ไม่พบผลการค้นหา
ผอ.สำนักวิจัยซูเปอร์โพล ออกหนังสือโต้ตอบรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กรณีตั้งข้อสงสัยกับผลโพลอาจเข้าข่ายหมิ่นประมาท ขอปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ย้ำสำนักวิจัยซูเปอร์โพลมีความเป็นกลาง แม่นยำ และน่าเชื่อถือ

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ออกหนังสือชี้แจงกรณีที่ ร.ท.หญิงสุณิสา ทิวากรดำรง รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ออกมาตั้งข้อสงสัยการทำงานของซูเปอร์โพล นั้นอาจมีข้อความหมิ่นประมาททั้งต่อบุคคล และต่อองค์กรหรือไม่ จะปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ส่วนใครที่แชร์ต่อ, กดไลก์, หรือกดหัวใจให้ อาจขอความร่วมมือสละเวลาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมกันด้วย แต่ในฐานะที่ตนเป็นอาจารย์สอนหนังสือไม่อยากรอ จำเป็นต้องตอบก่อนเบื้องต้น

ข้อที่ 1 ความน่าเชื่อถือและความเป็นกลางของ ซูเปอร์โพล

1.1 เรื่องความน่าเชื่อถืออยู่ที่ว่า ซูเปอร์โพล เคยผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่าสามารถสำรวจได้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำโดยผลโพลทำนายผลลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญประกาศก่อนล่วงหน้า 2 สัปดาห์ก่อนวันลงประชามติว่า ประชาชนจะเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 61.5 และผลจริงออกมา ร้อยละ 61.4 ดูแหล่งอ้างอิงได้ที่นี่ https://www.sanook.com/news/2035470/ 

จากนั้นมหาวิทยาลัยแห่งชาติของไต้หวันเชิญตนไปบรรยายต่อหน้าเครือข่ายคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกว่า ซูเปอร์โพล ทำได้อย่างไรถึงคลาดเคลื่อนน้อยกว่า ร้อยละ 1 ดูอ้างอิงได้ที่นี่ https://esc.nccu.edu.tw/app/news.php?Sn=507 และที่นี่ https://esc.nccu.edu.tw/files/news/500_3ef31995.docx โดยขอให้ ร.ท.หญิงสุณิสาไปอ่านดูตรง Panel III : Democracy and Polls ก็จะเห็นถึงความน่าเชื่อถือของซูเปอร์โพลที่มีโอกาสไปบรรยายให้คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ ทั่วโลกได้เห็นความสามารถและความน่าเชื่อถือของสำนักโพลที่ทำโดยคนไทย

1.2 ความเป็นกลางนั้น ยืนยันได้ว่า ตั้งแต่ซูเปอร์โพล เปิดทำงานมากว่า 4 ปี ไม่มีใครรับเงินเดือนและค่าตำแหน่งทางการเมืองใดๆ เลย ดังนั้นเพื่อให้สังคมเข้าใจถูกต้อง ขอให้อ่านความเป็นจริงตรงนี้คือ ตนเข้าทำงานตำแหน่งข้าราชการการเมืองนาน 11 เดือนเริ่มในปี 2557 ตนออกมาจากตำแหน่งนั้นมาร่วม 5 ปีแล้ว ตอนนั้นรับภารกิจเข้าไปออกแบบยุทธศาสตร์ปกป้องผลประโยชน์ชาติที่เรากำลังมีปัญหาจะส่งออกสินค้ากว่า 25 ล้านรายการ จนออกแบบสำเร็จ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ต่อต้านการค้างาช้าง ต่อต้านการค้ามนุษย์ ต่อต้านการประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานไร้การควบคุม และต่อต้านแรงงานเด็กแรงงานบังคับ ผลที่ตามมาคือ 

ปัจจุบันนี้ไปตรวจสอบดูได้ว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทำสำเร็จทุกตัว ปกป้องผลประโยชน์ชาติได้ปีละกว่า 4 – 5 แสนล้านบาท แบบนี้เรียกว่ารับใช้ใคร ทำเพื่อผลประโยชน์ธุรกิจครอบครัวเหมือนบรรดานักการเมืองบางคนหรือไม่ที่ ร.ท.หญิงสุนิสาน่าจะทราบดีกว่าตนหรือไม่ ตนสงสัยเหมือนกัน ขอให้ผู้มีปัญญาทั้งหลายลองคิดกันดู โดยดูแหล่งอ้างอิงได้ที่นี่ https://www.thaipbsworld.com/thailand-delisted-from-citess-list-of-countries-affected-by-illegal-traffic-in-ivory/ และลิงค์ของ CITES ได้ที่นี่ อ่านดูข้อ 25 ในหน้า 5 https://cites.org/sites/default/files/eng/cop/18/doc/E-CoP18-069-01.pdf ในช่วงเวลานั้น ตนตัดสินใจเข้าไปทำงานปกป้องผลประโยชน์ชาติในยุคนั้นเพราะเล็งเห็นว่า ถ้าเป็นยุคการเมืองที่ประเทศไทยมีนักการเมืองที่ไม่เคยเปลี่ยนนิสัยก็คงจะสำเร็จได้ยาก

ข้อที่ 2 เรื่องผลโพลที่ ร.ท.หญิงสุณิสาไปโยงกับตำแหน่งจากรัฐบาลหรือรับเงินสปอนเซอร์จากหน่วยงานของรัฐนั้น 

2.1 ผลโพลที่เกี่ยวกับตำแหน่งจากรัฐบาล คำตอบคือ ไม่มีตำแหน่งอะไรที่ได้เงินเดือนหรือค่าเบี้ยเลี้ยงโดยเด็ดขาด ผลโพลจึงเป็นเสียงประชาชนที่สำรวจพบไม่มีใครมีตำแหน่งข้าราชการการเมืองตามที่ ร.ท.หญิงสุณิสา กล่าวอ้างเลย ซึ่งตอบไปแล้วในข้อ 1.2

2.2 ลูกค้าที่เป็นหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจเกิดจากการแข่งขันตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับต่างๆ ลูกค้าของซูเปอร์โพลตัดสินเลือกซูเปอร์โพลตามหลักธรรมาภิบาลของแต่ละหน่วยงานว่าจ้างทุกประการ จึงไม่ต้องเกรงใจใคร แต่จะดำรงไว้ซึ่งความถูกต้องแม่นยำ ความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่เคยผ่านการพิสูจน์ให้เห็นแล้วในข้อ 1.1 และมีความเป็นกลาง เพราะไม่มีตำแหน่งข้าราชการการเมืองอะไรเลย 

การออกมาโต้ตอบของทาง ผอ.สำนักวิจัยซูเปอร์โพล นี้เกิดจากที่ ร.ท.หญิงสุณิสา พูดถึงซูเปอร์โพลว่าน่าจะเปลี่ยนชื่อเป็นซูเปอร์อวย เพราะน่าสงสัยเรื่องความเป็นกลางของระเบียบวิธีวิจัย เนื่องจากผลโพลค้านสายตาประชาชนอยู่เสมอ อีกทั้งผู้บริหารสำนักวิจัยเคยได้รับตำแหน่งทางการเมืองจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ รับเงินสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐเป็นรายได้หลัก จึงตั้งข้อสงสัยว่าผลโพลที่ออกมานั้นเป็นกลางหรือไม่ เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อน และเข้าข่าย Conflict of interest