ไม่พบผลการค้นหา
"ชวลิต" ชี้คดีหวยบนดินมีหลายมิติ หวังเห็นบ้านเมืองยึดหลักนิติธรรม เสนอยกเลิกการพิจารณาลับหลัง เพื่อความเป็นธรรมของผู้ถูกกล่าวหา

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับคดีหวยบนดินว่า กลัวเห็นข่าวศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาจำคุก นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีหวยบนดิน เป็นเวลา 2 ปี จึงอยากข้อสังเกตไว้ให้สังคมได้รับทราบและได้บันทึกความเห็นในอีกมิติหนึ่งไว้เพื่อกรณีศึกษา ดังนี้     

1. ด้วยความเคารพในคำพิพากษาของศาล ไม่อาจวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษา ซึ่งอาจเป็นการละเมิดอำนาจศาล       

2. แต่ก็ควรมีการบันทึกความเห็นกระบวนการพิจารณา โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมขั้นต้น ไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองให้สาธารณชนและอนุชนรุ่นหลังได้รับทราบว่า คดีนี้กระบวนการยุติธรรมชั้นต้น เริ่มด้วย คตส. ที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ปี 2549 นับเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ปกติ ไม่เป็นไปตาม ป.วิอาญา ซึ่งขัดกับหลักนิติธรรม       

2. นโยบาย "หวยบนดิน" เป็นนโยบายที่ต้องการให้ "หวยใต้ดิน" ซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมายให้มาอยู่บนดิน อยู่ในที่เปิดเผย ให้ถูกกฎหมาย และมีรายได้เข้ารัฐ หากมองอย่างวิญญูชนทั่วไป ควรชมเชยนายทักษิณ ชินวัตร ที่มีนโยบายทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย ให้ถูกกฎหมาย และมีรายได้เข้ารัฐ

โดยนโยบายดังกล่าวออกมาก็เพราะเห็นว่า คนไทยชอบเล่นหวย แอบเล่นใต้ดิน สุ่มเสี่ยงถูกดำเนินคดี ทั้งยังเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่เก็บส่วย นโยบายนี้รัฐจึงมีแต่ได้กับได้ ส่วนจะมีข้อบกพร่องในการบริหารงานประการใด ก็สามารถนำข้อบกพร่องมาปรับปรุงได้ เพราะเพิ่งดำเนินการในระยะเริ่มต้น       

3. เมื่อบ้านเมืองเป็นปกติเป็นประชาธิปไตยเหมือนนานาอารยประเทศ ก็หวังที่จะเห็นความสามัคคีของประชาชนในชาติทุกหมู่เหล่า เพื่อร่วมกันพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญพัฒนาสถาพร

ประการสำคัญ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องคงจะได้ร่วมกันพิจารณาปรับปรุง พัฒนากระบวนการยุติธรรมของไทยให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศมากยิ่งขึ้น เช่น ควรยกเลิกการพิจารณาคดีลับหลังจำเลย ซึ่งแม้จะมี พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ออกมารองรับ แต่ พ.ร.ป. ดังกล่าวก็ออกมาในช่วงที่ระบบการเมืองไม่ปกติ สุ่มเสี่ยงกับการไม่ได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ เพราะการพิจารณาลีบหลังจำเลยขัดหลักนิติธรรม

ในท้ายที่สุดหวังว่า คดีที่การพิจารณาโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมปกติตาม ป.วิอาญา ควรจะได้รับการทบทวน หรือเยียวยาในอนาคตอย่างไร หรือไม่ สังคมควรฉุกคิดเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมของไทยได้รับความเชื่อมั่น และสร้างความสามัคคีของคนในชาติ ทั้งนี้มั่นใจว่า บุคคลที่ถูกกล่าวหาพร้อมที่จะต่อสู้คดี หากกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำยึดหลักนิติธรรม

อ่านเพิ่มเติม