ประชาชนยอมรับในความสามารถในการบริหารประเทศของเธอ จึงทำให้เธอชนะการเลือกตั้ง 4 สมัยต่อเนื่องกัน และยังได้เป็นประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปในปี ค.ศ.2007 ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเครื่องรัฐอิสริยสภรณ์จากหลายประเทศทั่วโลก เธอได้รับการยกย่องให้เป็นสตรีที่ทรงอิทธิพลอันดับหนึ่งของโลกมาแล้วต่อเนื่องกันถึง 8 ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ.2010 ถึง 2018 สำหรับในปี ค.ศ.2019 นี้จะมีการประกาศการจัดลำดับในเดือนธันวาคม ซึ่งคาดกันว่า อังเกลา แมร์เคล ก็ยังจะคงเป็นสตรีที่ทรงอิทธิพลอันดับหนึ่งของโลกอีกเช่นเคย นั่นแปลว่าความสามารถของเธอได้รับการยอมรับและยกย่องอย่างสูง แต่ถึงกระนั้นเธอก็ยังมีเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก นั่นคือ เรื่อง “แฟชั่น” การแต่งกายของเธอ
ภูมิหลังชีวิตส่วนตัวของ อังเกลา แมร์เคล มีอิทธิอย่างยิ่งต่อการแต่งกายของเธอ ทั้งนี้ อังเกลา แมร์เคล นามสกุลเดิมก่อนสมรสว่า คาสเนอร์ เธอเกิดเมื่อ ค.ศ.1954 ที่นครฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ในครอบครัวที่เคร่งศาสนา และมีบิดาเป็นศิษยาภิบาล (pastor) หรือ ครูสอนศาสนาคริสต์นิกายลูเธอแรน ซึ่งเคร่งครัดกับการอบรมให้ลูกสาวแต่งกายเรียบร้อยตลอดเวลา ยิ่งไปกว่านั้นบิดาของเธอเป็นผู้ที่อุทิศตนเพื่อศาสนาอย่างยิ่ง เขาได้นำภรรยาและลูกสาววัยเพียงสามเดือน ย้ายไปอาศัยที่เมืองเทมป์ลินซึ่งเป็นเขตชนบทในเยอรมันตะวันออกเพื่อดูแลโบสถ์และสอนศาสนาที่นั่น ทำให้ อังเกลา แมร์เคล เติบโตในเยอรมันตะวันออกซึ่งปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ และเคยชินกับแฟชั่นการแต่งกายแบบ “เรียบๆ” ตามประสาสังคมคอมมิวนิสต์ในยุคนั้น เธอเป็นเด็กเรียนและเรียนเก่งมาก เธอจบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านฟิสิกส์เคมี ในวิทยาลัยวิทยาศาสตร์แห่งเบอร์ลิน ใน ค.ศ.1986 และได้ทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งเยอรมนีตะวันออก ซึ่งเธอให้ความสำคัญกับการค้นคว้าวิจัยมากกว่าการแต่งกายตามแฟชั่นในนิตยสาร
เมื่อ ค.ศ.1990 หลังการรวมชาติเยอรมันตะวันตกกับเยอรมันตะวันออกเป็นประเทศเดียวกัน ได้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก พรรคสหภาพคริสเตียนเดโมแครต หรือ CDU ได้ชักชวน อังเกลา แมร์เคล ซึ่งในเวลานั้นเป็นนักวิทยาศาตร์ที่มีชื่อเสียง ให้เข้าสู่การลงสมัครรับเลือกตั้ง และปรากฏว่าเธอได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภา นอกจากนี้ ความฉลาด บุคลิกความเป็นผู้นำ และวาทศิลป์ ที่โดดเด่นของเธอ ทำให้เธอได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสตรีและเยาวชน หลังจากนั้นเธอจับงานอะไรก็สำเร็จไปอย่างมีประสิทธิภาพเสียทั้งหมด ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวาง และเพียง 10 ปี เธอก็ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค CDU ใน ค.ศ. 2000 แล้วชนะเลือกตั้งได้เป็นนายกรัฐมนตรีแห่งเยอรมันใน ค.ศ.2005
เพียงไม่ถึงปีหลังดำรงตำแหน่ง เธอก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม กล่าวคือ เธอไม่เพียงแต่สามารถทำให้เศรษฐกิจของเยอรมันที่ซบเซาฟื้นตัว แต่ยังสามารถเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปในขณะนั้นด้วย โดยตลอดเวลานั้น เธอให้ความสำคัญกับการทำงานมากกว่ารูปลักษณ์การแต่งกายของตัวเอง
ในปี ค.ศ. 2006 อังเกลา แมร์เคล ก็เริ่มถูกบรรดาสื่อมวลชนเยอรมันตั้งข้อสังเกตและวิพากษ์วิจารณ์แฟชั่นการแต่งกายของเธอด้วยถ้อยคำรุนแรง ว่ามันเชย และทื่อๆ แฟชั่นการแต่งกายของเธอเหมือนกันทุกวันทุกโอกาส คือ ใส่เสื้อสูทสีทึมๆ แบบเรียบๆ หลวมๆ ความยาวคลุมสะโพก ส่วนท่อนล่างเป็นกระโปรงหรือกางเกงเรียบๆ ตอนนั้น เธอไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ เพื่อตอบโต้คำวิจารณ์เหล่านั้น แต่เธอตอบโต้ด้วยการเปลี่ยนสีเสื้อผ้า จากสีทึมๆ เป็นสีสันสดใสสารพัดสี แต่ยังคงใช้เสื้อแบบเดิม คือ แบบเรียบๆ หลวมๆ ความยาวคลุมสะโพก ต่อไป ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถทำให้บรรดาสื่อมวลชนหยุดวิจารณ์ กลับหันไปวิจารณ์ว่าเธอทำตัวเองเป็น “แถบสี” (color spectrum) ที่มีทุกสีแล้วยังไล่เฉดอ่อนไปหาเข้มทุกเฉด แต่เธอก็ไม่เปลี่ยนแบบแฟชั่นของตนเองเพื่อเอาใจคำวิจารณ์เหล่านั้นแต่อย่างใด
หลังจากนั้น แฟชั่นการแต่งกายของ อังเกลา แมร์เคิล กลายเป็นประเด็นที่ บรรดาสื่อ บรรดาคู่แข่งทางการเมือง ซึ่งทำตัวเป็น “นักแซะ” หยิบยกมาเป็นประเด็นวิจารณ์อย่างสนุกปาก เป็นเวลายาวนานพอๆ กับที่เธอดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งเยอรมัน เช่น ในปี ค.ศ.2008 สำนักข่าวใหญ่ของเยอรมันพาดหัวข่าวว่าชุดราตรีที่เธอใส่ไปร่วมงานเลี้ยงการกุศลงานหนึ่งคว้านลึกเกินไป ใน ค.ศ. 2012 เธอถูกวิจารณ์อย่างหนักในสื่อเยอรมันเมื่อนำชุดที่เคยใส่ไปร่วมชมโอเปร่าที่กรุงออสโล ในฐานะแขกของรัฐบาลนอร์เวย์ ใน ค.ศ.2008 มาใส่ซ้ำเพื่อร่วมชมงานแสดงดนตรีงานหนึ่ง ใน ค.ศ.2016 นิตยสารฟอร์บสเรียกแฟชั่นที่เธอใส่ว่า “สูทคร่ำคร��” (Frumpy Suits) นอกจากนี้ เธอยังถูกล้อเลียนโดยสำนักข่าวและดีไซเนอร์หลายรายทั่วยุโรป ซึ่งเธอไม่เคยโต้เถียง
ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2018 เธอประกาศวางมือทางการเมือง โดยเมื่อหมดวาระการเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งจะหมดวาระใน ค.ศ. 2021 เธอจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งอีก และก้าวลงจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค CDU ด้วย โดยให้เหตุผลว่าเธอดำรงตำแหน่งมายาวนานเกินไปแล้ว แม้ว่ารัฐธรรมนูญเยอรมนีมิได้จำกัดระยะเวลาว่านายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งได้กี่สมัย ซึ่งแปลว่าเธอจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปกี่สมัยก็ได้ตราบใดที่เธอชนะการเลือกตั้ง แต่เธอก็ยืนยันว่าต้องการให้โอกาสแก่นักการเมืองคนอื่นๆ
หลังการประกาศดังกล่าว อังเกลา แมร์เคล มีท่าทีที่ผ่อนคลายมากขึ้น เธอให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Die Zeit ของเยอรมัน ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2019 ว่า เหตุที่เธอไม่พูดและไม่ตอบโต้ใครเรื่องแฟชั่นของตัวเองตลอดเวลาหลายปีที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็เพราะเธอต้องการให้ผู้คนมุ่งเน้นไปจับตามองที่การทำงานของเธอและนโยบายของเธอ มากกว่าเอาเรื่องการแต่งกายของเธอมาเป็นกระแสข่าว
เธอกล่าวว่า การหยิบยกเอาเรื่องแฟชั่นการแต่งกายของนักการเมืองสตรีมาวิจารณ์เป็นการกระทำที่ “สองมาตรฐาน” ต่อนักการเมืองสตรี เพราะนักการเมืองชายสามารถใส่สูทแบบเดียวกันสีเดียวกันได้ตลอดชีวิตโดยไม่มีใครสนใจจะ “แซะ” ในขณะที่แฟชั่นการแต่งกายของนักการเมืองสตรีกลับถูกนำมา “แซะ” เธอกล่าวต่อไปว่า บรรดานักการเมืองสตรีคนสำคัญของโลก เช่น มาร์กาเรต แทตเชอร์, ฮิลลารี่ คลินตัน และ เทเรซ่า เมย์ ล้วนเป็นนักการเมืองที่สร้างผลอย่างมหาศาลต่อประเทศของตนเองและสังคมโลก สิ่งเหล่านั้นสำคัญและเป็นประวัติศาสตร์เสียยิ่งกว่าสิ่งที่พวกเธอใส่บนร่างกาย ทั้งนี้ อังเกลา แมร์เคล ย้ำว่า เธอไม่ได้เห็นว่าแฟชั่นไม่สำคัญหรือไร้สาระ แต่เธอมองว่าแฟชั่นการแต่งกายเป็นเครื่องมือสำคัญของนักการเมืองสตรีในการสื่อสารข้อความให้แก่สังคม ในกรณีของเธอนั้น เธอชอบและรู้สึกเป็นตัวของตัวเองเมื่อใส่สูทแบบเรียบๆ เธอจึงเลือกใส่เสื้อสูทแบบเรียบๆ นั้น และใช้แบบเดียวตลอดไม่เคยเปลี่ยนแบบ เพื่อสื่อสารข้อความกับสังคมว่า เธอเป็นคนชัดเจน เธอตรงไปตรงมา เธอไม่เปลี่ยนแปลง เธอมั่นคงและคาดหมายได้ ส่วนสีของสูทนั้นเธอเปลี่ยนมันไปตามประเด็นของโอกาสที่เธอไปร่วม ว่าโอกาสนั้นๆ เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร เธอก็จะเลือกสีให้มีนัยยะความหมายให้สอดคล้อง
บทสัมภาษณ์ของ อังเกลา แมร์เคล เหมือนเป็นการ “ตบปาก” บรรดา “นักแซะ” ที่ได้ผลเกินคาด
บรรดาสื่อทั่วยุโรปเปลี่ยนจากการวิจารณ์ว่า อังเกลา แมร์เคล แต่งตัวเชย ไปสู่การจับตาว่าสีของสูทที่เธอใส่ในแต่ละวัน มีนัยยะว่าอย่างไร โดยครั้งที่เป็นที่ฮือฮาที่สุด คือ เมื่อเดือนเมษายนปีนี้ อังเกลา แมร์เคิล ไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำชาติสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ EU ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ปรากฏว่าเธอใส่สูทแบบของเธอ โดยเลือกสีฟ้าธง EU คือสีฟ้าเข้มเจิดจ้า ทำให้สื่อทั้งหลายวิเคราะห์ว่านั่นคือ การที่ อังเกลา แมร์เคล อยากสื่อสารข้อความต่อชาวยุโรปและชาวโลกว่า “เยอรมนีเป็นผู้นำตัวจริงของสหภาพยุโรป”
กรณีของ อังเกลา แมร์เคิล เป็นตัวอย่าง ที่สอนว่า อย่า “แซะ” แฟชั่นการแต่งกายของนักการเมืองสตรีคนใดอย่างไร้สมอง