ในแถลงการณ์เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (10 พ.ค.) การ์แลนด์กล่าวว่าเงินที่ยึดได้จากผู้มีอำนาจของรัสเซียอย่าง คอนสแตนติน มาโลเฟเยฟ มหาเศรษฐีทรงอำนาจ จะถูกมอบให้กับยูเครนซึ่งเสียหายจากสงคราม หลังรัสเซียเข้ารุกรานเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ปีก่อน
“แม้ว่าสิ่งนี้จะเป็นการโอนเงินรัสเซียที่ถูกยึดโดยสหรัฐฯ ไปครั้งแรก สำหรับการสร้างยูเครนขึ้นใหม่” การ์แลนด์กล่าว ก่อนย้ำว่ามาตรการในครั้งนี้ “จะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย” ที่สหรัฐฯ กระทำเพื่อความช่วยเหลือยูเครนที่บอบช้ำ
เมื่อปีที่แล้ว กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ตั้งข้อหาต่อมาโลเฟเยฟ ฐานละเมิดมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย โดยอัยการสูงสุดสหรัฐฯ กล่าวว่า มหาเศรษฐีทรงอำนาจรัสเซียรายนี้ได้จัดหาเงินทุนให้กับชาวรัสเซีย ที่ส่งเสริมการแบ่งแยกดินแดนในไครเมีย ซึ่งเป็นคาบสมุทรที่รัสเซียผนวกไปจากยูเครนในปี 2557
ในเวลานั้น การ์แลนด์ยังได้ประกาศ “การยึดเงินหลายล้านเหรียญสหรัฐฯ จากบัญชีของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ที่สืบย้อนไปถึงการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของมาโลเฟเยฟ”
หลังจากการรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบของรัสเซียในปี 2565 การ์แลนด์ได้ประกาศจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจอย่าง KleptoCapture ซึ่งมีเป้าหมายเจาะจงไปที่กลุ่มผู้มีอำนาจในรัสเซีย ที่พยายามหลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ซึ่งบังคับใช้กับหน่วยงานของรัสเซีย
“เราจะไม่ละทิ้งความพยายามของเรา ในการสืบสวน จับกุม และดำเนินคดี กับผู้ที่ก่ออาชญากรรมที่ช่วยให้รัฐบาลรัสเซียทำสงครามที่ไม่ยุติธรรมต่อไป” การ์แลนด์กล่าวในเวลานั้น
ในบรรดาสินทรัพย์ของมหาเศรษฐีทรงอำนาจรัสเซีย ที่ถูกยึดโดยทางสหรัฐฯ อาทิ กองเรือซูเปอร์ยอทช์ ซึ่งรวมถึงเรือยาว 106 เมตรของ สุไลมาน เคริมอฟ ที่มีมูลค่ากว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 10,000 ล้านบาท) ซึ่งจอดเทียบท่าอยู่ในประเทศฟิจิ
ในขณะเดียวกัน โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เรียกร้องให้รัฐสภาสหรัฐฯ ปรับปรุงการโอนทรัพย์สินของมหาเศรษฐีผู้มีอำนาจรัสเซียที่ถูกยึดไปยังยูเครนในปีที่แล้ว ก่อนที่ในเดือน ธ.ค. รัฐสภาสหรัฐฯ ได้ผ่านกฎหมายที่อนุญาตให้ทรัพย์สินบางอย่างที่ถูกยึดโดยกระทรวงยุติธรรม ถูกส่งไปยังยูเครนผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้
ในเดือน เม.ย. กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ขอให้รัฐสภาสหรัฐฯ ขยายวงสินทรัพย์ที่สามารถส่งไปยังยูเครน โดยเฉพาะเงินที่ถูกยึดเนื่องจากละเมิดการควบคุมการส่งออก โดยในเวลานั้น ลิซา โมนาโก รองอัยการสูงสุดสหรัฐฯ กล่าวว่าสหรัฐฯ “มีเงินจำนวนมากทิ้งไว้อยู่บนโต๊ะ”
ที่มา: