ไม่พบผลการค้นหา
คณะอนุกรรมการคัดกรองฯ วินิจฉัย “ยุติการสอบสวน” กรณีอรรถสิทธิ์ นุสสะ ถูกตำรวจ สน.ดินแดงซ้อมทำร้ายร่างการะหว่างการควบคุมตัว ชี้ไม่ใช่การทรมาน

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 65 อรรถสิทธิ์ นุสสะ ผู้เสียหายซึ่งถูกตำรวจทำร้ายร่างกายเพื่อบังคับให้บอกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ชุมนุม ในระหว่างที่ถูกควบคุมตัวใน สน.ดินแดง เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 64 ได้รับหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบพิจารณาคัดกรองคำร้องกรณีถูกทำร้ายร่างกาย จากคณะอนุกรรมการคัดกรองกรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ วินิจฉัยว่า เหตุซ้อมทรมานทำร้ายร่างกายดังกล่าว “ไม่ใช่การกระทำทรมาน”จึงพิจารณาให้ยุติการสอบสวน หลังจากที่อรรถสิทธิ์เข้าร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 64 และได้ให้ความร่วมมือในการเข้าให้ถ้อยคำ รวมถึงรวบรวมส่งพยานหลักฐานที่จำเป็นให้แก่คณะอนุกรรมการคัดกรองฯ ตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา

คดีนี้สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2564 เวลาประมาณ 18.00 น. อรรถสิทธิ์ นุสสะ ได้เดินทางไปเข้าร่วมกิจกรรมจุดเทียนไว้อาลัยและทวงถามความยุติธรรมให้แก่ วาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนอายุ 15 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิตหน้าสน.ดินแดงระหว่างที่มีการชุมนุมในบริเวณดังกล่าว โดยระหว่างที่เข้าร่วมกิจกรรมไว้อาลัย อรรถสิทธิ์ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดินแดง เข้าจับกุมและควบคุมตัวไว้ใน สน.ดินแดง เป็นเวลาหนึ่งคืน และถูกซ้อมทำร้ายร่างกายในคืนนั้น จนปรากฏเป็นภาพถ่ายบาดแผลที่อรรถสิทธิ์มีเลือดออกด้านในดวงตา ก่อนที่อรรถสิทธิ์จะได้รับการปล่อยตัวในช่วงบ่ายของวันที่ 30 ต.ค. 2564

ต่อมา อรรถสิทธิ์ นุสสะ พร้อมด้วยทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในนามภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จึงได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ที่ สน.ดินแดง และเดินหน้ายื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน รวมถึงดีเอสไอ ขอให้สอบสวนข้อเท็จจริงและดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกราย แต่ไม่มีความคืบหน้ามากนัก จนกระทั่งล่าสุดจึงได้รับหนังสือแจ้งยุติการสืบสวนสอบสวนจากคณะอนุกรรมการคัดกรองฯ ดังกล่าว

โดยใจความในหนังสือแจ้งผลการพิจารณา ระบุว่า กรณีที่อรรถสิทธิ์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดินแดง “จับกุมและทำร้ายร่างกาย ด้วยการฉุดกระชาก ลาก จากหน้าสถานีตำรวจเข้าไปยังห้องปฏิบัติการสืบสวน ใช้เท้าเหยียบขา กระบองกระทุ้งเข้าที่ลำตัว และใช้มือบีบคอหลายครั้ง ทำให้มีบาดแผลฟกช้ำและถลอกบริเวณรอบดวงตา หน้าผาก ขมับด้านซ้าย ท้ายทอยด้านขวา ลำคอด้านซ้าย แก้มด้านขวา ชายโครงด้านขวา และต้นแขนด้านขวา” นั้น คณะอนุกรรมการคัดกรองฯ วินิจฉัยแล้ว เห็นว่า “ไม่ใช่การกระทำทรมาน ตามคำนิยามของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี เนื่องจาก มิใช่การกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งคำรับสารภาพ และอรรถสิทธิ์ไม่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงถึงสาหัส จึงเห็นควรยุติเรื่อง”

อรรถสิทธิ์ ได้ติดต่อสอบถามต่อเจ้าหน้าที่คณะกรรมการคัดกรองฯ เรื่องขอภาพถ่ายจากกล้องวงจรปิดของ สน.ดินแดง ที่ตนได้ร้องขอภาพในวันเกิดเหตุ นั้นสน.ดินแดงได้ส่งมายังคณะกรรมการคัดครองฯ แล้วจึงขอคัดสำเนาภาพกล้องวงจรปิดเพื่อนำมาประกอบเป็นหลักฐานดำเนินการทางคดีต่อไป เจ้าหน้าที่คณะกรรมการคัดกรองได้แจ้งมาว่า “ภาพจากกล้องวงจรปิดดังกล่าวไม่มีภาพขณะอยู่ในห้องควบคุมตามที่อรรถสิทธิกล่าวอ้าง ”อย่างไรก็ตาม อรรถสิทธิ์เห็นว่า คณะกรรมการชุดคัดกรองฯ ต้องรอให้มีภาพ เสียง และวิดิโอ ดังเช่นกรณีของผู้กำกับท่านหนึ่งที่จังหวัดนครสวรรค์ใช่หรือไม่ ถึงจะยอมรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวของตนว่าเป็นการซ้อมทรมานและรับสอบสวนเป็นคดีพิเศษได้