10 ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมในเวที #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่มีต่อสถาบันหลักของไทย เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 กลายเป็นประเด็นถกเถียงในที่ประชุมวุฒิสภา และเร่งปฏิกิริยาให้นักการเมืองต่างพรรคออกมาแสดงความคิดเห็นกันคนละแง่คนละมุม
บ้างก็เตือนผู้ชุมนุมว่า "อย่าก้าวล่วง" เพราะหวั่นจะเกิดความขัดแย้ง เหมือนเป็นการรับลูก ส.ว.บางส่วนที่ระบุว่า การชุมนุมอาจจะเป็นชนวนให้เกิดความรุนแรง 'ซ้ำรอย' เหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519
แต่บางพรรคก็ยืนยันว่า ข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุม "เป็นสิ่งที่สามารถพูดคุยและถกเถียงกันได้ในระบอบประชาธิปไตยฯ" แต่จะต้องขยายพื้นที่ปลอดภัยให้แก่เยาวชนผู้ผลักดันให้เกิดข้อเรียกร้องในการชุมนุมดังกล่าวขึ้นมา
เวลาไล่เลี่ยกัน กลุ่ม Media Inside Out ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อสังเกตการณ์สื่อมวลชนไทย ก็ได้จัด 'เวทีฉุกเฉิน' เพื่อสนทนากับ '3 สื่ออาวุโส' เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ในหัวข้อ "สื่อกับสถานการณ์การชุมนุม" มีผู้ร่วมแลกเปลี่ยน คือ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ The Nation, ฐปนีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งเพจข่าว The Reporters และผู้ประกาศข่าวภาคสนามรายการข่าวสามมิติ ส่วน 'นวลน้อย ธรรมเสถียร' สื่อมวลชนอิสระ อดีตผู้สื่อข่าว BBC Thai เป็นผู้ดำเนินการสนทนา
เหตุผลเบื้องหลังการจัดเวทีฉุกเฉินครั้งนี้ 'นวลน้อย' กล่าวถึงการปราศรัยและข้อเรียกร้องของแกนนำการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา ถือเป็นความท้าทายสำคัญที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในไทย แต่ท่าทีของสื่อกระแสหลักในการรายงานข่าว (และไม่รายงานข่าว) ทำให้คนในสังคมถกเถียงและส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างเข้มข้น
'สุภลักษณ์' บก.คนสุดท้ายของหนังสือพิมพ์ The Nation ซึ่งเลิกพิมพ์ไปเมื่อเดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว เปิดบทสนทนาว่า การชุมนุมประท้วงตามท้องถนนไม่ใช่เรื่องใหม่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเยาวชนวัยเรียน หรือคนมีอายุประมาณหนึ่ง ต่างเคยเห็นการชุมนุมประท้วงมาแล้วบ่อยครั้ง แต่การชุมนุมในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ถือว่า 'แปลก' และทำให้คนจำนวนมากตกอกตกใจกับสิ่งที่พูดบนเวที
"นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตของผมนะ ที่เคยเห็นว่ามีเรื่องนี้พูดกันบนท้องถนน"
สุภลักษณ์ทบทวนประสบการณ์ราว 30 ปีของการทำหน้าที่สื่อมวลชนของตัวเอง โดยกล่าวถึงการทำงานใต้รั้ว The Nation ซึ่งแม้จะเป็นสื่อภาษาอังกฤษ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายและบริบททางสังคมที่ไม่แตกต่างจากสื่อภาษาไทย จึงมี 'เรื่องต้องห้าม' (taboo) บางประเด็นร่วมกัน
"เรื่องที่เราถือว่าเป็น taboo ร่วมกันก็คือเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะยังไงก็เขียนอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้ อย่าว่าแต่วิพากษ์วิจารณ์ ผมคิดว่านักข่าวในเจเนอเรชันผม เราไม่เคยคิดว่าจะต้องรายงานข่าวเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่เขาพูดกันในที่ชุมนุม เพราะเวลาเรารายงานข่าว ก็แทบจะก็อปปีข่าวในพระราชสำนักของทีวีอยู่แล้ว"
เหตุผลที่ทำให้แวดวงสื่อมวลชนไทยมีเรื่องนี้เป็นประเด็นต้องห้าม ไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมายที่เข้มงวด แต่สุภลักษณ์ระบุเพิ่มเติมว่า การคลั่งไคล้สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างล้นเกินของคนบางกลุ่มในสังคมไทยช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา รวมถึงการใช้ประเด็นสถาบันฯ ในการต่อสู้ทางการเมือง ทำให้สื่อกระแสหลักเกรงว่าตัวเองจะตกเป็นเป้า 'เรียกแขก' และกลัวการรายงานข่าวจะถูกนำไป 'ยัดปากคนอื่น' จนมีผู้เดือดร้อนตามมา
"เรากลัวกฎหมายประมาณ 3 ตัว (กฎหมายอาญา) มาตรา 112, 116 แล้วก็ พ.ร.บ.คอมฯ อันนี้คือที่เราอ้างว่า มันเป็นข้อห้ามทางกฎหมาย แต่ที่ผมสังเกตอีกอย่างว่าเหตุที่เรากลัวในระยะหลัง เป็นการกลัวในลักษณะของอุดมการณ์ด้วย"
"ผมจำได้ว่าหลายครั้งเวลาเราดีเบต (ในกอง บก.) ว่าจะเล่นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์แค่ไหน มันจะมีสุ้มเสียงทำนองว่า เราไม่ควรละเมิด เรื่องนี้ไม่บังควร เรื่องนี้มันไม่สมควร เรื่องนี้จะทำให้ประเทศชาติเสียหายในระดับชื่อเสียงหน้าตาของประเทศ ผมว่าอันนี้ก็คืออุดมการณ์ราชาชาตินิยมที่มีผลอย่างรุนแรงในวงการนี้"
สุภลักษณ์ยกตัวอย่างกรณีการยึดทรัพย์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ หลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ต้องแถลงต่อสาธารณะเพื่อชี้แจงต่อผู้ลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งในฐานะสื่อมวลชนก็ต้องรายงานข่าว แต่ปรากฏว่าคนในกอง บก.เกิดความกลัว เพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่อง 'ไม่บังควร'
"เราพากันพูดว่าสื่อมวลชนที่ดีมันควรจะปลอดอุดมการณ์ มันไม่ควรจะอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ในที่สุดอุดมการณ์นี้ก็มีผลอย่างมาก มันทำให้สื่อละเว้น งดเว้น และแม้กระทั่งเซ็นเซอร์ตัวเองในประเด็นเหล่านี้"
กระแสวิพากษ์วิจารณ์ของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทยที่มีต่อ 10 ข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมในเวทีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต แบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายใหญ่ๆ คือ ผู้ที่เห็นด้วยกับข้อเสนอ จึงไม่พอใจที่สื่อกระแสหลักไม่รายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างละเอียดและตรงไปตรงมา ส่วนอีกกลุ่มคือผู้ที่ไม่พอใจข้อเสนอ จึงไม่พอใจสื่อที่รายงานข่าวการชุมนุมซึ่งพวกเขามองว่า 'จาบจ้วงสถาบัน'
ประเด็นนี้ 'ฐปนีย์' ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะนักข่าวสายการเมืองและสิทธิมนุษยชนที่มีผลงานต่อเนื่องคนหนึ่งของไทย บอกเล่าการตัดสินใจว่าจะรายงานข่าวหรือไม่-อย่างไรในแพลตฟอร์มรายการข่าวสามมิติทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ซึ่งถูกนับเป็นสื่อกระแสหลัก
"ประกาศฉบับที่ 1 ของน้องนักศึกษาที่อยู่บนเวที ที่จริงเราก็ช็อกนะ ช็อกในความหมายว่าเราไม่คิดว่าวันหนึ่งเราจะได้ยินสิ่งเหล่านี้มาพูดบนเวทีที่อยู่ท่ามกลางผู้คนแบบนั้น ทันทีที่ยืนฟังคำประกาศ เราถามตัวเองในใจ กูจะเขียนข่าวยังไงวะ"
ฐปนีย์กล่าวว่า สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของสื่อ ล้วนเกี่ยวพันกับการรายงานข่าวให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริงและสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ประเด็นต้องห้าม ซึ่งถูกเรียกอีกอย่างได้ว่า 'เรื่องละเอียดอ่อน' ทำให้สื่อมวลชนต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจะนำเสนออย่างไร แต่ถึงที่สุดแล้ว หน้าที่ของสื่อมวลชนก็คือการรายงานข้อเท็จจริง
"มีคนถามว่าเรากล้าที่จะรายงานข่าวนี้เหรอ ก็อยากจะบอกว่า มันไม่ใช่ความกล้านะคะ 'มันเป็นหน้าที่' ที่เราเป็นผู้สื่อข่าวในสถานการณ์แบบนี้ หน้าที่ของนักข่าวคือการรายงานข้อเท็จจริงของสิ่งที่เกิดขึ้น เราต้องบอกกับสังคมได้ว่าที่นั่นมีการพูดคุยเรื่องอะไร"
ฐปนีย์ย้ำอีกว่า ประเด็นที่เกิดขึ้นในการชุมนุมครั้งนี้แตกต่างกับทุกครั้ง ดังนั้น บริบทของสื่อในการตัดสินใจว่าจะรายงานหรือไม่รายงาน "จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป"
"หลักการพื้นฐานที่นักข่าวควรจะรู้ คือ เมื่อมีคนถูกจับกุมเพราะเขาพูดถึงเรื่องนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะรายงานเนื้อหาที่เขาพูดได้ทั้งหมด"
นอกจากต้องคำนึงถึงกฎหมายซึ่งกำกับดูแลด้านการสื่อสารในสังคมไทยแล้ว สื่อกระแสหลักยังต้องทำงานภายใต้ความซับซ้อนหลายอย่าง ซึ่งฐปนีย์อธิบายว่า นักข่าวจะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่รายงาน แต่อีกฝั่งหนึ่งก็ต้องคำนึงถึง 'โครงสร้างขององค์กร' ด้วย จึงไม่ใช่สื่อทุกสื่อที่จะรายงานข่าวดังกล่าวได้
"นักข่าวทำงานอยู่ภายใต้องค์กรสื่อที่แตกต่างกัน ดังนั้นจะมาว่านักข่าวไม่ทำข่าวไม่ได้นะคะ นักข่าวทุกคนมีจิตวิญญาณ มีจิตสำนึก เขาไปทำข่าวคือไปทำหน้าที่ของเขาแล้วค่ะ ส่วนเขาจะรายงานข่าวได้ไม่ได้ มันขึ้นอยู่กับองค์กรของเขาว่าจะนำเสนอหรือไม่"
ส่วนมุมมองของ 'สุภลักษณ์' มองว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีการต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมือง จนเกิดความขัดแย้งต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน สื่อจำนวนมากก็ตัดสินใจอย่างเด็ดขาดที่จะ 'เลือกข้าง' ไปแล้ว และนำเสนอ 'วาระทางสังคม' ที่ขึ้นอยู่กับกลุ่มชนชั้นนำแต่ละฝ่าย เพื่อความอยู่รอดขององค์กรสื่อ การวิพากษ์วิจารณ์จึงไม่เกิดขึ้นมากนักในสื่อหลักที่เหลืออยู่
หากเมื่อย้อนกลับมาดูการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อกระแสหลักที่ยังคงเหลืออยู่นี้ จำเป็นต้องถกกันว่า 'เพดาน' หรือขอบเขตในการรายงานข่าวแบบมืออาชีพจะต้องมี 'เส้นแบ่ง' ที่ตรงไหน และ 'ใคร' มีความชอบธรรมเพียงพอจะกำหนดเส้นแบ่งการรายงานสถานการณ์การชุมนุมที่แตะไปถึงประเด็นที่เคยเป็นเรื่องต้องห้ามและทำให้เกิดการถกเถียงตามมาในสังคม
"ผมคิดว่าสื่อร้อยละ 80 หรือ 90 เขียนอยู่ในเอเจนดาของอีลีต เพราะฉะนั้น อีลีตว่ายังไง เขาก็ว่าอย่างนั้นแหละ ปัจจุบันเราจะพบประกาศข่าวทางราชการมากกว่าจะเป็นข่าวจริงๆส่วนใหญ่เขาจะเลือกประเด็นบางอันที่มันไม่ระคายเคืองมา เขาก็จะสามารถเล่นได้ อาจจะมีการวิพากษ์วิจารณ์บ้าง เล็กๆ น้อยๆ ในประเด็นที่ไม่กระเทือนอีลีต"
"แม้แต่กรณีกระทิงแดง (วรยุทธ อยู่วิทยา) ก็อาจจะเป็นประเด็นที่พูดกันได้ในข้อกฎหมายยิบย่อย การทำงานของอัยการในลักษณะปัจเจก การทำงานของตำรวจในลักษณะปัจเจก โรงพักนั้น โรงพักนี้มีบ่อน โรงพักนั้นไม่มีบ่อน เป็นแค่เรื่องเทคนิค แต่ที่เป็นคุณค่าใหญ่ สื่อกระแสหลักจะไม่แตะ จะไม่วิพากษ์วิจารณ์มาก"
"สิ่งที่กำลังเป็นประเด็นตอนนี้คือเส้นแบ่งจะอยู่ตรงไหน...ผมเห็นด้วยว่าเราจะต้องพูด แต่คำถามคือใครล่ะจะเป็นคนกำหนดเส้นแบ่งนี้ วงการสื่อสารมวลชนเป็นเอกภาพพอไหม มีอำนาจชอบธรรม (legitimacy) พอไหมที่จะกำหนดเส้นแบ่งเช่นว่านั้น ถ้าสมมติสมาคมนักข่าวฯ กำหนด ถ้าผมไม่ใช่สมาชิกสมาคมนักข่าวฯ ผมไม่เชื่อ ผมข้ามเส้น หรือแม้กระทั่งผมออกนอกเส้น จะเกิดอะไรขึ้น"
"มันก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณสามารถที่จะดีลกับเรื่องนี้ได้หรือเปล่า ผมว่านักข่าวเด็กๆ เล็กๆ อาจจะดีลไม่ได้ เขาบอกว่ากลับบ้านแล้วโดนแม่ด่า มึงเขียนข่าวอะไรของมึง หรือเพื่อนว่า ผู้ใหญ่ออกมาแสดงท่าที นี่มันลบหลู่ นี่มันหมิ่นเหม่ คำพูดเหล่านี้มันถูกใช้และถูกฝังหัวมานาน"
ในทัศนะของ 'สุภลักษณ์' สื่อที่มีบทบาทอยู่ในสังคมไทยในทุกวันนี้ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 'mainstream media' (สื่อกระแสหลัก) ที่จำกัดความเฉพาะ 'สื่อที่บริหารจัดการโดยนักข่าวมืออาชีพ' (professional journalist) ซึ่งก็คือ ผู้ที่มีอาชีพเป็นนักข่าว ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการรายงานข่าว เขียนคอลัมน์ และต้องยึดหลักจรรยาบรรณสื่อ อาจหมายความได้ทั้งทีวี วิทยุ และสื่อออนไลน์บางส่วนที่ดำเนินการโดยนักข่าวมืออาชีพ
อีกกลุ่มหนึ่ง คือ 'egocentric media' (สื่อที่มีปัจเจกบุคคลเป็นหลัก) แต่มีผู้บริหารจัดการในภาพใหญ่ คือ 'Big Tech' ซึ่งหมายถึงเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยเนื้อหาที่เผยแพร่ผ่านสื่อเหล่านี้เกิดจากบุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งจะแสดงตัวตนหรือปกปิดตัวตนที่แท้จริงผ่านสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้ก็ได้ และเนื้อหาที่นำเสนอก็หลากหลาย ตั้งแต่การเมืองไปจนถึงอาหาร-สัตว์เลี้ยง
เมื่อผนวกกับปัจจัยเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้สื่อกระแสหลัก "ล้มหายตายจากโดยสภาพ" หลายสื่อไม่สามารถอยู่รอดได้ เพราะการเกิดขึ้นของ social media และ technology disruption (เทคโนโลยีมีบทบาทให้เกิดการเปลี่ยนแปลง/ปั่นป่วน)
ส่วนสื่อกระแสหลักที่ยังอยู่ก็ไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาแบบเดิมๆ ได้อีกต่อไป เพราะต้องแข่งขันกับโซเชียลมีเดียตลอดเวลา จึงมีปรากฏการณ์ที่สื่อหลักติดตามโซเชียลมีเดียของพวกคนดังในแวดวงต่างๆ แล้วเอามาปั้นใหม่เป็นข่าว
"นานๆ คุณจะเห็นสื่อเมนสตรีมเปิดประเด็นข่าวเรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ก็คือคอมเมนต์ตามโซเชียลมีเดียเป็นหลัก เพราะว่าโซเชียลมีเดียคือคนแรกๆ ที่เปิดประเด็นเรื่องโน่นนี่นั่น โซเชียลมีเดียมีดีตรงที่ว่าคนที่อยู่ในเหตุการณ์ คนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นโดยตรง เป็นคนเปิดประเด็นขึ้นมาเอง สื่อเมนสตรีมก็จะติดตามแล้วรายงานข่าวขึ้นมา"
เมื่อพูดถึง 'ความคาดหวังของสังคมไทย' ที่มีต่อสื่อกระแสหลักแบบดั้งเดิม หมายถึง 'พื้นที่สาธารณะที่เป็นทางการ' ซึ่งถูกบันทึกไว้ และได้รับการตรวจสอบยืนยันข้อเท็จจริง รวมถึงถ่วงดุลก่อนที่จะเผยแพร่ แต่ปัจจุบัน สื่อกระแสหลักไม่ได้ผูกขาดความจริงอีกต่อไป
"ผมว่าคนทั่วไปซึ่งอยู่ในเจเนอเรชันที่มาจากโลกที่ตื่นเช้ามาอ่านหนังสือพิมพ์ ตกเย็นดูทีวี เขาจะรู้สึกว่าอะไรที่ปรากฏในสื่อก็คือความจริง อะไรที่มันปรากฏในสื่อนั่นคือเรื่องที่ได้รับการยืนยันตรวจสอบแล้ว นั่นคือมาตรฐานในการปฏิบัติงานของนักข่าว"
"เราจะเชื่อทีวีที่มันบอกมาเมื่อเรามองเห็นภาพ เราเชื่อหนังสือพิมพ์เพราะว่าเขาตรวจสอบข่าวนี้มาแล้ว เพราะฉะนั้นคนทั่วๆ ไป โดยเฉพาะในเจเนอเรชันผม ก็ยังคิดว่านี่คือความจริง จะราคาสิบบาทยี่สิบบาทก็ช่าง แต่นี่คือความจริง"
"แต่สถานการณ์ของสื่อกระแสหลักทุกวันนี้ เราไม่ได้เป็นผู้ผูกขาดความจริงอีกต่อไปแล้ว" สุภลักษณ์กล่าวย้ำในการสนทนา
"เราสูญเสียสถานะนั้นค่อนข้างจะนานมากแล้ว"
หลังจากพูดคุยถึงการทำหน้าที่ของสื่อกระแสหลักในปัจจุบันบนเวทีสนทนาได้สักพัก 'นวลน้อย' กล่าวถึงสถานการณ์การชุมนุมขณะนี้ที่สะท้อนว่า "มีความขัดแย้งที่ค่อนข้างจะเห็นได้ชัด" เกิดขึ้น แต่การรายงานข่าวสถานการณ์นั้นดูเหมือนว่า 'สื่อกระแสหลัก' จะถูกตั้งคำถามมากกว่าสื่อสังคมออนไลน์
เสียงสะท้อนที่ได้ยิน คือ สื่อหลักรายงานข่าวเรื่องการชุมนุมไม่ตรงกับสิ่งที่คนอยากจะเห็น โดยเฉพาะประเด็นข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม
กรณีที่มีการรายงานผ่านสื่อกระแสหลัก ข้อเรียกร้องหรือเป้าหมายในการชุมนุมก็มักถูกบิดเป็นเรื่อง 'ล้มเจ้า' ทั้งที่สาระสำคัญในข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมเป็นคนละเรื่องกัน นำไปสู่การเคลื่อนไหวในสภาของกลุ่ม ส.ว.ที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้อง ทั้งยังมีการตั้งประเด็นว่า สิ่งที่พูดกันในที่ชุมนุมนั้น "สร้างความอึดอัดให้กับผู้คนจำนวนหนึ่ง"
นวลน้อยตั้งคำถามว่า นี่ใช่ 'เพดาน' หรือ limit ที่สื่อกระแสหลักต้องพิจารณาว่าจะรายงานหรือไม่รายงานข่าวหรือไม่ เพราะหากว่าบางเรื่องกลายเป็นประเด็นที่สร้างความอึดอัดให้กับผู้คนจำนวนหนึ่ง สื่อต้องทำหน้าที่อย่างไรถึงจะไม่ทำให้ตัวเองกลายเป็นคนจุดชนวนให้ความขัดแย้งนั้นบานปลายมากขึ้น
สุภลักษณ์ย้ำว่า เขาพูดถึงสถานการณ์สื่อในประเทศไทยจากมุมมองของคนที่เคยทำสื่อ และเป็นผู้บริโภคสื่อในปัจจุบัน การเผยแพร่ข้อมูลของสื่อแบบ egocentric ผ่านแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้สื่อกลุ่มนี้ 'ไปไกล' เกินหน้าสื่อกระแสหลักซึ่งถูกรัฐควบคุมจนเซ็นเซอร์ตัวเอง พร้อมยกตัวอย่างกรณี ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง เรียกร้องให้ควบคุมการรายงานของสื่อเพิ่มเติมในการประชุมเมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา
"ผมคิดว่าโซเชียลมีเดียกำลังจะ establish (จัดตั้ง) ตัวมันเองเป็นพื้นที่สาธารณะมากขึ้นทุกที พื้นที่เซ็นเซอร์จะเหลือน้อยลง จำกัดลง ตอนนี้รัฐคุมสื่อกระแสหลักได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เซ็นเซอร์ด้วยอุดมการณ์ เซ็นเซอร์ด้วยกฎหมาย เซ็นเซอร์ด้วยจารีตประเพณี แต่โซเชียลมีเดียเซ็นเซอร์ค่อนข้างยาก"
"ตอนนี้โซเชียลมีเดียไปไกลแล้ว แต่ว่าสื่อกระแสหลักยังไปไม่ถึงไหน และยังต้องใช้เวลากว่าจะไปถึงจุดนั้น"
"แต่ในความเห็นผม คิดว่าสื่อเมนสตรีมคงไปไม่ถึงแล้วล่ะ เพราะ ส.ว.ก็ออกมาตั้งกำแพงกันเพียบเลย จะขอให้ควบคุมไม่ให้มีการรายงานสื่อด้วยซ้ำไป ผมนั่งดูก็ยังขำว่า อ๋อเหรอ ไอ้สื่อพวกนี้มันคงขายไม่ออกหรอกในที่สุด เพราะถูกห้ามแล้ว ต่อไปคนก็หามาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก สิครับ คุณจะมารอฐปนีย์ทำไม"
อย่างไรก็ตาม นวลน้อยแย้งว่า การควบคุมแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ก็ทำได้เช่นกัน ซึ่งสุภลักษณ์กล่าวว่า กระทรวงต่างๆ ของไทยอาจจะกำลังเขียนจดหมายถึงเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์เพื่อขอให้ดำเนินการบางอย่างก็เป็นได้ แต่เสรีภาพในการใช้โซเชียลมีเดียยุคนี้แตกต่างจากสื่อกระแสหลัก เพราะประชาชนมีเสรีภาพในการเข้าถึงสื่อเพิ่มขึ้น
"ถ้าเฟซบุ๊กถูกควบคุมมาก คุณย้ายไป Minds สิ ทวิตเตอร์ก็ได้ คุณย้ายไปแพลตฟอร์มอื่นสิ เพราะฉะนั้นประชาชนมีเสรีภาพในการเข้าถึงสื่อ มากกว่าสื่อมีเสรีภาพในการทำงาน เพราะฉะนั้นสองอย่างนี้ไม่สมดุลกันในปัจจุบัน"
ประเด็นประชาชนมีเสรีภาพมากกว่าสื่อมีเสรีภาพในการทำงานที่สุภลักษณ์กล่าวถึง ทำให้นวลน้อยตั้งคำถามว่า นี่เป็นการหาข้อแก้ตัวให้สื่อกระแสหลักอยู่หรือไม่?
"ใช่ครับ" คือคำตอบรับอย่างตรงไปตรงมาของสุภลักษณ์ "เรากำลังหา excuse ให้ตัวเอง"
เขาขยายความเพิ่มเติมว่า 10 ข้อเรียกร้องของนักศึกษา และสิ่งที่ 'อานนท์ นำภา' พูดบนเวที มธ.ศูนย์รังสิตเมื่อ 10 ส.ค. "ไม่มีอะไรผิดกฎหมาย" แต่สื่อกระแสหลักไม่ได้ถูกกำกับด้วยกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่ถูกกำกับด้วยจารีตประเพณีของการพูดถึงสถาบันหลักในประเทศไทย ซึ่งเป็นเช่นนี้มายาวนานต่อเนื่องหลายทศวรรษ
สุภลักษณ์ยกตัวอย่างที่บ่งชี้ว่าเพราะเหตุใดสื่อกระแสหลักจึงไม่มีเสรีภาพมากพอที่จะเคลื่อนเพดานการรายงานข่าวเทียบเท่าสื่อสังคมออนไลน์ เพราะความคาดหวังกับความเป็นจริงนั้นแตกต่างกันมาก
เขากล่าวถึงกรณีที่ระบบของเฟซบุ๊กแปลคำภาษาไทยในเพจของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งรายงานเหตุการณ์จุดเทียนถวายพระพรในวันคล้ายวันพระราชสมภพ 28 ก.ค. 'ผิดพลาด' ทว่ากระแสเรียกร้องจากสังคมให้เอาผิด-ดำเนินคดี หรือเรียกร้องความรับผิดชอบ กลับพุ่งไปที่ 'ไทยพีบีเอส' แทนที่จะเป็น 'เฟซบุ๊ก' ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการแพลตฟอร์มออนไลน์ยอดนิยมที่เป็นผู้ควบคุมระบบแปลภาษาดังกล่าว
"ไอ้โรบอตนั่นมันผิด ทำไมคุณไม่เอาผิดกับโรบอต คุณมาเอาผิดกับไทยพีบีเอสทำไม อันนี้คือตัวอย่างว่า เราไม่ได้อยู่ในสุญญากาศของเสรีภาพที่มากมายที่จะทำอะไรขนาดนั้นได้"
อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงบนเวทีสนทนาด้านสื่อมวลชนในครั้งนี้ คือ การตั้งคำถามเรื่องการรายงานสดสถานการณ์บนเวทีชุมนุม มีความจำเป็นหรือไม่ อย่างไร เพราะการรายงานโดยที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือถ่วงดุล ไม่ได้ถูกต้องตามหลักการสื่อที่ควรจะเป็น แต่กลายเป็น new normal ในแวดวงสื่อไทยมาสักพักใหญ่ๆ แล้ว
สุภลักษณ์กล่่าวว่า การรายงานเหตุการณ์สดหรือไลฟ์ผ่านทางแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นเรื่องปกติของสื่อแบบ egocentric ทำให้สื่อกระแสหลักถูกกดดันกลายๆ ให้ต้องใช้วิธีการนี้ในการสื่อสารประเด็นข่าวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะถ้าไม่ทำแบบนี้ก็อาจจะตกขบวนได้
"พูดถึงเรื่องไลฟ์ ทำไมต้องไลฟ์ เพราะคนอื่นเขาไลฟ์ไง ถ้าเมนสตรีมไม่ไลฟ์เขาก็ไม่รอคุณไง จะรออะไรล่ะ ถามว่าในสายตาคุณ เหตุการณ์ (กราดยิง) ที่โคราช ผิดจรรยาบรรณไหม ผิดตั้งแต่ต้นจนจบเลย สื่อจะทำไหมแบบนั้น สื่อไม่ทำ แต่ชาวบ้านรอไหม ไม่รอครับ"
"ถ้าจ่ารายงาน ผมก็ดูของจ่าสิครับ ผมจะรอคุณแยม (ฐปนีย์) รึ? ก็ไม่"
"ผมไม่ถามคุณแยม ผมถามจ่า นี่ผิดจรรยาบรรณสื่อไหม ผิดแน่นอน แต่ผู้บริโภคต้องการไหม? ต้องการ"
ส่วนฐปนีย์ซึ่งมีบทบาททั้งการเป็นสื่อกระแสหลักในรายการข่าวสามมิติ และผู้ก่อตั้งเพจข่าว The Reporters ในเฟซบุ๊ก สะท้อนภาพการทำงานที่ต้องปรับเปลี่ยนตามเทคโนโลยีทุกวันนี้ให้ทัน โดยยอมรับว่า ภายใต้โครงสร้างสื่อที่เป็นอยู่ ผู้บริโภคไม่ได้คาดหวังกับสื่อกระแสหลักว่าจะรายงานในสิ่งที่คนจำนวนหนึ่งอยากจะเห็นหรืออยากจะฟัง เพราะคนดูเองก็มีทางเลือกในการบริโภคสื่อมากขึ้น แต่สื่อหลักต้อง 'ทำการบ้าน' เมื่อต้องรายงานประเด็นที่คนไม่ได้พูดกันอย่างเปิดเผยมาก่อน เช่น กรณีข้อเรียกร้อง 10 ประการ
"ไม่ว่าจะมีสถานการณ์ใดเกิดขึ้นในสังคม สื่อก็ต้องรายงาน นั่นเป็นหน้าที่ของสื่อ แต่สิ่งไหนที่พูดได้ไม่ผิดกฎหมายอย่างที่พี่สุภลักษณ์บอก ก็ต้องไปปรึกษานักกฎหมายหลายที่เหมือนกัน...เราไม่ได้มีองค์ความรู้มาก่อน นักข่าวก็ตกอกตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น กลัวจะผิดกฎหมาย ดังนั้นมันก็ต้องช้านิดนึง ไม่ได้เร็วแบบทันเหตุการณ์ ต้องหาข้อมูลกันก่อน"
ฐปนีย์ยกตัวอย่างกรณีการปราศรัยข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นที่ธรรมศาสตร์ รังสิต และประเด็นของทนายอานนท์ ซึ่งถูกออกหมายจับกุมจากการปราศรัยก่อนหน้านี้ โดยระบุว่า ไม่มีการรายงานสดผ่านรายการข่าวสามมิติและเฟซบุ๊กเพจ เพราะต้องระมัดระวังไว้ก่อน เนื่องจากไม่รู้ว่าคำพูดต่างๆ จะเป็นอย่างไร จึงต้อง 'ฟังก่อน' แล้วค่อยรายงานในภายหลัง
"เราต้องใช้เวลาฟังและทำความเข้าใจการปราศรัย ไม่ได้รายงานเรื่องนี้ออกทีวี แต่ในเพจ ก็จะฟังแล้วมาเขียนสรุปเอา" ฐปนีย์กล่าว
"ถ้าจะรายงานประเด็นนี้ จะทำอะไรได้บ้างที่มันเหมาะสม? ทั้งเรื่องการทำหน้าที่ของสื่อที่จะต้องรายงานข่าวให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริง แต่เป็นการทำหน้าที่อยู่ภายใต้กรอบข้อกฎหมาย แล้วก็เป็นความรับผิดชอบของเราเอง สุดท้ายก็รายงานข่าวเน้นไปในเรื่องว่ามีข้อเรียกร้องไปถึงสถาบันฯ และเขายืนยันหลักการแบบนี้"
ในเวทีสนทนามีการกล่าวว่า การรายงานสดหรือการปรับตัวของสื่อกระแสหลักให้ทันกับสื่อสังคมออนไลน์แบบ egocentric เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการขยายเพดาน หรือ push the limit ที่กำกับควบคุมการรายงานของสื่อกระแสหลักที่ผ่านมา
'รอมฎอน ปันจอร์' จากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) หนึ่งในผู้ร่วมฟังเวทีสนทนาของ Media Inside Out ตั้งคำถามกับผู้อยู่บนเวที โดยยกสถานการณ์การชุมนุมในปัจจุบันที่มีการตั้งคำถามกับสถาบันหลักของประเทศไทย เปรียบเทียบกับการเคลื่อนไหวเพื่อเปิดพื้นที่ถกเถียงทางการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงก่อนจะเกิดการรัฐประหารเมื่อปี 2557 สื่อควรมีบทบาทในการขยับขยายเพดานหรือสร้างพื้นที่การถกเถียงและเสนอทางเลือกให้กับคนในสังคมอย่างไร
"บางทีเงื่อนไขที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน อาจจะเป็นสัญญาณบวกว่าเราอาจจะเห็นการถกเถียงที่ดีกว่านี้ มีสติกว่านี้ และมีทางเลือกอย่างอื่นมากกว่านี้ กรณีภาคใต้ก็มีอยู่ห้วงเวลาหนึ่งที่เป็นแบบนี้ แล้วอยู่ๆ ก็หายไป" รอมฎอนกล่าว
ฐปนีย์ตอบว่า "เห็นด้วย" พร้อมยกตัวอย่างกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ทำไมตัวแทนของรัฐไทยและสื่อต่างๆ ถึงต้องไปคุยกับ 'บีอาร์เอ็น' ที่เป็นกลุ่มติดอาวุธ เพราะรัฐไทยต้องรู้ว่าบีอาร์เอ็นต้องการอะไร ไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาหรือหาทางออกร่วมกันได้
"เวลาเราจะทำอะไรสักข่าว ไม่ได้คิดว่าจะส่งเสริมหรือ propaganda แต่เรารายงานเพื่อให้เกิดการรับรู้ของคนในสังคม โดยเฉพาะเรื่องที่คนมีความคิดเห็นต่างกัน เราก็ต้องยิ่งไปพูดคุยกับคู่ขัดแย้ง"
"สื่อมีหน้าที่ไปรายงานสิ่งที่แต่ละฝ่ายคิด เพื่อให้เขาได้พูดในสิ่งที่เขาเรียกร้องหรือต้องการออกมา เพื่อให้สังคมมาร่วมถกเถียง แล้วสังคมและผู้มีความรับผิดชอบก็จะได้ช่วยกันหาทางออก"
ทางด้านสุภลักษณ์เองก็ตอบอย่างชัดเจนว่า "เห็นด้วย" เรื่องบทบาทสื่อมวลชนที่ควรจะก้าวหน้าในห้วงเวลานี้ เพราะถ้าอ้างอิงหลักการวารสารศาสตร์ก็ต้องพูดว่า สื่อต้องขยายเพดาน หรือ push the limit ตลอดเวลา
เขายืนยันว่า ถึงเวลาแล้วที่สื่อจะต้องพูดถึงประเด็นที่คนในสังคมสนใจ ถ้าสื่อไหนไม่พูดก็อาจจะต้อง "ตกเวทีไป"
"เราต้องลอง push the limit ขยายพื้นที่ให้มันเถียงกันได้มากขึ้นอย่างมีเหตุผล ผมคิดว่าสังคมไทยกำลังเข้าสู่สภาวะนี้"
พื้นที่ที่ 2 ที่สุภลักษณ์คาดหวังอย่างมากเช่นกันก็คือ 'รัฐสภา' ซึ่งควรจะต้องมีความกล้าหาญมากกว่านี้ และต้องเสนอพื้นที่พูดคุยอย่างปลอดภัยในเรื่องที่สังคมไทยกำลังตั้งคำถาม ไม่เฉพาะเรื่องสถาบันหลัก แต่ต้องรวมถึงเรื่อง 'รัฐธรรมนูญ' ที่ถูกแก้หลังจากผ่านประชามติว่ามีความชอบธรรมหรือไม่
"มันอาจจะมี ส.ว.คอนเซอร์เวทีฟออกมาตั้งกำแพง แต่เราก็มี ส.ว. มี ส.ส.ที่ก้าวหน้า ซึ่งควรจะเสนอพื้นที่ในการพูดคุยเรื่องนี้ หมวดหนึ่งของรัฐธรรมนูญเราพูดไม่ได้เหรอ ในทางเทคนิคทางกฎหมาย เราควรพูดได้ ถูกไหมครับ ควรมีคนตั้งคำถามไหมว่ารัฐธรรมนูญนี้มันถูกแก้หลังจากผ่านประชามติ ความชอบธรรมมันอยู่ที่ไหน ผมขอถามได้ไหม"
"เวลาเราพูดเรื่องกฎหมาย เราโต้แย้งได้ เพราะมันค่อนข้างชัดเจน แต่สิ่งที่สื่อไทยไม่กล้า ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ ก็คือจารีตประเพณี อันนี้ก็ต้องคิดว่าเรากำลังมีปัญหาอะไร คำว่า professional journalist ในไทยมันก็ยังเบลอๆ อยู่ว่ามืออาชีพแค่ไหน"
ก่อนจบเวทีสนทนาเรื่องสื่อ นวลน้อยเปรียบเทียบประเด็นถกเถียงเรื่องสถาบันหลักในสังคมไทยว่าคล้ายกับเรื่อง 'สันติภาพภาคใต้' ที่ต้องทำความเข้าใจรากฐานของปัญหา ไม่อย่างนั้นจะแก้ปัญหาไม่ได้ และปรากฏการณ์จากการชุมนุมช่วงที่ผ่านมา สื่อจะต้องทำให้คนอื่นๆ ในสังคมเข้าใจวิธีคิดของผู้ชุมนุมด้วย
"เราต้องทำให้สังคมเข้าใจสิ่งที่มันเป็น 'ที่มา' ของการเรียกร้องต้องการเหล่านี้ โดยที่ไม่ไปช่วยโหมกระพือให้เกิดความรู้สึกว่าต้องใช้ความรุนแรงมากขึ้น เพราะว่าในที่สุดแล้ว สื่อก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งในการแสวงหาคำตอบให้กับสังคม แล้วก็เป็นการแสวงหาคำตอบ เป็นทางออกที่เป็นการเมือง เป็นทางออกที่มันสันติ" นวลน้อยกล่าวทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: