ภายหลังลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ 10 รัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วันที่ 20 ก.พ.2564 โดยมี 4 ส.ส.พรรคก้าวไกล โหวตสวนมติพรรคตัวเองเทใจให้ฝั่งรัฐบาล โดยโหวตให้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข และ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม
หนึ่งใน ส.ส.ที่โหวตให้ อนุทิน และ ศักดิ์สยาม คือ คารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดใจกับ 'วอยซ์' ถึงสาเหตุว่า ได้ติดตามการทำงานของ อนุทิน ชาญวีรกูล จึงเห็นต่างกับผู้อภิปรายคือ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญรายชื่อพรรคก้าวไกล ที่อภิปรายเรื่องวัคซีนโควิด-19 เพราะเห็นว่าภาพใหญ่ในการบริหารจัดการเพื่อจะได้วัคซีนมานั้น อยู่ในการดูแลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 หรือ ศบค.
เหตุผลอีกประการที่โหวตให้ อนุทิน เป็นเพราะมีตัวชี้วัดว่าประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 เป็นที่ 4 ของโลกซึ่งถือว่ามีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งภายในบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ก็ไม่เกิดขึ้นในสมัยของ อนุทิน นอกจากนี้ ประชาชนชาวร้อยเอ็ด ก็ยังชื่นชมการบริหารงานของอนุทิน
คารม กล่าวว่า ส่วนที่โหวตไว้วางใจให้ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ นั้น ส่วนตัวอยู่ในกรรมาธิการคมนาคม โดยการอภิปรายเกี่ยวกับ รมว.คมนาคม ส่วนใหญ่ จะไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานในสมัยนี้ แต่โยงไปถึงปัญหาที่มีตามมาตั้งแต่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เช่น การต่อสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้ รมว.คมนาคม คนปัจจุบัน เพิ่งจะเข้ามาทำงานในภายหลัง
คารม ยืนยันว่า ไม่มีข้อตกลงเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ใดๆ กันทั้งสิ้นกับแกนนำพรรคภูมิใจไทย แต่เป็นการโหวตแบบอิสระตามรัฐธรรมนูญ เหมือนกับก่อนหน้านี้ ที่ได้ปฏิเสธการลงชื่อสนับสนุนการยื่นญัตติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ร่วมกับพรรคก้าวไกล
“ผมก็ได้แสดงจุดยืนเกี่ยวกับการทำงานของพรรคก้าวไกลหลายประการ แต่ไม่ค่อยลงตัวเท่าไหร่ ส่วนอนาคตไม่ใช่เรื่องของผลประโยชน์ แต่เป็นเรื่องที่ว่าเราจะเดินเส้นทางไหน ซึ่งผมไม่อยากทำงานการเมืองในจินตนาการ อยากทำงานการเมืองที่ช่วยชาวบ้านได้ ที่ไหนช่วยชาวบ้านได้ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่มันดีขึ้น นั่นคือสิ่งที่จะต้องทำ ส่วนเรื่องอื่นไม่มี ขอปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง”
คารม ยังกล่าวถึงอนาคตทางการเมืองของตัวเองว่า ตอนนี้ยังเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลอยู่ แต่ครั้งหน้ายังตอบไม่ได้ว่าจะอยู่กับพรรคก้าวไกลหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่ว่าพรรคก้าวไกลดีหรือไม่ดี แต่เราอาจจะไม่เหมาะสมกับพรรค อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่เคยทำร้าย โจมตีพรรค
เมื่อถามว่าถ้าต้องย้ายพรรค จะต้องย้ายช่วงใด คารม กล่าวว่า เมื่อมีการยุบสภา แล้วให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือตามที่กฎหมายกำหนดการเป็นสมาชิกพรรคก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง ตนจะไปลง ส.ส.เขต ซึ่งทางพรรคก้าวไกล ก็ยืนยันจะไม่ส่งตนลงสมัคร จึงต้องไปอยู่พรรคอื่น แต่ไม่ใช่ตอนนี้ ไปตอนนี้ไม่ได้
เมื่อถามว่าได้มีการพูดคุยกับพรรคอื่นไว้แล้วหรือไม่ คารม กล่าวว่า ก็ดูอยู่ มีหลายพรรคทาบทาม ล้วนเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่ไม่มีพรรคประชาธิปัตย์ โดยพรรคเหล่านี้อาจจะเห็นวิธีการทำงานของตนที่แตกต่างจากพรรคก้าวไกลอยู่บ้าง
“จริงๆ ผมทำใจอยู่แล้ว พรรคจะมีบทลงโทษอย่างไร ก็ไม่ว่ากัน ผมเข้ามาทำงานการเมือง แต่บางทีการทำงานการเมืองที่มันก้าวเร็วไป แม้มีความคิดดีๆ แต่ยังไม่ถึงเวลาก็ทำให้อึดอัด แต่ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน ผมก็จะทำงานให้กับประชาชนอย่างเต็มที่ ซึ่งโดยนิสัยแล้ว ผมไม่ใช่คนแบบนี้ แต่ถ้าติดตามก็จะเห็นว่าผมไม่ได้มีบทบาทอะไรในพรรค การลงมติในครั้งนี้ไม่ใช่น้อยใจ แต่เราต้องเดินไปข้างหน้าเพื่อสิ่งที่เราคิดจะถูกหรือผิดบางครั้งก็ต้องใช้เวลาพอสมควร ขอบคุณประชาชนที่ให้โอกาสทำงานและผมก็ไม่เคยมีการทุจริตประพฤติมิชอบ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง