คณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลงมติเห็นชอบ ณ วันที่ 23 มิ.ย.2552 ตามคำขอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ยกวันที่ 5 มิ.ย.ของทุกปี เป็น 'วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ' เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่ข้าวสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้ชาติถึงปีละ 200,000 ล้านบาท ทั้งยังเป็นการเชิดชูเกียรติและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ชาวนาซึ่งเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของชาติ
อย่างไรก็ดี ชาวนาปัจจุบันกลับไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่น่ามีขวัญกำลังใจมากนัก ล่าสุดตัวเลขปริมาณการส่งออกข้าวไทย จากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ตกลงถึงกว่าร้อยละ 32 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) กระทบโดยตรงต่อรายได้ของเกษตรกร ด้วยเหตุนี้ 'ทีมข่าววอยซ์ออนไลน์' จึงอยากพาไปทำความเข้าใจความยากลำบากของชาวนาผ่านประเด็นภาระหนี้สินสะสมที่แก้ไม่ได้เหล่านี้
บทความ 'ครัวเรือนเกษตรกรไทยในวิกฤตโควิด-19' ตีพิมพ์บนเว็บไซต์สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เมื่อ 15 พ.ค.ชี้ว่า อ้างอิงข้อมูลจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ปี 2561 พบว่า ร้อยละ 50 ชาวนาไทย หรือราว 4.5 ล้านครอบครัวมีหนี้สิน (คิดเฉพาะการกู้ยืมจาก ธ.ก.ส.) มากกว่า 200,000 บาท ขณะที่อีกร้อยละ 20 ของตัวเลขชาวนาทั้งหมด มีหนี้สินในมูลค่าสูงกว่า 400,000 บาท โดยเป็นการกู้เพื่อเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนเป็นหลัก และมีการลงทุนในธุรกิจรองลงมา
อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งที่มาของปัญหาภาระหนี้สินของชาวนา ตามข้อมูลจากงานวิจัย 'Farms, Farmers and Farming: A Perspective through Data and Insights' (เกษตร เกษตรกร เกษตรกรรม: มุมมองจากข้อมูลและข้อมูลเชิงลึก) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งอ้างอิงจากบทความข้างต้น พบว่า จากระยะเวลาการศึกษาตั้งแต่ไตรมาส 1/2557 จนถึงไตรมาส 1/2561 อัตราการค้างชำระ (Delinquency Rate) ของชาวนาทรงตัวอยู่ที่ระดับร้อยละ 3 แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมาตั้งแต่ไตรมาส 1/2559 โดยหนึ่งในปัจจัยสนับสนุนภาระหนี้ของชาวนามาจากนโยบายช่วยเหลือของภาครัฐเสียเอง
ข้อมูลสะท้อนว่า ตั้งแต่ไตรมาส 1/2558 จนถึงไตรมาส 1/2561 นโยบายช่วยเหลือเกษตรกร อาทิ โครงการสินเชื่อเพื่อเปลี่ยนจากการปลูกนาปรังไปเป็นการปลูกข้าวโพด (ข้าวโพดหลังนา) บัตรเครดิตชาวนา ไปจนถึงการออกนโยบายสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำล้วนเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มภาระหนี้ให้กับชาวนา เท่านั้นยังไม่พอ แม้แต่มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ก็ยังเป็นการเปิดช่องให้ชาวนาก่อหนี้ก้อนใหม่เพิ่ม
เมื่อมามองมิติรายได้ของเกษตรกร ผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 720 ครัวเรือนทั่วประเทศ พบว่า รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีของชาวนาอยู่ที่เพียง 60,276 บาท (5,023 บาท/เดือน)
ทั้งยังมีสัดส่วนชาวนาถึงร้อยละ 27 ที่มีรายได้ไม่ถึง 12,559 บาท (1,046 บาท/เดือน) ซึ่งต่ำกว่าเส้นความยากจนของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ประจำปี 2561 ที่อยู่ที่ 2,710 บาท/เดือน และอีกเกือบร้อยละ 10 ของชาวนาไทยอยู่ในขั้นมีรายได้ติดลบ
บทความชี้ว่าครัวเรือนชาวนาไทยมีหนี้สินเฉลี่ย 3.4 ก้อน โดยเป็นหนี้คงค้างเฉลี่ย 416,143 บาทต่อครัวเรือน ทั้งนี้สัดส่วนภาระหนี้ของชาวนานราวร้อยละ 50 อยู่ที่จำนวนมากกว่า 300,000 บาทขึ้นไป และอีกร้อยละ 30 มีภาระหนี้สินเกิน 600,000 บาท ซึ่งมีแหล่งเงินทุนหลักจาก ธ.ก.ส.ราวร้อยละ 60 และสหกรณ์และกองทุนหมู่บ้านอีกร้อยละ 16 อย่างไรก็ตาม ความน่ากังวลอยู่ที่ตัวเลขหนี้นอกระบบที่กระจายตัวอยู่ถึงร้อยละ 35 ของครัวเรือนชาวนาทั้งหมด
ความเปราะบางด้านการเงินของเกษตรกรยังมาจากปัจจัยสำคัญอีกประการว่า ครัวเรือนเกษตรกรส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 76 หรือคิดเป็นตัวเลขราว 9.85 ล้านคน ต้องพึ่งพิงรายได้จากนอกภาคเกษตร ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 80 ของรายได้ทั้งหมดของครัวเรือน
แม้แรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยงรวมไปถึงธุรกิจการบินอาจถูกมองว่าเป็นกลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ แต่ข้อมูลก็สะท้อนถึงผลกระทบที่ซัดไปถึงฝั่งเกษตรกรรมของประเทศเช่นเดียวกัน
นอกจากจะต้องแบกรับปัญหาทางสภาพภูมิอากาศกับภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรโดยตรงซึ่งสะท้อนผ่านดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ที่อยู่ระดับ 102.21 หรือเป็นการลดลงร้อยละ 13.18 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และยังเป็นการลดลงถึงร้อยละ 22.13 เมื่อเทียบกับระดับ 131.26 ในเดือน มี.ค.2563 ชาวนาราวร้อยละ 29 ยังต้องต่อสู้กับความยากลำบากในการขายสินค้าจากข้อจำกัดของระบบขนส่งอันเป็นผลมาจากมาตรการล็อกดาวน์ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงไปของช่องทางการขายสินค้าและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตแทนตลาดชุมชน
สอดคล้องกับข้อมูลที่สะท้อนว่าครัวเรือนเกษตรกรจำนวนมากพึ่งพารายได้จากนอกภาคการเกษตร เมื่อเศรษฐกิจประเทศถูกหยุดแบบกะทันหัน อัตราการตกงานจึงมีเพิ่มมากขึ้น และท้ายที่สุดแรงงานที่เคยเป็นหัวแรงสำคัญในการหารายได้ของครัวเรือนในภาคเกษตรจึงขาดศักยภาพในการหารายได้ตรงนี้ไปด้วย
ซ้ำร้าย รายได้ที่ลดลงจากวิกฤตครั้งนี้ (หรือ income shock) ส่งผลทำให้ครัวเรือนเกือบร้อยละ 60 เริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้จากวิกฤตโควิด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการชำระหนี้สินเพื่อการเกษตรกับ ธ.ก.ส.เช่นเดียวกับสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ราวร้อยละ 20 ของเกษตรกรเริ่มมีปัญหาในการชำระคืนทั้งกับธนาคารพาณิชย์ สหกรณ์ กองทุนหมู่บ้าน และสถาบันนอกระบบต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนรายเล็กที่ได้รับผลกระทบมากกว่าแต่กลับเข้าถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐได้น้อยกว่าครัวเรือนเกษตรกรรายใหญ่
นักวิจัยคาดว่าหากสถานการณ์การแพร่ระบาดและการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องยืดเยื้อไปอีก 1 เดือน ร้อยละ 40 ของครัวเรือนจะเริ่มมีปัญหารายได้ไม่พออยู่กิน และมีปัญหาในการชำระหนี้อย่างมีนัยสำคัญ โดยหากสถานการณ์ยืดเยื้อต่ออีก 3 เดือน ปัญหาเหล่านี้จะขยายตัวเป็นวงกว้างถึงร้อยละ 80 ของชาวนาทั้งหมด และทางเลือกของชาวนาที่มีจะเป็นการกู้ยืมทั้งจากในระบบและนอกระบบเพื่อมาบรรเทาความเดือดร้อน
นักวิจัยย้ำในช่วงท้ายว่า การแก้ปัญหาภาคการเกษตรนั้น ต้องช่วยทั้งในระยะสั้นให้ครัวเรือนเหล่านี้สามารถอยู่รอดในวิกฤตอย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องมองหารูปแบบการแก้ไขในเชิงโครงสร้างของอุตสาหกรรมการเกษตรเช่นเดียวกัน เน้นไปที่การพัฒนาทรัพยากรน้ำ ดิน เทคโนโลยี ข้อมูล ระบบโลจิสติกส์ และการแก้หนี้สินครัวเรือน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;