ภายหลังเดือนธันวาคม 2018 ที่ประเทศญี่ปุ่นประกาศถอนตัวจากคณะกรรมการล่าวาฬระหว่างประเทศ (International Whaling Commission: IWC) องค์กรซึ่งมีจุดประสงค์ในการควบคุมการล่าเพื่ออนุรักษ์วาฬ โดยการลาออกนี้จะมีผลในวันที่ 30 มิถุนายน นั่นหมายความว่าญี่ปุ่นจะกลับมาล่าวาฬเพื่อการค้าเป็นครั้งแรกในรอบ 33 ปี ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้
ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ ญี่ปุ่นจะมีการทำพิธีขอให้ออกล่าได้อย่างปลอดภัยและจับเหยื่อได้มาก ก่อนที่เรือ 5 ลำจะออกจากท่าเรือเมืองคุชิโระ เกาะฮอกไกโด ทางตอนเหนือของญี่ปุ่น เพื่อล่าวาฬมิงค์ วาฬเซย์ และวาฬบรูด้า โดยยังไม่เปิดเผยตัวเลขโควตาจำกัดการล่าวาฬจนกว่าจะเสร็จสิ้นการประชุม G20 วันที่ 28-29 มิถุนายนนี้
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นจะล่าวาฬในน่านน้ำญี่ปุ่นและเศรษฐกิจจำเพาะเท่านั้น โดยยุติการล่าในทะเลแอนตาร์กติกและซีกโลกใต้ซึ่งสงวนไว้ให้สมาชิก IWC ล่าเพื่อการวิจัย
ญี่ปุ่นเข้าเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการล่าวาฬระหว่างประเทศตั้งแต่ปี 1986 และหยุดการล่าวาฬเพื่อการค้านับแต่นั้นเป็นต้นมา โดยยังคงมีการล่าประจำปีเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์อยู่ ทว่าญี่ปุ่นถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้ช่องโหว่จากการล่าเพื่อวิจัยเป็นการบางหน้าการล่าในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากเนื้อจากการวิจัยก็ถูกนำไปขายในตลาด
ทางญี่ปุ่นตัดสินใจถอนตัวจาก IWC หลังจากในปีที่แล้วญี่ปุ่นยื่นเรื่องขอล่าวาฬในบางสปีชีส์ เช่น วาฬมิงค์ ซึ่งทางญี่ปุ่นระบุว่ามีการฟื้นฟูจำนวนเพียงพอต่อการล่าอย่างยั่งยืนแล้ว แต่กลับถูกทางคณะกรรมการปฏิเสธ
ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นก็เคยขู่จะออกจากคณะกรรมการล่าวาฬมาก่อนแล้ว โดยให้เหตุผลว่าคณะกรรมการล่าวาฬนั้นละทิ้งจุดประสงค์แรกเริ่มของตัวเอง พร้อมชี้ว่าเดิมอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อควบคุมการล่าวาฬนั้น ควรจะเป็นมาตรการชั่วคราวเพื่อควบคุมปริมาณการล่าวาฬเพื่อการล่าอย่างยั่งยืน ไม่ใช่บังคับยุติการล่าโดยสิ้นเชิง
แม้ในมุมมองของนักอนุรักษ์ การกลับมาล่าวาฬจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ดังที่คิตตี บล็อก ผู้อำนวยการองค์การสังคมที่มีมนุษยธรรมสากล กล่าวว่าการที่ประเทศญี่ปุ่นออกจาก IWC เป็นการกระทำที่โหดร้าย ถอยหลังเข้าครองและทำลายชื่อเสียงของญี่ปุ่นเอง
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ชาวญี่ปุ่นท้องถิ่น ชาวบ้านหมู่บ้านชายฝั่งอายุคาวะ ซึ่งในอดีตมีการล่าวาฬตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1900 เชื่อว่าการกลับมาจับวาฬเชิงพาณิชย์อีกครั้งจะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจท้องถิ่น
ชิเน็ตสึ โออิคาวะ เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ กล่าวว่าเชื่อว่าการล่าวาฬเพื่อการค้าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวมายังหมู่บ้านแห่งนี้ ซึ่งได้รับความเสียหายอย่างหนักจากสึนามิปี 2011 ที่คร่าชีวิตชาวญี่ปุ่นในชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นถึง 19,000 คน
"อายุคาวะเป็นหมู่บ้านห่างไกล ถนนหนทางก็แย่ และไม่มีพื้นที่พอสำหรับอุตสาหกรรมอีกต่างหาก การล่าวาฬเป็นทางที่ดีที่สุดที่ชาวบ้านจะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้" โออิคาวะ กล่าวพร้อมชี้ว่าหมู่บ้านต้องการให้นักท่องเที่ยวมาเยือนและจับจ่ายเงิน กินเนื้อวาฬ เพื่อช่วยให้ฟื้นตัวจากภัยพิบัติ โดยทิ้งท้ายว่าตัวเองก็ไม่ได้กินเนื้อวานเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานว่า การบริโภคเนื้อวาฬลดลงอย่างมาก จากเดิมในช่วงทศวรรษ 1960 ที่มีการบริโภคกันปีละ 200,000 ตันต่อปี เหลือเพียงปีละ 5,000 ตันในช่วงไม่กี่ปีมานี้
ทางด้านคาซุโอะ ยามามุระ ประธานสมาคมล่าวาฬแห่งญี่ปุ่น องค์กรไม่แสวงกำไรที่วิจัยและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการล่าวาฬ กล่าวกับรอยเตอร์สว่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีอาหารทุกชนิดถูกนำเข้ามาในญี่ปุ่น ประชาชนมีตัวเลือกทางโภชนาการมากมายต่างจากอดีตที่กินเนื้อวาฬกันเนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญ
"สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่ว่าจะผลิตเนื้อวาฬแล้วจะทำเงินได้เยอะอีกต่อไป" ยามามุระ กล่าว
ที่มา: The Guardian / The Independent
ภาพจาก AFP / สถาบันวิจัยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: