ไม่พบผลการค้นหา
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสาน 10 จังหวัด เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างใกล้ชิด ย้ำประชาชนในพื้นที่ต่ำ เฝ้าระวังเป็นพิเศษและเตรียมพร้อมมรับมือสถานการณ์น้ำ

วันที่ 8 ต.ค.  2566 เพจกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM โพสต์ข้อความแจ้งว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 10 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป โดยประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนที่ประกอบกิจการในแม่น้ำ รวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้รับแจ้งจากกรมชลประทาน ว่า จากอิทธิพลของร่องมรสุมทำให้เกิดฝนตกหนักสะสมทั้งประเทศไทย ทำให้มีปริมาณน้ำในลำน้ำเพิ่มมากขึ้นในช่วงวันที่ 8 - 11 ตุลาคม 2566 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ส่งผลให้น้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ ในช่วงวันที่ 9 - 15 ตุลาคม 2566 โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา คาดการณ์ปริมาณน้ำที่สถานี C.2 อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่าน ประมาณ 1,800 - 1,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจะมีปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังและลำน้ำสาขาประมาณ 200 - 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณระหว่าง 2,000 - 2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราระหว่าง 1,500 - 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.20-0.80 เมตร อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) จึงได้ประสาน 10 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนที่ประกอบกิจการในแม่น้ำ อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร ท่าเทียบเรือโดยสารสาธารณะ ตลอดจนประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะจุดเสี่ยงที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ให้เฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ รวมถึงเตรียมพร้อมในการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงให้พ้นจากแนวน้ำท่วม ตลอดจนประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำและแนวป้องกันน้ำท่วมให้มีความแข็งแรง เพื่อป้องกันระดับน้ำล้นข้ามแนวคันกั้นน้ำ อีกทั้งจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เพื่อเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับประชาชนขอให้ติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด และเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น และหากได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ ทางไลน์ "ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784" โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน "THAI DISASTER ALERT" ทุกที่ทุกเวลา