เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2563 ที่อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราภิชานภาควิชาประวัติศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ปาฐกถาพิเศษวันป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในหัวข้อ “นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม: ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ Rule by Law แบบไทย”
โดย ศ.ดร.ธงชัย กล่าวว่า วิกฤตศรัทธาของระบบนิติศาสตร์ในประเทศไทยรุนแรงมากในขณะนี้ อาจจะอาศัยเวลาฟื้นฟูนานกว่าระบบรัฐสภา การเมืองอีก การแก้ปัญหาของกระบวนการยุติธรรม สถาบันตุลาการ นิติศาสตร์ทั้งระบบจะกินเวลากว่านั้นมาก
ศ.ดร.ธงชัย ตั้งคำถามว่า 'หลักนิติธรรม' (Rule of Law) ในประเทศไทยเป็นอย่างไร หรือแท้จริง ประเทศไทยไม่เคยมี แล้วเป็นแบบไหนจึงเอื้ออำนวยกับความอยุติธรรม แถมทำได้อย่างน่าละอาย นักนิติศาสตร์หลายคนกล่าวว่า ระบบกฎหมายไทยดีอยู่แล้ว แต่บังคับใช้ผิดเพี้ยน ต้องใช้คนดีมาบังคับใช้ ทำให้คำตอบเช่นนี้ฟ้องว่าระบบและสถาบันทางกฎหมายอ่อนแอมาก จนไม่สามารถจำกัดความเสียหายจากคนดีและไม่ดี อีกทั้งน่าคิดว่า ระบบและสถาบันด้านกฎหมายเอง เป็นสถาบันเอื้ออำนวยความผิดเพี้ยน
ศ.ดร.ธงชัย ระบุว่า ระบบนิติศาสตร์ของประเทศไทยเกิดขึ้นในการพัฒนาประวัติศาสตร์ไทย ผิดเพี้ยนไปจากบรรทัดฐานกฎหมาย แบบที่สากลยอมรับ แต่ยังไม่มีใครศึกษาคุณสมบัติที่ผิดเพี้ยน เพราะเรามักคิดว่ามีมาตรฐานสากลแล้ว
ขณะเดียวกัน ศ.ดร.ธงชัย ยังกล่าวถึงคุณสมบัติสำคัญ ของ LEGAL STATE & The rule of Law แบบบรรทัดฐาน แบบสากล 1.มีกฎหมายที่ชัดเจนเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งดินแดนใต้ปกครองของรัฐ และประชาชนจะต้องสามารถเข้าถึงรับรู้กฎหมายนั้นได้ 2.ความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมาย 3.ต้องจำกัดอำนาจของรัฐ เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิและทรัพย์สินของปัจเจกบุคคล 4.รัฐธรรมนูญ หรือ รัฐสภาเป็นอำนาจสูงสุด 5.ต้องมีหลักประกันความเป็นอิสระของตุลาการ
"ระบบนิติศาสตร์ของไทยไม่ได้เป็นไปตามบรรทัดฐานสากล เนื่องจากนิติศาสตร์สมัยใหม่ของไทยเกิดขึ้นในบริบทของสมบูรณาญาสิทธิราชย์และภาวะกึ่งอาณานิคม การปฏิรูปกฎหมายสมัยใหม่ของสยาม แท้จริงแล้วคือการปรับปรุงเครื่องมือของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้เป็นการปกครองด้วยกฎหมาย"
นิติศาสตร์สมัยใหม่ของไทยที่เป็นผลของการปฏิรูป ไม่ใช่การปกครองของกฎหมาย (The Rule of Law) ไม่ใช่ระบบกฎหมายโลกวิสัย (secular) ความเสมอภาคเบื้องหน้า กฎหมายยังไม่เกิด แต่สถานะของบุคคลทางกฎหมาย และต่อรัฐเปลี่ยนไป โดยผลสำคัญอีกอย่างคือแนวความคิดทางนิติศาสตร์ที่สนับสนุนระบอบเผด็จการ ซึ่งเป็นมรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ต่อมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดนิติศาสตร์และระบบกฎหมายของไทยสองกระแส "นิติรัฐอภิสิทธิ์" และ"ราชนิติธรรม"
'นิติรัฐอภิสิทธิ์' คือ ระบบกฎหมายที่ให้อภิสิทธิ์แก่รัฐใช้อำนาจละเมิดทรัพย์สินเอกชนและสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้เพื่อประโยชน์สาธารณะทั้งในระบบกฎหมายปกติและในสภาวะยกเว้นประโยชน์สาธารณะที่สำคัญสุดของไทยก็คือความมั่นคงของชาติกองทัพจึงเป็นผู้ได้และใช้อภิสิทธิ์ล้นหลามนี้
ศ.ดร.ธงชัย ยังยกตัวอย่างความเสมอภาคภายใต้อำนาจและบารมีของนายพล ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์แบบผู้บังคับบัญชา แต่เป็นชนชั้นศักดินาใหม่ในเครื่องแบบ ทหารเกณฑ์เป็นไพร่แบบใหม่ ดังนั้น การยกเลิกทหารเกณฑ์จึงยาก เพราะการมีทหารเกณฑ์เป็นคนรับใช้ เป็นรูปธรรมของความเป็นมูลนายของนายพล ถ้ายกเลิก หลักฐานที่จะบอกว่าเป็นนายพล ความเป็นมูลนาย จะหมดไปในทันที
“นี่เป็นเหตุที่ว่าทำไมนายพลจึงมีจำนวนมาก ไม่สอดคล้องกับเรื่องกองทัพเลย เป็นเรื่องของอภิสิทธิ์ล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับกิจการทหารแต่อย่างใด” ศ.ดร.ธงชัย กล่าว
ศ.ดร.ธงชัย ยังกล่าวว่า อภิสิทธิ์ของรัฐไทยไม่เหมือนที่อื่น โดยมีลักษณะ ครอบคลุมกว้างขวางมาก ตามใจผู้ใช้อำนาจ (รัฐและกองทัพ) มีความไม่แน่นอน คาดไม่ได้ ก่อให้เกิดความกลัว ครอบคลุมถึงบุคคลที่ครองอำนาจไม่ใช่แค่อภิสิทธิ์ของรัฐในแง่สถาบัน รวมถึงอภิสิทธิ์ปลอดพ้นความผิด (impunity)
“กฎหมายเลว บวกกับการคาดการณ์ไม่ได้ เท่ากับความกลัว”
เขากล่าวต่อว่า รัฐไทยในระยะเกือบ 100 ปีที่ผ่านมาใช้ความรุนแรงต่อประชาชนและทำลายสถาบันประชาธิปไตยครั้งแล้วครั้งเล่า ทุกครั้งจบลงด้วยการใช้อภิสิทธิ์แก่ผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่พ้นจากการสอบสวนเอาผิด
ศ.ดร.ธงชัย ยังหยิบยกผู้ที่เคยกล่าวว่า “ความพยายามที่จะนิยามความมั่นคงของชาติให้ชัดเจนไม่ต่างจากการไขว่คว้าลม” เพราะความมั่นคงผลิตโดยหน่วยงานความมั่นคง เพื่อให้อำนาจแก่ตัวเอง ตีความตามใจชอบโดยมีตุลาการเป็นผู้ตีความ
“อภิสิทธิ์ของรัฐไทยเผยแพร่ถึงบุคคลที่ครองตำแหน่งและตระกูลของเขา อภิสิทธิ์ปลอดความผิด เป็นสิ่งน่ารังเกียจที่สุดในประเทศส่วนใหญ่ในโลก แต่ในประเทศไทย มันเป็นวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด แต่สาระสำคัญคืออภิสิทธิ์ทางกฎหมายที่จะไม่ต้องรับผิด” ศ.ดร. กล่าว
ส่วน 'ราชนิติธรรม' คือ หลักกฎหมายของไทยที่ถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นหลักสูงสุดของกฎหมายและความยุติธรรม (มิใช่รัฐธรรมนูญหรือรัฐสภาดังที่ถือกันเป็นบรรทัดฐานทางสากล) ราชนิติธรรมได้รับการส่งเสริมขนานใหญ่ในครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาท่ามกลางการเมืองแบบกษัตริย์นิยมและวัฒนธรรมหลงใหลคลั่งไคล้เจ้า ค้ำจุนด้วยประวัติศาสตร์แบบราชานิตินิยมและความคิดว่าด้วยธรรมราชา
ประวัติศาสตร์ที่ค้ำจุนราชนิติธรรม 4 ประเด็น คือ
หนึ่ง ตามจารีตประเพณีของไทยแต่เดิม
สอง อำนาจอธิปไตยยังเป็นของกษัตริย์หลัง 2475
สาม กษัตริย์เป็นผู้พิทักษ์ประชาธิปไตย
สี่ ประวัติของธรรมราชายุคสมัยใหม่
ศาสตราภิชานภาควิชาประวัติศาสตร์ ยังย้ำว่า นิติรัฐอภิสิทธิ์ และราชนิติธรรม ล้วนให้ความชอบธรรมแก่การงดใช้ระบบกฎหมายปกติ สร้าง 'สภาวะยกเว้น' ที่อยู่ภายใต้กฏอัยการศึก กฎหมายความมั่นคง หรือกฎหมายพิเศษอื่นๆ (เช่น คำสั่งคณะรัฐประหาร)
“ประเทศไทยอยู่ภายใต้สภาวะกฎหมายปกติ จนแทบจะเป็นภาวะยกเว้น และอยู่ภายใต้กฎหมายยกเว้นจนแทบเป็นภาวะปกติ” ศ.ดร.ธงชัย กล่าว
นิติศาสตร์แบบไทยส่งผลต่อระบบกฎหมายและการเมืองอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเฟื่องฟูของราชนิติธรรมในทศวรรษหลังๆ ซึ่งจะมีผลต่อระบอบรัฐของไทยในอนาคตด้วยเพราะสถานะของพระมหากษัตริย์กับรัฐธรรมนูญการเมือง และกฎหมายกำลังเปลี่ยนไป
ศ.ดร.ธงชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ประชาชนเหลืออดแล้วกับการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมเพื่อเป็นเครื่องมือความมั่นคง แต่ตุลาการที่อยู่เป็นและรับใช้ผู้ยิ่งใหญ่แทนที่จะรับใช้ความยุติธรรม ซึ่งนิติรัฐแบบนี้ผิด จะต้องยุติสำหรับประเทศไทยและสังคมไทยที่ต้องการปกครองของกฎหมายไม่ใช่การปกครองของผู้ยิ่งใหญ่ด้วยกฎหมาย และไม่ใช่นิติอธรรมเด็ดขาด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง