ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกลงนามในจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้รัฐบาลแต่ละประเทศปกป้องเสรีภาพของมหาวิทยาลัย ไม่ให้รัฐบาลจีนแทรกแซงงานวิจัยและเซนเซอร์การวิพากษ์วิจารณ์

นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก 100 คนร่วมกันเรียกร้องให้นานาชาติรวมตัวกันปกป้องเสรีภาพของมหาวิทยาลัย โดยระบุว่า มหาวิทยาลัยต่างๆ จะถูกจัดการไปทีละมหาวิทยาลัย หากไม่มีข้อตกลงร่วมกันว่าจะต่อต้านไม่ให้รัฐบาลจีนเข้าไปแทรกแซงงานวิจัยทางวิชาการและการสอนจีนศึกษา

นักวิชาการจากสถาบันการศึกษา 71 แห่งใน 16 ประเทศเตือนว่า มาตรา 38 ของกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกงที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ มิ.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่า กฎหมายนี้จะบังคับใช้กับคนที่อยู่นอกฮ่องกงและคนที่ไม่ใช่พลเมืองฮ่องกงด้วย ซึ่งอาจทำให้นักศึกษาที่เดินทางไปฮ่องกงและจีนถูกจำคุกหลายปีจากผลงานทางวิชาการที่ทางการจีนมองว่าเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของจีน

นักวิชาการที่ร่วมลงชื่ออ้างว่า มหาวิทยาลัยต่างๆ ควรจะเป็นสถานที่ปราศจากความกลัวหรือฉันทาคติ กฎหมายความมั่นคงมาตรา 38 ที่บังคับใช้ทั่วโลกเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกและความเป็นอิสระทางวิชาการ ซึ่งทำให้เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับจีนถูกตัด และนักศึกษาหลายคนเซนเซอร์ตัวเอง เพราะเกรงว่างานหรือเรียงความที่เขียนในห้องเรียนจะถูกใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีพวกเขา

ดร.อันเดรียส ฟุลดา นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันวิจัยเอเชียของมหาวิทยาลัยนอตทิงแฮมกล่าวว่า มหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่สามารถต่อสู้กับความ้ทาทายนี้เพียงลำพัง แต่ผู้นำทางวิชาการ นักการเมืองและเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลต่างๆ จำเป็นต้องร่วมกันปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ ต่อต้านกฎหมายที่พยายามหยุดยั้งการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อการไขว่คว้าหาความรู้และความเข้าใจ

ดร.ฟุลดายังระบุว่า เป็นเรื่องที่รู้กันทั่วไปว่า รัฐบาลจีนใช้นักศึกษาเป็นเครื่องมือในการเฝ้าระวังอาจารย์มหาวิทยาลัยในจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง อีกทั้งยังคอยจับตาอาจารย์ในต่างประเทศด้วย

ศ.วาเนสซา ฟรังวิลล์ เปิดเผยว่า สถานทูตจีนในกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียมพยายามจ้างนักศึกษาในบรัสเซลส์ให้มาแสดงความเห็นคัดค้านการประท้วงของชาวอุยกูร์เมื่อปี 2561 ด้านอาจารย์ด้านจีนศึกษาจากมหาวิทยาลัยไลป์ซิกของเยอรมนีกล่าวว่า นักศึกษาจากฮ่องกง ไต้หวัน และจีนหลายคนมาถามว่าจะดรอปวิชาของเขาได้หรือไม่ เพราะกังวลว่าจะถูกโยงกับการวิพากษ์วิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์จีนของคนอื่นในห้อง

ก่อนหน้านี้ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดระบุว่า อาจารย์จะอนุญาตให้นักศึกษาบางคนส่งวิทยานิพนธ์โดยไม่เปิดชื่อผู้เขียนได้ เพื่อลดความรู้สึกหวาดกลัวว่าจะถูกดำเนินคดีในจีน

ที่มา : The Guardian, The Conversation