พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 คณะที่ 1.2 แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2564 ณ ห้องประชุมวิจิตรวาทการ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล โดยมี สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม พร้อม VDO Conference ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำ
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์การพิจารณาแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และ (ร่าง) แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยปีนี้เป็นปีแรกที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีหน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการของหน่วยงานรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ และแผนงบประมาณการบริหารทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
ดังนั้นจึงขอให้ทุกหน่วยงานร่วมกันวางแผนอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดเป็นแผนงานบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างแท้จริง สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง ปัญหาคุณภาพน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมในทุกมิติ อีกทั้ง ปัจจุบันเราต้องเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาดของ Covid-19 ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องใช้งบประมาณในการแก้ปัญหาจำนวนมาก ดังนั้น การบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จะเป็นการใช้งบประมาณได้อย่างคุ้มค่า โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ที่สำคัญประชาชนได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม สอดคล้องตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี และแผนยุทธศาสตร์ชาติต่อไป
ด้าน สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการพิจารณาแผนงานบูรณาการด้านน้ำ ปี 2565 ประกอบด้วยแผนงานจาก 23 หน่วยงาน ใน 9 กระทรวง จำนวนทั้งสิ้น 11,524 รายการ ที่มุ่งเน้นเป้าหมายและตัวชี้วัด ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้ง 6 ด้าน ได้แก่
ด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ประชาชนนอกเขตกรุงเทพฯ สามารถเข้าถึงน้ำประปาได้ 825,601 ครัวเรือน
ด้านที่ 2 การสร้างความมั่นคงของของน้ำภาคการผลิตได้ โดยมีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มอีก 620.81 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นพื้นที่รับประโยชน์ 2,160,509 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ถึง 495,262 ครัวเรือน
ด้านที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย มีพื้นที่ได้รับผลกระทบลดลง 1,810,914 ไร่ ป้องกันตลิ่งได้ 254 กิโลเมตร
ด้านที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ โดยแหล่งน้ำธรรมชาติได้รับการฟื้นฟูและสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำเสีย 97 แห่ง
ด้านที่ 5 การอนุรักษ์ ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน สามารถฟื้นฟูป่าและป้องกันการชะล้างของดินพื้นที่ต้นน้ำได้ 333,410 ไร่
ด้านที่ 6 การบริหารจัดการ มีแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำครอบคลุมทั้ง 25 ลุ่มน้ำอย่างสมดุล
หลังจากนี้ สทนช จะจัดลำดับความสำคัญของแผนงาน/โครงการตามหลักเกณฑ์ที่ได้พิจารณาร่วมกัน คือ เป็นโครงการพระราชดำริและโครงการตามนโยบาย และเป็นโครงการที่มีการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ที่ต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เป็นพื้นที่ท่วม-แล้งซ้ำซาก และอยู่ในพื้นที่เป้าหมาย Area Based 66 พื้นที่ เพื่อให้มีความสมบูรณ์ชัดเจนสามารถขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการได้อย่างเป็นระบบ และหน่วยงานจะได้ส่งคำขอตั้งงบประมาณให้สำนักงบประมาณภายในวันที่ 15 ม.ค.นี้ ตามปฏิทินงบประมาณ ต่อไป