นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า มลพิษทางอากาศฝุ่น PM 2.5 ได้กลับมาอีกครั้งในช่วงปลายเดือน ก.ย. ซึ่งขณะนี้กำลังเข้าสู่เดือน ต.ค. และเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว เมื่อเด็กได้รับฝุ่นละอองในปริมาณเกินมาตรฐานมาก หรือเป็นเวลานานจะสะสมในเนื้อเยื่อปอด ทำให้การทำงานของปอดเสื่อมประสิทธิภาพลง เกิดหลอดลมอักเสบ มีอาการหอบหืด เกิดจากสิ่งกระตุ้นต่างๆ
ซึ่งมลพิษทางอากาศเป็นหนึ่งในสาเหตุที่อาจก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ มลภาวะขนาดเล็ก ประกอบไปด้วยสารพิษต่างๆ เช่น โลหะหนัก ทำให้เกิดการระคายเคืองในโพรงจมูก และทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้อาการภูมิแพ้กำเริบและหายใจไม่สะดวก การหายใจเอาฝุ่นละออง มลภาวะจำนวนมากเข้าไปในปอดทำให้เกิดการอักเสบเฉียบพลันที่หลอดลมจนมีอาการไอและเสมหะมากขึ้น และเมื่อภูมิต้านทานของหลอดลมลดลงจะทำให้เด็กเล็กเกิดการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียได้ง่าย
นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ปกครองควรดูแลเด็กเล็กที่มีโรคประจำตัวโดยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน หรือกลางแจ้งในบริเวณที่มีคุณภาพอากาศไม่ดี (มีฝุ่นละอองเกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด) ถ้าจำเป็นต้องเข้าไปในเขตที่มีมลภาวะทางอากาศสูง ควรใส่หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น PM 2.5 ทุกครั้งที่ออกจากบ้านในการป้องกันตนเอง
ทั้งนี้ เด็กเล็กที่มีโรคในระบบทางเดินหายใจ โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ โรคหลอดลมอักเสบ จะมีอาการไวต่ออากาศที่เป็นมลพิษ หรือสภาพอาการแปรปรวน หากมีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย มีเสมหะ หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวี๊ด แน่นหน้าอกให้รีบพบแพทย์ทันที