านทักษะการสื่อสารหรือการ “ใช้” ภาษาเป็นหลัก มากกว่าเน้นแค่เพียงหลักภาษาและไวยากรณ์ ทำให้ห้องเรียนภาษาอังกฤษเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” ที่ช่วยให้ผู้เรียนกล้าลองผิดลองถูกในการใช้ภาษา และเรียนรู้จากข้อผิดพลาด เพิ่มสัดส่วนวิชาและกิจกรรมในโรงเรียนที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ ดำเนินการพร้อมกับการออกแบบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่แค่ด้านภาษาอังกฤษ ที่เน้นการพัฒนาทักษะและสมรรถนะ มากกว่าเพียงการอัดฉีดเนื้อหา
(2) ยกระดับการอบรมทักษะภาษาอังกฤษของครูไทย เช่น เพิ่มความเข้มข้นในการอบรมครูไทยด้านภาษาอังกฤษทั้งในระดับสถาบันผลิตครู (pre-service training) และการพัฒนาทักษะในงาน (in-service training) เน้นการกระจายงบอบรมครูที่ปัจจุบันกระจุกอยู่กับส่วนกลางทั้งหมด ไปเป็นการให้งบตรงไปที่โรงเรียนและครูแต่ละคนในการซื้อคอร์สพัฒนาทักษะที่ตอบโจทย์ด้านที่ตนเองต้องการพัฒนา
(3) ทำ MOU กับประเทศหรือเมืองอื่นๆ เพื่อให้มีโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างครูสอนภาษาอังกฤษในต่างประเทศและครูไทยที่สอนภาษาอังกฤษ เช่น เพิ่มสภาพแวดล้อมที่นักเรียนไทยได้ฝึกสื่อสารภาษาอังกฤษกับครูต่างชาติที่มาสอนในประเทศไทย ยกระดับทักษะครูไทยที่จะมีประสบการณ์ไปสอนในโรงเรียนที่ต่างประเทศ
(4) ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษนอกห้องเรียน เช่น พิจารณาจัดสรร “คูปองเปิดโลกเรียนรู้” สำหรับเด็กและเยาวชนในการเรียนรู้นอกห้องเรียน ซึ่งอาจรวมถึงคอร์สหรือกิจกรรมที่มีการใช้ภาษาอังกฤษ จัดทำแพลตฟอร์มเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่รวบรวมคอร์สพัฒนาทักษะ เช่น คอร์สภาษาอังกฤษ จากผู้ผลิตเนื้อหาในภาคเอกชนและภาควิชาการ โดยเปิดให้ประชาชนทุกคนเรียนได้ฟรีไม่จำกัด เพิ่มจุดที่ประชาชนได้สัมผัสกับภาษาอังฤษในชีวิตประจำวัน เช่น การเพิ่มบทบรรยายภาษาอังกฤษใต้ภาพ (subtitles) สำหรับข่าวสาร ละคร รายการในโทรทัศน์
(5) รณรงค์ให้สังคมไม่มีค่านิยมที่ให้ความสำคัญมากเกินไปกับเรื่องสำเนียง (accent) จนทำให้เด็กหรือแม้แต่ผู้ใหญ่ไม่กล้าสื่อสารภาษาอังกฤษ เช่น สร้างความเข้าใจว่าการออกเสียง (pronunciation) ให้ชัดถ้อยชัดคำเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการให้คู่สนทนาเข้าใจสิ่งที่เรากำลังสื่อสาร แต่สำเนียง ไม่ควรถูกมองว่าเป็นสาระสำคัญ
เนื่องจาก “สำเนียงที่ถูกต้อง” แม้ในเชิงทฤษฎี ก็อาจไม่มีอยู่จริง ในเมื่อภาษาอังกฤษได้กลายเป็นภาษาที่ถูกใช้กันโดยคนในหลายประเทศทั่วโลกด้วยสำเนียงที่หลากหลาย หรือ แม้แต่คนในประเทศสหราชอาณาจักรเอง ที่ถูกมองว่าเป็นต้นตำรับภาษาอังกฤษ ก็ยังมีหลายสำเนียงที่แตกต่างออกไปในแต่ละภูมิภาค