19 กรกฎาคม รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ร่วมกับประเทศพันธมิตร อาทิ ออสเตรเลีย อังกฤษ แคนาดา ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ รวมถึงองค์การระหว่างประเทศทั้ง สหภาพยุโรป (European Union) และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (NATO) ได้ออกแถลงการณ์กล่าวหา รัฐบาลจีนว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการกระทำการอาชญากรรมทางไซเบอร์ เพื่อสอดแนมการเคลื่อนไหวของรัฐบาล สถาบัน มหาวิทยาลัยและหน่วยงานอื่น ๆ ของสหรัฐ ฯ และประเทศพันธมิตร
รายงานระบุว่า การดำเนินการโจมตีครั้งใหญ่ล่าสุดของรัฐบาลปักกิ่ง มีขึ้นช่วงเดือนมิถุนายน อันเป็นช่วงการประชุมร่วมระหว่างผู้นำประเทศกลุ่ม G7 และผู้นำจากองค์กรนาโต แต่ละฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าจีนกำลังท้าทายระเบียบโลกอย่างเป็นระบบ ทว่าอย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังระบุว่าจีนได้กระทำการโจมตีทางไซเบอร์มาแล้วหลายครั้งในก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ที่รัฐบาลปักกิ่งพยายามเข้าถึงระบบอีเมลหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐ ฯ ผ่านระบบ 'ไมโครซอฟท์ เอ็กเชนจ์'
ไมโครซอฟท์ เอ็กเชนจ์ เป็นบริการจากบริษัทไมโครซอฟท์ที่จัดทำระบบอีเมล เพื่ออำนวยความสะดวกให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สามารถติดต่อและรวมรวมข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานที่เป็นเหยื่อการถูกแฮ็กไมโครซอฟท์ เอ็กเชนจ์กว่าพันราย ด้านบริษัทไมโครซอฟ์ท์ได้เรียกร้องให้จีนแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าวแล้ว
ขณะเดียวกัน กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐ ฯ ได้ดำเนินคดีกับพลเมืองจีนทั้งหมด 4 ราย โดย 3 รายเป็นเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐจากกรุงปักกิ่ง และอีก 1 รายเป็นแฮกเกอร์ที่ถูกว่าจ้าง ทั้งหมดถูกกล่าวหาว่าพยายามทำลายระบบซอฟแวร์ของสหรัฐฯ มานานกว่า 8 ปี มีทั้งบริษัทเอกชน มหาวิทยาลัย ะหน่วยงานรัฐบาลทั้งในประเทศและต่างประเทศหลายแห่งตกเป็นเป้า โดยมีจุดประสงค์เพื่อล้วงข้อมูลของสหรัฐฯ ที่อาจจะเป็นประโยชน์กับจีนได้ มากไปกว่านั้นกระทรวงยุติธรรมยังเผยว่า ทั้ง 4 คนได้เตรียมการวางแผนโจรกรรมข้อมูลทางไซเบอร์จาก 12 ประเทศได้แก่ ออสเตรีย กัมพูชา แคนาดา เยอรมนี อินโดนีเซีย มาเลเซีย นอร์เวย์ ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ สวิสเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา
แอนโธนี บลิงเคน (Anthony Blinken) รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐ ฯ แถลงว่า การกระทำทางไซเบอร์ของจีนถือเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงแห่งชาติ เช่นกันกับสหภาพยุโรปที่กล่าวถึงผลกระทบจากการโจมตีทางไซเบอร์ว่า “อียู รัฐสมาชิกและประเทศพันธมิตรเผยว่า กิจกรรมทางไซเบอร์มีนัยยะสำคัญต่อความมั่นคง ประชาธิปไตยและสังคมโดยรวมของเรา”
อย่างไรก็ตาม หลิว เปงยู (Liu Pengyu) โฆษกสถานเอกอัครราชทูตจีน ณ กรุงวอชิงตัน ตอบโต้ว่า การกล่าวหาครั้งนี้เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อถือ “รัฐบาลจีนและบุคคลสำคัญไม่เคยว่าจ้างให้ใครโจมตีหรือขโมยเทคโนโลยีทางไซเบอร์” ซึ่งก่อนหน้านี้ทางการจีนยังเคยระบุว่า รัฐบาลจีนก็เป็นเหยื่อของการโจมตีทางไซเบอร์เช่นกัน
ขณะที่โกลบอลไทมส์ สื่อกระบอกเสียรัฐบาลจีน รายงานว่า สหรัฐฯ ต้องการให้จีนตกอยู่ในสภาพที่ต้องจำยอมรับการกล่าวหา เนื่องจากแผนการรักษาความมั่นคงของประเทศเป็นเรื่องที่ต้องเก็บเป็นความลับและไม่สามารถเปิดเผยเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้ การกล่าวหาที่จีนไม่อาจพิสูจน์ตนเองได้ จึงทำให้การกล่าวหาของสหรัฐ ฯ ดู “สมจริง” มากยิ่งขึ้น อีกทั้งสหรัฐ ฯ เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีชั้นนำของโลก มีกองทัพไซเบอร์ แต่กลับกล่าวโทษประเทศอื่นว่าโจมตีทางไซเบอร์นั้นเป็นเรื่องน่าตลกสิ้นดี
ที่มา: Reuters , Global Times , SCMP