ไม่พบผลการค้นหา
รายงานยูเอ็นชี้ เรื่องความเหลื่อมล้ำในโลกยุคหลังปี 2000 ไม่ได้มีแค่เรื่องรายได้ แต่รวมถึง 'ความไม่เท่าเทียมทางด้านโอกาส' ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม ประชาชนหลายประเทศไม่ไว้ใจผู้มีอำนาจ นำไปสู่การรวมตัวประท้วงบนท้องถนน

อาคิม สไตเนอร์ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ระบุว่า "กระแสการประท้วงที่เกิดขึ้นทั่วโลกเป็นสัญญาณบ่งชี้ที่ชัดเจนว่า ท่ามกลางการพัฒนาที่คืบหน้าในหลายด้าน มีบางอย่างในสังคมยุคโลกาภิวัตน์ที่ยังทำงานไม่ได้ผล" โดยสไตเนอร์กล่าวประโยคนี้ในพิธีเปิดตัวรายงาน Human Development Report ปี 2019 ซึ่งจัดทำโดยยูเอ็นดีพี และเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

พิธีเปิดรายงานฉบับนี้ถูกจัดขึ้นที่โคลอมเบียเมื่อ 9 ธ.ค. ในฐานะประเทศที่มีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จากที่เคยมีคะแนนตามเกณฑ์ดัชนีพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หรือ Human Development Index ติดอันดับ 95 เมื่อครั้งก่อน สามารถก้าวขึ้นมาสู่อันดับที่ 79 ในปีนี้ได้

สไตเนอร์กล่าวย้ำในพิธีเปิดตัวรายงานว่า ความเหลื่อมล้ำในศตวรรษที่ 21 ไม่อาจชี้วัดจาก 'รายได้' อย่างเดียวอีกต่อไป แต่ต้องคำนึงถึงความเท่าเทียมในด้าน 'การกระจายอำนาจ' และ 'การกระจายความมั่งคั่ง' แก่คนในสังคมด้วย เพราะสองปัจจัยนี้เป็นชนวนหลักๆ ให้ประชาชนหลายประเทศออกมาประท้วงในปัจจุบัน

ทั้งนี้ เนื้อหารายงาน HDR 2019 บ่งชี้ว่า "ประชากรในโลกยุคใหม่ต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำตั้งแต่ยังไม่เกิด" เพราะคนในแต่ละพื้นที่หรือแต่ละประเทศ ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสในด้านต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียมกัน เด็กที่เกิดในประเทศยากจนหรือประเทศกำลังพัฒนา มีอัตราเสียชีวิตหรือขาดสารอาหารสูงกว่าเด็กในประเทศพัฒนา เพราะแม่ของเด็กไม่มีโอกาสเข้าถึงระบบสาธารณสุข เช่นเดียวกับการเข้ารับการศึกษาของคนในประเทศที่มีสวัสดิการด้านนี้ ย่อมดีกว่าประเทศที่ไม่มีการสนับสนุนใดๆ


'การทำงานหนัก' ไม่อาจยกระดับสถานะทางสังคมได้อีกต่อไป

สำนักข่าว NPR รายงานอ้างอิงคำกล่าวของสไตเนอร์เพิ่มเติม โดยระบุว่า แนวคิดในยุคก่อนที่มองว่าคนทำงานหนักจะได้รับผลตอบแทนที่ดี ไม่เป็นจริงอีกต่อไป หลายคนทำงานหนักและมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ไม่อาจยกระดับสถานะไปสู่ความมั่งคั่งหรือเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีได้ เพราะการกระจายอำนาจ การกระจายรายได้ และการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร ไม่ใช่เรื่องที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม

ยากจน

รายงานของยูเอ็นดีพีย้ำว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นับจากนี้ไปจะต้องพิจารณาให้ไกลว่าเรื่อง 'รายได้' 'ค่าเฉลี่ย' และ 'เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน' เพราะถ้ายังยึดอยู่แต่กรอบเดิมๆ จะทำให้การหาแนวทางรับมือหรือแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในอนาคต'คลาดเคลื่อน' ไม่สัมฤทธิ์ผล

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการลดความเหลื่อมล้ำ นอกจากเรื่องรายได้ของประชากร ได้แก่ การปฏิบัติต่อคนในสังคมโดยเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติต่อคนกลุ่มใดกลุ่มคนหนึ่ง และต้องคำนึงถึง 'ผลิตภาพ' โดยให้ความสำคัญกับนายจ้างและลูกจ้างโดยเท่าเทียมกัน เพราะผลสำรวจในช่วงที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า การเจริญเติบโตของตลาดและรายได้ของนายทุน สวนทางกับรายได้รวมของลูกจ้างที่ลดลง 

นอกจากนี้ ภาครัฐต้องดำเนินการ 'จัดเก็บภาษี' โดยให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณที่สนับสนุนด้านสุขภาพ การศึกษา และการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว เพราะนี่เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยรวม

ส่วนกรณีของ 'ค่าเฉลี่ย' รายงานฉบับนี้แนะนำให้แต่ละรัฐบาลศึกษาความเหลื่อมล้ำอย่างละเอียดว่ามีอะไรซุกซ่อนอยู่ภายใต้ 'ค่าเฉลี่ย' จากการประเมินคนในสังคมหรือไม่ โดยรายงานยกตัวอย่างว่า หลายประเทศมี 'อคติ' ที่ส่งผลต่อการดำเนินนโยบายต่างๆ ในสังคมอยู่ เช่น ความเห็นประชากรส่วนใหญ่ใน 77 ประเทศ จากกลุ่มสำรวจทั้งหมด 170 ประเทศในรายงานฉบับนี้ ยังมองว่า 'ผู้หญิง' ไม่มีความสามารถด้านการบริหารหรือมีความเป็นผู้นำเท่าผู้ชาย การเข้าถึงโอกาสก้าวหน้าทางอาชีพของประชากรหญิงและชายในประเทศเหล่านี้จึงไม่เท่าเทียมกัน

AFP-ผู้ประท้วงสูงวัยชาวชิลีถือป้ายขอบคุณคนหนุ่มสาวผู้กล้าหาญเมื่อ 18 พ.ย..jpg
  • ชาวชิลีประท้วงการขึ้นค่ารถไฟใต้ดินและรถประจำทาง 2 ครั้งในรอบ 1 ปี

ท้ายสุด รายงาน HDR เตือนว่า ความเหลื่อมล้ำในการกระจายอำนาจและการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้กลุ่มคนที่ขาดโอกาสเหล่านี้ 'ไม่พอใจ' สภาพที่เป็นอยู่ และอาจลุกลามไปสู่ความไม่ไว้วางใจรัฐบาลจนต้องออกไปประท้วงบนท้องถนน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สังคมแตกแยก


ไทยอยู่ตรงไหนในดัชนีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ HDI

สภาพสังคมทั่วโลกหลังปี 2000 เป็นต้นมา มีความไม่เท่าเทียมกันเกิดขึ้นด้านการศึกษา การเข้าถึงเทคโนโลยี และการรับมือกับสภาพภูมิอากาศ ทำให้ประชาชนในหลายประเทศที่มีรายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อหัว (GNI per capita) ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน เผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากน้อยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลของแต่ละประเทศว่าให้ความสำคัญกับด้านใดมากกว่ากัน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กรณีของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหมือนกัน แต่ประเทศต่างๆ ได้คะแนนในดัชนีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HDI 2019) แตกต่างกัน โดย สิงคโปร์ เป็นประเทศอาเซียนที่มีคะแนนสูงสุด ติดอันดับ 9 ของโลก เมื่อเทียบกับอีก 170 ประเทศที่เป็นกลุ่มสำรวจในรายงานฉบับนี้

ส่วนประเทศอื่นๆ ที่มีคะแนนรองลงมา ได้แก่ บรูไน (อันดับ 43) มาเลเซีย (อันดับ 61) ไทย (อันดับ 77) ฟิลิปปินส์ (อันดับ 106) อินโดนีเซีย (อันดับ 111) เวียดนาม (อันดับ 118) ลาว (อันดับ 140) เมียนมา (อันดับ 145) กัมพูชา (อันดับ 146)

กรณีของประเทศไทย มีคะแนนดัชนี HDI รวม 0.765 คะแนน วัดจากอายุขัยเฉลี่ยประชากร การเข้าถึงการศึกษาระดับสูง และรายได้เฉลี่ยต่อหัว โดยอายุขัยเฉลี่ยประชากรของไทยอยู่ที่ 76.9 ปี ส่วนจำนวนปีในระบบการศึกษาพื้นฐานไปจนถึงระดับอุดมศึกษาเฉลี่ย 14.7 ปี แต่ประชากรได้รับการศึกษาจริงอยู่ที่ 7.7 ปี ขณะที่รายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 16,129 บาท 

ที่มา: NPR/ UNDP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: