ไม่พบผลการค้นหา
อาจารย์ ม.เชียงใหม่ อัดรัฐบาลเผด็จการ เปิดทางทุนใหญ่กอบโกยทรัพยากร รุกหน้า 'นิคมอุตสาหกรรมจะนะ'

จากกรณีการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ด้วยการเดินทางเข้ากรุงปักหลักค้างคืน บริเวณใกล้ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ตามโรดแมปของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์ข้อความให้ความเห็นถึงกรณีรุกคืบสิ่งแวดล้อมในดินแดนปลายด้ามขวาน ว่า เห็นรายชื่ออุตสาหกรรมทั้งหนัก ทั้งเบา ทั้งโรงไฟฟ้าต่างๆ ที่กำลังดาหน้าเข้าไปปิดล้อมทรัพยากรท้องถิ่นที่จะนะ จ.สงขลาแล้ว พูดได้คำเดียวว่า มหกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยโครงสร้างอันบิดเบี้ยวของระบอบกรรมสิทธิในทรัพยากร ทั้งทรัพยากรที่ดิน และทรัพยากรชายฝั่งที่ดำเนินอยู่ในสังคมไทยมาช้านาน


ความย้อนแย้งต่างชนชั้น

ในขณะที่ประชาชนเหยียบล้านในประเทศนั้นไร้ทั้งที่ดินทำกิน ไร้ทั้งที่อยู่อาศัย กลุ่มทุนปิโตรเลียม และปิโตรเคมีเพียง 2 แห่ง กลับถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินในเนื้อที่นับหมื่นไร่ในจะนะ นี่ไม่นับรวม “ที่ดินเปล่า”ที่ทุนผูกขาดถือครองโดยไม่ใช้ประโยชน์ในระยองอีกเป็นหมื่นไร่ ซึ่งหมายความว่า ในขณะที่มีเกษตรกรไร้ที่ทำกิน และคนยากจนกระเสือกกระสนที่จะมีที่ดินเพื่อดำรงชีพอยู่จำนวนมาก ที่ดินจำนวนมหาศาลกลับกระจุกตัวอยู่ในมือนายทุนไม่กี่กลุ่ม และปล่อยทิ้งไว้เฉยๆเพื่อรอปั่นราคาสร้างกำไรในตลาด

นอกจากครอบครองที่ดินมหาศาลแล้ว การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นชายฝั่ง ยังเปิดโอกาสให้ทุนผูกขาดสามารถเข้ายึดครองทรัพยากรชายฝั่งตลอดทั้งแนว พร้อมทั้งเปลี่ยนทะเลให้กลายเป็นท่อน้ำทิ้งขนาดใหญ่ และเป็นเส้นทางขนส่งสินค้า แบบฟรีๆ ทั้งหมดนี้ เป็นความร่วมมือ ร่วมใจ สมผลประโยชน์ระหว่างทุนผูกขาดกับรัฐเผด็จการทหาร โดยฝ่ายหลัง ทำหน้าที่เป็นรัฐนายหน้า ใช้อำนาจกฎหมายในการเอื้ออำนวยให้กลุ่มทุนสามารถเข้าไปกว้านซื้อที่ดินขนานใหญ่เพื่อเปลี่ยนให้เป็นสินค้าได้อย่างง่ายดาย


ความฉ้อฉลและไร้ความเป็นธรรม

คำถามเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษนิคมอุตสาหกรรม ที่จะนะ และที่อื่นๆ จึงไม่ใช่เรื่องแค่ผังเมืองสีม่วง หรือผังเมืองสีเขียว ประชาชนมีส่วนร่วม หรือไม่มีส่วนร่วมในการพัฒนา แต่เป็นเรื่องความฉ้อฉลและไร้ความเป็นธรรมของระบอบสิทธิในทรัพยากรและกรรมสิทธิในที่ดินของไทย ที่เปิดโอกาสให้ทุนขนาดใหญ่ มีอำนาจที่ไร้ขีดจำกัดในการเข้าปิดล้อม ถีบชาวบ้านออกจากทรัพยากรท้องถิ่นของตน แย่งยึดเอาทรัพยากรมาเป็นของตนอย่างไร้ยางอาย โดยท้องถิ่นปราศจากกลไกใดๆในการปกป้อง คุ้มครองสิทธิในทรัพยากรของตน

สถานการณ์ “ถีบคนออกจากทรัพยากรเพื่อแปรรูปให้เป็นสินค้า” ในนามของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ประเภทนี้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในประเทศด้อยพัฒนา ในอินเดีย ชาวบ้านจำนวนมากได้ลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐและนายทุน จนกลายเป็นสงครามที่ดินอันใหญ่โต การปราบปรามอย่างรุนแรงของรัฐต้องเผชิญกับการต่อสู้อย่างยืนหยัดของชาวบ้าน ซึ่งยังผลให้รัฐต้องทบทวนนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่เกษตรกรรมในที่สุด


พรากสิทธิเพื่อยังประโยชน์กลุ่มทุน

กรณีจะนะ เป็นที่ชัดเจนว่าการเปลี่ยนทรัพยากรท้องถิ่นให้กลายเป็นฐานเศรษฐกิจของทุนปิโตรเคมีขนาดใหญ่ เป็นการพรากสิทธิเพื่อยังประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนเพียงไม่กี่กลุ่ม ในขณะที่ชุมชนในท้องถิ่นจะไม่เหลืออะไรเลยจากกระบวนการดังกล่าว

มีแต่รัฐที่ฉ้อฉลเท่านั้นที่สนับสนุนนโยบายที่ทำลายสังคมและชุมชนเพื่อการสะสมทุนของทุนผูกขาด และมีแต่ประเทศที่ด้อยพัฒนาทางการเมืองเท่านั้น ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษขนาดใหญ่ยังคงถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการผูกขาดทรัพยากรที่ดินของกลุ่มทุน ทุบทำลายหลักความเป็นธรรมในการจัดการทรัพยากรลงโดยสิ้นเชิง