ไม่พบผลการค้นหา
บีทีเอส จี้ต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวอีก 30 ปี คุมค่าโดยสาร 65 บาท ไม่ให้พุ่ง 158 บาท ด้านคมนาคม ไม่เห็นด้วย จี้ทบทวนค่าโดยสารใหม่ หากจะมีการต่อสัมปทาน ชี้ตั๋วโดยสาร 65 บาทยังแพงเกินไป เปิดรายละเอียดรถไฟฟ้าสายสีเขียวแบ่งหลายช่วงตามการลงทุน ทำค่าโดยสารอาจพุ่ง

นับถอยหลังอีกเพียงไม่กี่วันรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือส่วนต่อขยาย ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จะพร้อมเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการครบทุกสถานีในช่วงต้นเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งจะนับเป็นรถไฟฟ้าสายยาวที่เชื่อมต่อการเดินทาง 3 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และปทุมธานี ดังนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้คือจะทำให้ผู้โดยสารเดินทางเชื่อมต่อระหว่างกันได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

แต่นอกเหนือจากความสะดวกสบายที่จะเกิดขึ้น ยังมีประเด็นเรื่องค่าโดยสารกำลังถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในสังคม เนื่องจากภายใต้การเจราจาขยายสัมปทานกับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ที่จะเป็นสิ้นสุดในปี 2572 ไปเป็นปี 2602 หรือขยายสัมปทานให้ 30 ปี เพื่อแลกกับภาระหนี้ที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเป็นคู่สัญญาเดิมกับบีทีเอสซีนั้น เบื้องต้นการเจรจาตกลงว่าจะให้เก็บค่าโดยสารที่สูงสุดได้ไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย ซึ่งได้มีการรายงานในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา แต่ฟากฝั่งกระทรวงคมนาคม ยังไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าค่าโดยสาร 65 บาท นั้นยังแพงเกินไป  

รถไฟฟ้าบีทีเอส-BTS

158 บาทมาจากอะไร ?

หากแยกการดำเนินงานของรถไฟฟ้าสายสีเขียวในปัจจุบัน จะพบว่ามีอยู่ 4 ช่วงหลัก ๆ คือ

  1. ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-ตากสิน
  2. ส่วนต่อขยายช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และช่วงตากสิน-บางหว้า
  3. ส่วนต่อขยายใหม่ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คู่คต
  4. ส่วนต่อขยายใหม่ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ

โดยตามสัญญาสัมปทานในสายหลัก (ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-ตากสิน) กำหนดให้บีทีเอสสามารถกำหนดค่าโดยสารและจัดเก็บค่าโดยสารได้เองในปัจจุบันอยู่ที่ 16-44 บาท ตามเงื่อนไขที่เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆ คือ บีทีเอสเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด

เมื่อรวมส่วนต่อขยาย (ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และช่วงตากสิน-บางหว้า) ให้จัดเก็บค่าโดยสารที่ 15 บาท ทำให้ค่าโดยสารปัจจุบันสูงสุดอยู่ที่ 59 บาทตลอดสาย

แต่ในส่วนต่อขยายทั้งช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และตากสิน-บางหว้า เป็นการลงทุนโดย กทม. ปัจจุบันมีสัญญาจ้างบีทีเอสเดินรถอยู่ แต่จะสิ้นสุดพร้อมกับสัมปทานเดิม จากนั้นจะนำทั้งสายทางหลักและส่วนต่อขยายมารวมเป็นสัมปทานเดียวกัน

เช่นเดียวกับส่วนต่อขยายใหม่ คือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คู่คต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ส่วนนี้ลงทุนโดย รฟม. และต่อมาได้มีโอนทรัพย์สินให้กับ กทม. ซึ่งในส่วนต่อขยายใหม่ทั้งด้านเหนือ (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) จ้างเก็บค่าโดยสาร 15-60 บาท และด้านใต้ (ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) 15-39 บาท

ดังนั้นเมื่อรวมทั้ง 4 ช่วง ระยะทาง 68.25 กม. มี 59 สถานี ค่าโดยสารจึงอยู่ที่ 158 บาท ซึ่งอัตราค่าโดยสาร 158 บาท เป็นค่าโดยสารรวมทั้ง 4 ช่วงหากแยกจัดเก็บค่าโดยสารของแต่ละช่วงออกจากกัน


เปิดข้อตกลงขยายสัมปทานให้บีทีเอส 30 ปี

ตามเงื่อนไขการเจรจราระหว่าง กทม.และบีทีเอสซี เพื่อใช้เป็นข้อตกลงในการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไปอีก 30 ปี นั้น กทม.มีเงื่อนไขหลักๆ อยู่ 3 เรื่อง ดังนี้

  1. ค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาท โดยบีทีเอสจะเก็บค่าโดยสารสูงสุดได้ไม่เกิน 65 บาท ซึ่งเป็นอัตราค่าโดยสารที่ลดลงจากการเก็บตามปกติในอัตราเดิมที่มีค่าโดยสารสูงสุด 158 บาท แต่ให้ปรับค่าโดยสารได้ทุก 2 ปี ตามดัชนีผู้บริโภค (CPI)
  2. บีทีเอสรับภาระหนี้ของ กทม. โดยหนี้จากการก่อสร้างส่วนต่อขยายสายสีเขียวช่วงหมอชิต-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ทั้งค่าดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าจัดหาขบวนรถเพิ่มเติม ค่าติดตั้งระบบสื่อสาร อาณัติสัญญาณ และระบบตั๋ว รวมทั้งค่าจ้างเดินรถค้างจ่าย รวมเป็นเงินกว่า 7 หมื่นล้านบาท
  3. บีทีเอสแบ่งรายได้จากค่าโดยสารให้ กทม. ตั้งแต่ปี 2572-2602 เป็นเงินกว่า 2 แสนล้านบาท


จี้เร่งต่อสัมปทาน ไม่ต่อ กทม.ต้องจ่ายหนี้-โดยสาร 158 บาท

สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ชี้แจงว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวซึ่งบีทีเอสรับผิดชอบอยู่นั้น จัดเก็บไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย ไม่ได้แพงกว่าค่ารถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีสายสีน้ำเงิน ที่จัดเก็บค่าโดยสารสูงสุด 42 บาท และทั้ง 2 เส้นทางมีภาระต้นทุนที่แตกต่างกันโดยบีทีเอสต้องรับชำระหนี้ค่างานโยธาแทน กทม. กว่า 6 หมื่นล้านบาท แต่สายสีน้ำเงินไม่ต้องมีต้นทุน รัฐออกค่างานโยธาให้ทั้งหมด

นอกจากนี้บีทีเอสต้องแบ่งรายได้ให้ กทม.ทุกปี รวมแล้วเกิน 2 แสนล้านบาท และเมื่อรวมกับหนี้ต่างๆ รวมถึงวงเงินที่ต้องลงทุนเพิ่มเติม ทำให้ค่าต่ออายุสัมปทานสายสีเขียวเกิน 3 แสนล้านบาท

BTS โทลล์เวย์ วิภาวดี บีทีเอส รถไฟฟ้า สายสีเขียว ลาดพร้าว

ในขณะที่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินไม่ต้องแบ่งรายได้ ยกเว้นว่าผลตอบแทนลงทุนเกินกว่า 9.75% จึงจะจ่ายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ส่วนสายสีเขียว หากผลตอบแทนเกินกว่า 9.60% ต้องแบ่งรายได้ให้ กทม. เพิ่มอีก ซึ่งหากไม่ต่อสัมปทาน กทม. จะมีภาระที่ต้องหาเงินมาจ่ายหนี้ และต้องเก็บค่าโดยสารตามระยะทางโดยราคาสูงสุดอยู่ที่ 158 บาท


‘ศักดิ์สยาม’ จี้ทบทวนค่าโดยสาร

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ยังเห็นว่าอัตราค่าโดยสารสูงสุดที่ 65 บาท สูงกว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จึงเห็นว่าการพิจารณาค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อประชาชน สมควรพิจารณาภายใต้ข้อเท็จจริง ซึ่งยอมรับว่า ปัจจุบันประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าถึง 130 บาทต่อวัน คิดเป็นประมาณ 35% ของรายได้ขั้นต่ำ 300 บาท

ศักดิ์สยาม
  • ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

‘ศักดิ์สยาม’ ให้เหตุผลว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวผ่านจุดคุ้มทุนมาแล้ว โดยมีผู้ใช้บริการมากถึงวันละ 8 แสนถึง 1 ล้านคนเที่ยวคนต่อวัน แต่เก็บค่าโดยสารสูงสุดมากถึง 65 บาท เมื่อเทียบกับสายสีน้ำเงินที่มีผู้ใช้บริการประมาณ 3 แสนเที่ยว/คนต่อวัน แต่เก็บค่าโดยสารสูงสุดเพียง 42 บาทเท่านั้น

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้มีประเด็นคัดค้านการต่ออายุสัมปทานให้กับบีทีเอสจากหลายฝ่าย เพราะมองว่าเป็นการผูกขาด และเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่ง แต่อีกด้านก็ต้องยอมรับว่าเพื่อให้สามารถเดินรถได้ต่อเนื่องโดยที่ผู้โดยไม่ต้องเปลี่ยนขบวนรถถึง 3 ต่อ การต่ออายุสัมปทานจึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี ืทว่าบางเสียงให้ความเห็นว่าควรรอให้หมดอายุสัมปทานและนำกลับมาประมูลใหม่ ซึ่งอาจจะทำให้ค่าโดยสารถูกลง เพราะโครงสร้างรถไฟฟ้าจะกลับมาเป็นของรัฐ ซึ่งสามารถบริหารจัดการค่าโดยสารได้คล่องตัวมากกว่า