วันที่ 16 ต.ค. ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 22 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 วาระพิจารณาเรื่องด่วน รายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2565 พร้อมรายงานของคณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศและการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้มีการรายงานทุก 3 เดือน
โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มอบหมาย ปานปรีย์ มหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมเข้าพิจารณาวาระดังกล่าว และได้แถลงรายงานต่อที่ประชุม ระบุว่า ที่ผ่านมาการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติบนหลักการบริหารงานคุณภาพ (Plan-Do-Check-Act : PDCA) เพื่อให้เกิดกระบวนการตั้งเป้า ปฏิบัติ ตรวจสอบ ปรับปรุง อย่างบูรณาการและมีความต่อเนื่อง
ปานปรีย์ กล่าวว่า ผลสัมฤทธิ์ในการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติในห้วง 5 ปีแรก พบว่า ขีดความสามารถในการแข่งขันการพัฒนาเศรษฐกิจ และการกระจายรายได้ดีขึ้นในระดับหนึ่ง GDP ภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 1.5 หมื่นล้านบาทในปี 2563 เป็น 1.6 หมื่นล้านบาทในปี 2564 และ 1.7 หมื่นล้านบาทในปี 2565 เป็นผลการจากการลงทุนและบริโภคในภาคเอกชน และการส่งออกเป็นหลัก แต่ทั้งนี้ประเทศไทยก็ยังมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยังต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น
ขณะที่ภาพรวมการสร้างทรัพยากรมนุษย์ยังมีทิศทางคงตัว โดยสะท้อนจากดัชนีความก้าวหน้าของคน เฉลี่ยที่ 0.64 ในระหว่างปี 2561-2564 อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาของประเทศไทย ที่เน้นสนับสนุนการเข้าถึงโครงสร้างอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงการผลักดันให้ประชาชนเข้าสู่ระบบกองทุนประกันสังคมมากขึ้น
ด้านประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการเข้าถึงการให้บริการของภาครัฐดีขึ้นในระดับหนึ่ง สะท้อนจากภาพรวมของระดับธรรมาภิบาลของประเทศไทย ระหว่างปี 2561-2565 โดยการประเมินตามแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ ส่วนมากมีสถานะบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนด 22.43% ของเป้าหมายระดับประเด็น และการประเมินตามแผนแม่บทย่อย บรรลุแล้ว 41.43% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2564
ปานปรีย์ ยังได้นำเสนอรายงานสรุปการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นรายงานฉบับสุดท้ายในห้วงเวลาการปฏิรูปประเทศ ที่จะสิ้นสุดลงเมื่อ 31 ธ.ค. 2565 จะเห็นได้ว่าจากผลสัมฤทธิ์ ทำให้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้รับการแก้ไขในระดับหนึ่ง จากการเปลี่ยนวิธี กลไก และกฎระเบียบต่างๆ โดยรัฐบาลมีความตั้งใจจะผลักดันนโยบายตามที่ได้แถลงต่อรัฐสภา เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นสังคมแห่งโอกาสที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศมากขึ้น และใช้ประโยชน์จากผลลัพธ์ของการปฏิรูปประเทศในแต่ละด้าน
อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นท้าทายที่หน่วยงานของรัฐต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้ผลสัมฤทธิ์ของการปฏิรูปประเทศเกิดความยั่งยืน ได้แก่ ความต่อเนื่องของการดำเนินการปฏิรูปประเทศ การผลักดันกฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ การบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการของภาครัฐให้เป็นดิจิทัล
ส่วนการรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศรอบสุดท้าย สรุปได้ว่า ผลการปฏิรูปประเทศ 13 ด้าน ผ่านกิจกรรม Big Rock ทั้ง 62 กิจกรรม ส่งผลให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายของรัฐธรรมนูญ ขณะที่ผลการดำเนินการจัดทำและปรับปรุงกฎหมายภายใต้การปฎิรูปประเทศ จำนวน 45 ฉบับ ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 10 ฉบับ และมี 7 ฉบับ ที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบเห็นว่าสามารถใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วเดิมแทนได้ ส่วนอีก 28 ฉบับ อยู่ระหว่างการดำเนินการ จะติดตามเร่งรัดให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบดำเนินการให้แล้วเสร็จ และนำเสนอตามขั้นตอน
ปานปรีย์ กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการปฏิรูปในระยะต่อไป รัฐบาลเห็นความสำคัญในการปฏิรูปประเทศ และจากนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา อาทิ การปฏิรูประบบราชการทั้งระบบ และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลภาครัฐ การยกเลิกและแก้ไขกฎระเบียบราชการที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการสร้างรายได้ใหม่ให้ประชาชน การเปิดประตูท่องเที่ยวและการค้า
“เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืน การปฏิรูปประเทศจะยังคงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐอย่างต่อเนื่อง ผ่านการดำเนินการที่มีอยู่ของหน่วยงานที่สอดคล้องกับทั้งนโยบายรัฐบาล แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ รวมทั้งแผนปฏิบัติราชการและแผนปฏิบัติด้านต่างๆ ของหน่วยงานของรัฐ” ปานปรีย์ กล่าว