ไม่พบผลการค้นหา
สำนักงานของสำนักข่าว BBC ในกรุงนิวเดลีและนครมุมไบ ถูกบุกค้นโดยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานสรรพากร โดยการบุกค้นในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อน มีสารคดีออกอากาศในสหราชอาณาจักร ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย

ทั้งนี้ แถลงการณ์สั้นๆ ของ BBC ระบุว่า ทางสำนักข่าวได้ “ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่” แก่เจ้าหน้าที่จากทางการอินเดีย “เราหวังว่าสถานการณ์ดังกล่าวนี้จะลุล่วงได้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้” แถลงการณ์ระบุ

อย่างไรก็ดี สารคดีที่มีเนื้อหาวิจารณ์โมดีออกอากาศแต่ในสหราชอาณาจักร โดยรัฐบาลอินเดียพยายามปิดกั้นไม่ให้ประชาชนของตัวเองเข้าดูสารคดี ‘India: The Modi Question’ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ด้วยการให้เหตุผลว่าสารคดีดังกล่าวว่าเป็น “โฆษณาชวนเชื่อของศัตรูและขยะต่อต้านอินเดีย” ที่มีเนื้อหาแฝง “ชุดความคิดยุคอาณานิคม”

เมื่อเดือนที่แล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจในเดลีเข้าจับกุมตัวนักศึกษามุสลิมที่รวมตัวกันเพื่อชมสารคดีดังกล่าว โดยเนื้อหาของสารคดีมุ่งเป้าไปที่การโจมตีโมดี ซึ่งเข้ามามีบทบาทต่อการใช้ความรุนแรงต่อชาวมุสลิมในพื้นที่คุชราตเมื่อปี 2545 เมื่อโมดีปฏิบัติหน้าที่เป็นมุขยมนตรีรัฐ

เคซี เวนูโกปัล เลขาธิการใหญ่จากพรรคคองเกรสฝ่ายค้านกล่าวว่า การเข้าค้นสำนักข่าว BBC เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (14 ก.พ.) “เต็มไปด้วยความสิ้นหวัง และแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลโมดีกลัวคำวิจารณ์” พร้อมกล่าวเสริมว่า “เราขอประณามกลยุทธ์การข่มขู่เหล่านี้ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงที่สุด ทัศนคติที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและเผด็จการนี้ ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้อีกต่อไป”

ในทางตรงกัน้ขาม เการาฟ ภาเทีย โฆษกจากพรรคภารตียชนตา (BJP) ออกมากล่าวหาว่าสำนักข่าว BBC เป็น “องค์กรที่ทุจริตมากที่สุด” พร้อมอ้างว่า “อินเดียเป็นประเทศที่ให้โอกาสกับทุกองค์กร ตราบใดที่คุณไม่พ่นพิษออกมา” นอกจากนี้ ภาเทียอ้างว่าการเข้าค้น BBC ในครั้งนี้ของเจ้าหน้าที่สรรพากรชอบด้วยกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องอะไรกับรัฐบาล

สมาคมบรรณาธิการแห่งอินเดีย ซึ่งเป็นกลุ่มส่งเสริมเสรีภาพสื่อไม่แสวงผลกำไรกล่าวว่า พวกเขา “กังวลอย่างยิ่ง” เกี่ยวกับการเข้าค้นดังกล่าว และในอินเดียมี “แนวโน้มต่อเนื่องของการใช้หน่วยงานของรัฐ เพื่อข่มขู่และก่อกวนองค์กรสื่อ ที่วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลหรือองค์กรปกครอง”

คณะกรรมการของแอมเนสตีอินเตอร์เนชั่นแนลอินเดียกล่าวหาทางการอินเดียว่า “พยายามก่อกวนและข่มขู่ BBC เกี่ยวกับการรายงานข่าววิพากษ์วิจารณ์พรรคภารตียชนตา” พร้อมกล่าวย้ำว่า “อำนาจที่กว้างขวางของกรมสรรพากร ถูกใช้เป็นอาวุธซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อปิดปากผู้เห็นต่าง”

สารคดีดังกล่าวเน้นไปที่การรายงานเนื้อหาที่ไม่ได้เปิดเผยออกมาในก่อนหน้านี้ ซึ่ง BBC ได้รับเนื้อหามาจากกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการกระทำของโมดีในช่วงเหตุการก่อจลาจลในปี 2545 ทั้งนี้ เหตุจลาจลเริ่มขึ้นหนึ่งวันหลังให้หลังจากการที่รถไฟ ซึ่งบรรทุกผู้แสวงบุญชาวฮินดูถูกจุดไฟเผา และคร่าชีวิตผู้คนไปหลายสิบคน อย่างไรก็ดี มีประชาชนมากกว่า 1,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม เสียชีวิตในเหตุการณ์ความรุนแรงที่ตามมา

กระทรวงการต่างประเทศสหราอาณาจักรอ้างว่า โมดีมีส่วน “รับผิดชอบโดยตรง” ต่อ “บรรยากาศของการลอยนวลพ้นผิด” ซึ่งส่งผลให้เกิดความรุนแรง นอกจากนี้ ในปี 2548 สหรัฐฯ ได้ปฏิเสธวีซ่าของโมดีภายใต้กฎหมายที่ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ต่างประเทศ ซึ่งถูกมองว่ามีส่วนรับผิดชอบต่อ “การละเมิดเสรีภาพทางศาสนาอย่างร้ายแรง” เดินทางเข้าสหรัฐฯ ทั้งนี้ โมดีปฏิเสธข้อกล่าวหาที่มีต่อเขามาอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้แสดงความขอโทษต่อเหตุจลาจล อย่างไรก็ดี ในปี 2556 คณะตุลาการศาลฎีกากล่าวว่า ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดีกับโมดีได้

BBC กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า รัฐบาลอินเดียได้รับสิทธิ์ในการตอบกลับต่อทีมสร้างสารคดีดังกล่าว แต่ถูกปฏิเสธ โดยสำนักข่าวผู้ผลิตกล่าวว่าสารคดีเรื่องนี้ “ได้รับการค้นคว้าอย่างเข้มงวด” และ “มีการเข้ารับฟังเสียงหลายฝ่าย พยาน และผู้เชี่ยวชาญที่หลากหลาย และเราได้นำเสนอความคิดเห็นที่หลากหลาย รวมถึงคำตอบจากผู้คนใน BJP”

การเข้าโจมตีเป้าหมายขององค์กรที่ถูกมองว่าวิจารณ์รัฐบาลไม่ใช่เรื่องแปลกในอินเดีย ในปี 2563 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลถูกบีบให้ยุติการดำเนินงานในอินเดีย โดยกลุ่มดังกล่าวกล่าวหาว่ารัฐบาลอินเดียดำเนินการ “ล่าแม่มด” ต่อองค์กรสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ Oxfam ยังถูกเข้าค้นเมื่อปีที่แล้วพร้อมกับองค์กรพัฒนาเอกชนในท้องถิ่นอื่นๆ

สมาคมบรรณาธิการแห่งอินเดียกล่าวว่า หน่วยงานสรรพากรได้บุกค้นสื่ออื่นๆ 4 แห่งในปี 2564 หลังจากที่สำนักข่าวเสนอข่าวในทางลบเกี่ยวกับรัฐบาลอินเดีย ทั้งนี้ ตามรายงานของกลุ่มผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน เสรีภาพสื่อในอินเดียตกต่ำลงตั้งแต่โมดีเข้ามามีอำนาจ โดยดัชนีเสรีภาพสื่อโลกของกลุ่มได้จัดอันดับให้อินเดียอยู่ในอันดับที่ 150 จากทั้งหมด 180 ประเทศ ลดลง 10 อันดับตั้งแต่ปี 2557


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-asia-india-64634711?fbclid=IwAR0W7m9udNZTDxYfMKYMXjMyFP4WmSmR3Xy6xydbMw-w2Uttun67dP2alVQ