เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดจะพึงมี โดยคำนวณจากจำนวนราษฎรสัญชาติไทยทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ 31 ธ.ค.2565 มีจำนวน 65,106,481 คน ซึ่งจำนวนราษฎรโดยเฉลี่ย 162,766 คนต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคน
ทั้งนี้สำหรับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดที่คำนวณจากจำนวนราษฎรสัญชาติไทย ทำให้จำนวน ส.ส.เปลี่ยนแปลงใน 8 จังหวัด แบ่งเป็นจังหวัดที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ลดลง 4 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย จะมี สส. 7 คน เชียงใหม่จะมี ส.ส. 10 คน ตากจะมี ส.ส. 3 คน และสมุทรสาคร จะมี ส.ส. 3 คน ส่วนจังหวัดที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพิ่มขึ้น 4 จังหวัด ประกอบด้วย อุดรธานี จะมี ส.ส. 10 คน ลพบุรีจะมี ส.ส. 5 คน นครศรีธรรมราช จะมี ส.ส. 10 คน และปัตตานี จะมี ส.ส. 5 คน
สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดจะได้จัดทำและประกาศรูปแบบ การแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างน้อย 3 รูปแบบ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชน ในจังหวัดเป็นเวลา 10 วัน นับแต่วันปิดประกาศ ในระหว่างวันที่ 4 – 13 มี.ค. 2566
ด้านสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย และอดีต กกต. โพสต์เฟสบุ๊คระบุถึงการที่ กกต.สั่งทุกจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด จัดทำการแบ่งเขตใหม่ ตามจำนวนราษฎรที่มีสัญชาติไทย ประกาศรูปแบบแล้วใน เว็ปไซต์ หรือ เพจของสำนักงาน กกต.จังหวัดในวันนี้ทันที เปิดรับฟังความคิดเห็น 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 4-13 มีนาคม และวันที่ 14 มีนาคม จังหวัดสรุปความเห็น และวันที่ 15-16 มีนาคม กกต.กลาง ประชุมสรุปว่าจะเลือกแบบใด คาดว่า จะสามารถประกาศผลการแบ่งเขตในราชกิจจาได้ วันที่ 17 มีนาคม
โดยวันที่ 18-21 มีนาคม เป็นเวลาให้พรรคไปทำไพรมารีโหวต แต่ยังสามารถทำหลังยุบสภาได้อีก จนถึงก่อนวันรับสมัคร ดังนั้น การยุบสภาน่าจะเป็นวันที่ 22 มีนาคม 2566 ตามคาดยกเว้น ลุงลืม ขอให้ลืมทีเหอะ เวลาที่เหลือ พรรคไปทำไพรมารี่ให้ทันแล้วกัน