ทั้งนี้ หากไม่มีการวินิจฉัยเพิ่มเติม เพื่อพลิกคำตัดสินใดๆ ของศาลสูงสุดสหรัฐฯ กฎหมายห้ามทำแท้งจะมีผลบังคับใช้ในวันพฤหัสบดี (7 ก.ค.) ที่จะถึงนี้ เนื่องจากศาลสูงสุดได้กลับคำตัดสินของคดีระหว่างโรกับเวด เมื่อเดือนที่แล้ว จากที่เคยตัดสินในปี 2516 ให้การทำแท้งสามารถกระทำได้จากการรับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญ
การกลับคำตัดสินของศาลได้รับกระแสตอบรับจากประชาชนทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เนื่องจากทั้งผู้สนับสนุนและต่อต้านการทำแท้ง ต่างคอยจับตาดูคำวินิจฉัยของศาล ที่จะมีผลต่อสิทธิการทำแท้งในสหรัฐฯ อีกหลายปีข้างหน้า
ผู้หญิงหลายล้านคนจะสูญเสียสิทธิการเข้าถึงการทำแท้ง เนื่องจากมลรัฐที่มีฐานเสียงเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยม เช่น มิสซิสซิปปีพยายามที่จะผ่านกฎหมายเพื่อห้ามกระบวนการทำแท้ง
โดยทนายความของคลินิกทำแท้งในมิสซิสซิปปี และองค์การเพื่อสุขภาพสตรีแจ็คสัน ได้โต้แย้งว่าสิทธิเหนือร่างกายภายใต้รัฐธรรมนูญของรัฐว่าหมายรวมถึงสิทธิในการทำแท้งด้วย แต่ผู้พิพากษา เดบบารา ฮาลฟอร์ด ปฏิเสธข้อโต้แย้งในการพิจารณาคดีเมื่อวันอังคาร (5 ก.ค.) ว่า “ในรัฐธรรมนูญของมลรัฐมิสซิสซิปปีไม่ได้กล่าวถึงการทำแท้งแม้แต่น้อย”
ทั้งนี้ ร็อบ แมคดัฟฟ์ ทนายความของคลินิกบอกกับสื่อว่า พวกเขากำลังพิจารณาว่าจะอุทธรณ์หรือไม่
นอกจากมิสซิสซิปปีแล้ว มลรัฐฟลอริดาเริ่มการสั่งห้ามทำแท้งในช่วง 4 เดือนที่แล้ว ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันอังคาร (5 ก.ค.) หลังจากคำสั่งศาลถูกระงับ เช่นเดียวกันกับมลรัฐหลุยเซียนา ที่อัยการสูงสุดของมลรัฐได้ขอให้ศาลสูงสุดของมลรัฐอนุญาตให้มีการสั่งห้ามทำแท้งเกือบทั้งหมด หลังจากถูกระงับในศาลล่าง
ที่มา: