เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2563 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)ระบุผ่านรายการ PEACE TALK ว่า แม้ช่วงนี้อยู่ท่ามกลาง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ตนเชื่อว่า คนไทยไม่ใส่ใจมากนักกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพราะพร้อมจะอยู่ร่วมกับโควิด-19 เนื่องจากเชื่อมั่นตัวเองจะจัดการอย่างไรกับการป้องกันไวรัส ประกอบสภาพต้องต่อสู้กับเศรษฐกิจปากท้อง เมื่อไม่มีกินจึงต้องออกมาดิ้นรนเพื่อรักษาชีวิตเอาไว้ทั้งสิ้น
อีกทั้งการกำหนดเคอร์ฟิวระหว่างเวลา 23.00 - 04.00 น. นั้น ยังมีเวลาให้รัฐบาลเล่นเกมขยายเวลาเคอร์ฟิวไปได้อีกหลายชั่วโมง พร้อมๆกับออกมาตรการคลายล็อกมาแลกเปลี่ยน ซึ่งสิ่งนี้รัฐบาลรู้ความต้องการของประชาชนได้ดี จึงสามารถผ่อนปรนความรู้สึกของสังคมมาได้อย่างต่อเนื่อง
“หากจะขยายเวลาเคอร์ฟิวจากหลังเที่ยงคืนไปถึงตีสี่ ก็ไม่รู้จะไปติดเชื้อได้อย่างไร ซึ่งรัฐบาลได้ขยักเอาไว้ เพราะต้องดึงเวลาให้ไปถึงการมาตรการระยะที่ 4 ดังนั้น การทยอยมาตรการโควิดเป็นช่วงๆ เพื่อรักษา พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น ต่างคนต่างคิดกันได้ทั้งสิ้น เนื่องจากมีคลื่นสึนามิทางการเมืองรอรัฐบาลอยู่ข้างหน้า”
นายจตุพร กล่าวว่า สิ่งสำคัญรัฐบาลยากจะหลีกพ้นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างลำบากและหนักหน่วงได้ อีกทั้งปัจจัยขัดแย้งกันภายในพรรคร่วมรัฐบาลนั้น ต่างเล่นเกมแย่งชิงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยปัจจัยเหล่านี้ในทางการเมืองทุกฝ่ายมองเห็นสถานการณ์และคิดออกได้ ปัจจัยต่างๆนี้จะนำพาไปสู่ปัญหาทางการเมืองอย่างไม่คาดฝันกัน ถึงขั้นลืมเหตุการณ์ชุมนุมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไปได้ เพราะการชุมนุมครั้งต่อไปจะไม่มีแกนนำ เนื่องจากความหิวจะทำให้ประชาชนออกมาชุมนุม นำไปสู่สภาพโกลาหล ยิ่งกว่าหนังซอมบี้ออกมาอาละวาดก็ว่าได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีใครคาดคิดว่า ไทยจะเดินมาถึงจุดนี้ได้ โดยเฉพาะคนจนเมืองนั้น เมื่อไม่มีอาชีพก็ไม่มีกิน ความทุกข์ เดือดร้อนจะหนักหนากว่าคนชนบทต่างจังหวัดหลายเท่า
ส่วนการอภิปราย พ.ร.ก.เงินกู้ทั้ง 3 ฉบับนั้น นายจตุพร กล่าวว่า ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลต้องพูดความจริงกับประชาชน รวมทั้ง ส.ว.บางคนเริ่มทำตัวขึงขังขึ้นมา ดังนั้น ห้วงเวลา 1-2 เดือนนี้จะเป็นรอยต่อที่สำคัญอย่างมาก แม้ไม่มีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้น หรือไม่มีคนรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ความจนที่ได้สะสมจากสภาพเศรษฐกิจทรุดกันมายาวนาน จะทำให้ประเทศเดินไปถึงจุดไร้อนาคต เพราะความจนไม่ได้รับการแก้ไข หากปล่อยให้เศรษฐกิจทรุดต่อไปอีกสักช่วง 1-2 เดือนข้างนี้แล้ว ความโกลาหลคงเกิดขึ้น
“ที่น่าเป็นห่วงคือ วิธีคิดทางการเมืองแบบเดิมของคนการเมือง แก้ปัญหาประเทศชาติไม่ได้ และจะนำไปสู่ไม่มีกระดานการเมืองให้นักการเมืองเล่นอีก ถ้าปล่อยประเทศให้คนหิวโหยได้ออกมาโกลาหลด้วยแล้ว คงต้องจบแบบเดิม ไม่สงบก็มีคณะรักษาความสงบออกมา ไม่ว่าไปมุมไหนก็ใดในวันนี้ถ้าเราไม่มีหลักคิดแบบพี่น้องคนในชาติแล้ว เราจะข้ามพ้นสถานการณ์นี้ยากมาก"
นายจตุพร คาดว่า สถานการณ์ในอนาคตจะหนักกว่าพฤษภาทมิฬ เนื่องจากผลโพลรัฐบาลสอบตกเรื่องความปรองดอง แล้วยังมีคำถามสำรวจถึงการแย่งชามข้าวและน้ำข้าวกันอีก ยิ่งสะท้อนถึงการเมืองมาถึงจุดเสื่อมอีก ซึ่งจะนำไปสู่ธรรมชาติอำนาจ คือ ทหารออกมายึดอำนาจอีก
"เมื่อการเมืองเสื่อม แล้วทหารออกมายึดอำนาจที่ผ่านมาเกิดขึ้นเพราะปัญหาการเมือง แต่ครั้งนี้ในอนาคตจะมีพร้อมปัญหาเศรษฐกิจและความยากจนมาผสมโรงด้วย ดังนั้น ผลลัพธ์จะแตกต่างจากที่คิดและคาดการณ์กันตามปกติ" ประธาน นปช. ระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง