น.ส.ศศิวิมล พลลาภ แม่ของ ด.ญ.จินตนาการ บุญกล่อมจิตร หรือน้องจีน อายุ 7 ปี ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียที่รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากไขกระดูกที่รับจาก ด.ช.ศิลา บุญกล่อมจิตร หรือ น้องจีโอ้ (น้องชาย) อายุ 5 ปี ขณะติดเชื้อ COVID-19 เปิดเผยว่า น้องจีนป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียตั้งแต่เกิด โดยในช่วงตั้งครรภ์ได้ฝากครรภ์ที่คลินิกพิเศษ โรงพยาบาลรามาธิบดีและรับทราบความเสี่ยงของน้องที่จะเป็นโรคนี้ ในตอนนั้นคิดว่าหากคลอดออกมาไม่ว่าจะเป็นหรือไม่ก็จะดูแลต่อไป หลังจากคลอดแล้วช่วงที่น้องจีนอายุขวบกว่าก็ไม่สบายจึงเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลรามาธิบดีพบว่าเลือดมีความเข้มข้นต่ำ น้องจีนป่วยด้วยโรคนี้ จากนั้นได้เข้ารักษามาอย่างต่อเนื่อง
โดยหมอให้น้องกินยาโฟลิกและวิตามินรวมมาตลอด มีวิธีรักษาให้หายได้คือการปลูกถ่ายไขกระดูก จนกระทั่งตนเองตั้งครรภ์น้องจีโอ้ก็ได้มีการวางแผนนำสเต็มเซลล์จากไขกระดูกจากน้องจีโอ้มาปลูกถ่ายให้น้องจีนภายใต้การดูแลของหมอที่โรงพยาบาลรามาธิบดีมาตลอด
เมื่อน้องจีโอ้อายุ 4 ขวบ หมอได้ตรวจความเข้ากันได้ของสเต็มเซลล์ ปรากฏว่าสามารถเข้ากันได้ดี และในระหว่างที่รอคิวการปลูกถ่ายรักษา พอดีได้เห็นข้อมูลที่แชร์ส่งต่อกันมาผ่านสื่อออนไลน์เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์การรักษาผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย ภายใต้ "กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" (บัตรทอง) ที่ครอบคลุมถึงการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากไขกระดูกที่น้องจีนจะต้องทำการรักษาด้วย เลยได้ทำการหาข้อมูลและจากการตรวจสอบสิทธิทราบว่า น้องจีนมีสิทธิบัตรทองอยู่ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 24 บางเขน และบังเอิญมีรุ่นพี่ที่เรียนพยาบาลด้วยกันประจำอยู่ที่ศูนย์นี้พอดี จึงได้สอบถามขั้นตอน โดยทางศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 24 จะต้องทำใบขอส่งตัวรักษาที่โรงพยาบาลวชิระก่อน และจากนั้นจะส่งต่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี
ต่อมาในช่วงปลายปี 2562 ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลรามาธิบดีว่า น้องจีนได้คิวเข้ารับการรักษาในเดือน เม.ย. 2563 และได้เข้าพบคุณหมอเพื่อเตรียมความพร้อมในการรักษา ซึ่งก็ได้สอบถามหมอถึงการใช้สิทธิบัตรทองในการรักษา พอมีโอกาสที่น้องจีนจะใช้สิทธินี้หรือไม่ ซึ่งหมอแจ้งว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนดให้สิทธิการรักษาผู้ป่วยกับโรงพยาบาลที่ทำสเต็มเซลล์ปลูกถ่ายไขกระดูกได้เพียงปีละ 1 รายเท่านั้น และพอดีช่วงพบหมอเป็นช่วงต้นปีทำให้ยังไม่มีผู้ป่วยขอใช้สิทธินี้
ดังนั้นน้องจีนก็น่าจะใช้สิทธิบัตรทองรักษาได้ นับเป็นความโชคดีของน้องจีนและครอบครัว แต่ในตอนนั้นก็ยังไม่วางใจร้อยเปอร์เซ็นว่าจะใช้สิทธินี้ได้ เพราะยังต้องมีขั้นตอนการจัดทำเอกสาร ประวัติการรักษา และการรออนุมัติต่างๆ จนกระทั่งช่วงเดือน มี.ค. ก็ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลให้ไปดำเนินการเรื่องใบส่งตัวให้เรียบร้อย เพราะเมื่อถึงคิวรักษาจะได้ไม่มีปัญหา ทุกอย่างก็ได้ทำเรียบร้อย ไม่ยุ่งยากอะไร
จากนั้นน้องจีนได้เข้าเตรียมความพร้อมรับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ในวันที่ 7 เม.ย. และได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายในวันที่ 17 เม.ย. และหมอให้พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด โดยหมออนุญาตให้น้องจีนกลับบ้านได้เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งการรักษาครั้งนี้เป็นการใช้สิทธิบัตรทอง ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
เมื่อถามถึงภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาน้องจีนก่อนใช้สิทธิบัตรทอง น.ส.ศศิวิมล กล่าวว่า ช่วงแรกของการรักษาหมอให้กินโฟลิกกับวิตามิน ค่าใช้จ่ายก็ไม่มาก ต่อมาน้องจีนต้องรับเลือดเดือนละ 1 ถุง ค่าใช้จ่ายก็ยังไม่ถึงหมื่นบาทต่อเดือน แต่ในช่วงหลังน้องจีนต้องรับเลือดปริมาณเพิ่มขึ้นเป็น 350 มิลลิลิตร หรือ 2 ถุง และต้องได้รับยาขับเหล็กเพิ่มเติมอีก ทำให้ค่ารักษาต่อเดือนสูงถึง 16,000-17,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก โดยเราจ่ายเองทั้งหมด แต่พอถึงการรักษาปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากไขกระดูก คุณหมอแจ้งว่ามีค่าใช้จ่ายสูงถึง 1,200,000 – 1,500,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงอยากใช้สิทธิบัตรทองรักษา เพราะไม่เช่นนั้นคงสร้างภาระค่าใช้จ่ายกับครอบครัวอย่างมาก
ขณะนี้น้องจีนยังคงใช้สิทธิบัตรทองในการรักษาต่อเนื่อง ซึ่งหลังรับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์คุณหมอยังคงต้องนัดตรวจทุกสัปดาห์ เพื่อติดตามอาการอย่างใกลชิด เฉพาะตรวจเลือดก็มีหลายรายการ ค่าใช้จ่ายอยู่ที่หลักหมื่นบาทแล้ว หากไม่มีสิทธิบัตรทองค่าใช้จ่ายครอบครัวเราคงหนักมาก
"สิทธิบัตรทองเป็นสิทธิการรักษาที่คนไทยทุกคนเข้าถึงได้และสามารถใช้ได้จริง ก่อนหน้านี้ยอมรับว่ามองไม่เห็นคุณค่าของสิทธิบัตรทอง เพราะว่าตัวเองไม่ค่อยเจ็บป่วย มีบ้างเล็กน้อยก็จ่ายค่ารักษาได้ แต่พอน้องจีนต้องรักษาโดยวิธีการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ที่มีค่าใช้จ่ายสูงมากหลักล้านบาท สิทธิบัตรทองนี้สามารถช่วยแบ่งเบาภาระให้กับครอบครัวได้ แม้แต่ในช่วงที่ตัวเองและน้องจีโอ้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ได้รับการดูแลจากสิทธิบัตรทองนี้เช่นกัน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด รวมถึงการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ของน้องจีน นับเป็นความโชคดีของน้องจีนและคนไทยที่มีสิทธิบัตรทองดูแล" แม่น้องจีน กล่าว
Photo by Piron Guillaume on Unsplash