ไม่พบผลการค้นหา
"วิษณุ เครืองาม" แนะแนวทางคณะรัฐมนตรีช่วย "ประยุทธ์" ชี้แจงปมถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ ว่าทำได้หากมีข้อมูล ชี้เมื่อมีการอภิปรายเรื่องนี้ นายกฯ ต้องเดินทางไปตอบอยู่แล้ว ไม่มีปัญหา แต่ต้องดูก่อนว่าจะเป็นวันใด

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เตรียมส่งหนังสือชี้แจงให้กับผู้ตรวจการแผ่นดินถึงในเรื่องของการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนว่า นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มาพูดคุยและกลับไปเขียนหนังสือชี้แจงเอง ซึ่งมีกรอบเวลาในการส่งหนังสือกลับไปชี้แจงเหมือนขั้นตอนของการให้การ และนายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องไปชี้ด้วยวาจา ซึ่งตนเองก็ไม่ทราบว่าจะมีการชี้แจงกลับไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินอย่างไร เพราะไม่สามารถนำเรื่องที่พูดคุยมาเปิดเผยได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ไม่สมควรและไม่มีมารยาท 

โดยก่อนหน้านี้ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ซักถามความเห็นการส่งหนังสือชี้แจงไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินกับหลายคน ก่อนที่จะมาถามตนเองว่ามีมุมมองในเรื่องนี้อย่างไรซึ่งตนเองได้ให้แนวทางไป และทางเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้นำไปเขียนชี้แจงเอง โดยไม่ได้ส่งกลับมาให้ตนเองตรวจสอบอีก ส่วนเรื่องนี้จบแล้วใช่หรือไม่นั้น นายวิษณุ ระบุว่า เป็นการพูดกันไปเองของสื่อ ตนเองไม่ได้เป็นคนพูด 

ส่วนที่มีการนำหนังสือชี้แจงของนายกรัฐมนตรีไปยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินแล้วหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบแต่คาดว่าอาจมีการส่งไปก่อนที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีการประชุมวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าว

นอกจากนี้ นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีที่สภาผู้แทนราษฎร บรรจุญัตติขออภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 152 ปมคำกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณตน นายกรัฐมนตรีขัดรัฐธรรมนูญ ว่า เมื่อบรรจุญัตติแล้ว ไม่ต้องกังวลว่านายกรัฐมนตรีจะไปหรือไม่ไป เพราะเมื่อมีการยื่นอภิปราย นายกรัฐมนตรีต้องเดินทางไปตอบอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งก่อนที่จะมีการอภิปราย ทางสภาฯ จะต้องมีการสอบถามรัฐบาลว่าจะมาตอบในวันใด 

ส่วนการอภิปรายครั้งนี้รัฐมนตรีคนอื่นอาจจะช่วยนายกรัฐมนตรีตอบคำถามแทนได้หรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่เป็นธรรมดาว่าเป็นการตั้งคำถามถึงใคร แต่หากพูดถึงข้อบังคับการประชุมสภาฯ ฉบับเก่าและฉบับใหม่ มีข้อความตรงกันว่า เมื่อมีการเปิดอภิปรายตามมาตรา 152 ให้คณะรัฐมนตรีไปชี้แจง ซึ่งในการนี้จะมอบหมายให้ผู้ใดเป็นผู้ช่วยชี้แจงก็ได้ ดังนั้นไม่ต้องมาถามว่าจะช่วยนายกรัฐมนตรีชี้แจงได้หรือไม่ได้ ถึงเวลาใครที่ทราบเรื่องนี้ หากนายกรัฐมนตรีเป็นคนรู้ก็เป็นคนตอบ และหากคำถามตรงกับในสิ่งที่คนอื่นทราบก็สามารถช่วยชี้แจงได้ แต่ก็ยังไม่ทราบว่าจะมีการถามอะไรบ้าง ซึ่งตามมาตรา 152 การเปิดอภิปรายจะเป็นคนละแบบ กับญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 151 แต่การยื่นญัตตินี้ เป็นเรื่องที่สมาชิกสภาฯ มีข้อสงสัยที่จะถามหรือมีคำแนะนำที่จะให้แก่คณะรัฐมนตรีที่สามารถยื่นได้ปีละ 1 ครั้ง 

นายวิษณุ ยังกล่าวว่า การกำหนดวันประชุมเพื่ออภิปรายในเรื่องดังกล่าวนั้น ตามปกติทางสภาฯ จะมีการสอบถามมาเป็นการภายในว่ารัฐบาลจะสะดวกช่วงไหน และตนเองเห็นด้วยที่สภาฯ จะมีการเปิดอภิปรายในวันอื่นที่ไม่ใช่การประชุมสภาปกติวันพุธหรือวันพฤหัสบดี เพื่อให้สภาฯ ทำหน้าที่ไปตามปกติ ซึ่งอาจมีการเปิดประชุมเพื่ออภิปรายในเรื่องนี้ในวันศุกร์ วันเสาร์และวันอาทิตย์แทน ดังนั้น จะช้าหรือเร็วรัฐบาลไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ 

พร้อมปฏิเสธว่า ไม่ทราบว่านายกรัฐมนตรีจะนำคำชี้แจงที่ยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินไปอภิปรายในสภาฯ ด้วยหรือไม่ เพราะอาจมีการส่งหนังสือเป็นเอกสารลับที่ไม่สามารถเปิดเผยได้