วันที่ 17 มี.ค. ที่รัฐสภา ในการที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา พิจารณาญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1)เป็นการพิจารณาในวาระที่สาม โดยในส่วนของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เห็นว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไปแล้ว หลังศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องเปิดให้มีการทำประชามติก่อน
สมชาย แสวงการ ส.ว. กล่าวว่า ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีความชัดแจงว่าไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการร่างใหม่ทั้งฉบับ หากจะทำ ต้องเปิดให้มีการออกเสียงประชามติเสียก่อน ว่าสมควรจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ โดยฝ่ายกฎหมายของ ส.ว.เห็นว่า ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ไม่สามารถลงมติในวาระที่สามได้ เพราะการจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่นั้น จะต้องลงประชามติเสียก่อน ดังนั้น จึงเสนอญัตติให้รัฐสภาพิจารณาว่า การลงมติในวาระที่สามนี้ ไม่อาจกระทำได้ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นอันต้องตกไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. อภิปรายว่า ตนไม่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภา ที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ เพราะว่าเราจะต้องเคารพประชามติในรัฐธรรมนูญ 2560 หากไม่มีความจำเป็นต้องแก้ ก็ไม่ควรแก้
นอกจากนี้สมาชิกรัฐสภา ยังไม่ให้เหตุผลว่าประชาชนมีความเดือดร้อนอย่างไรถึงต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนนอกรัฐสภาที่มีความเคลื่อนไหวเรียกร้องนายกรัฐมนตรีลาออก หรือมีการอ้างประเด็นสิทธิมนุษยชนนั้น รัฐธรรมนูญเปิดช่องให้มีการแก้ไขเป็นรายมาตราอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการร่างใหม่ทั้งฉบับ การลงมติในวาระ 3 ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถทำได้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าจะต้องมีการทำประชามติก่อน และการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นอำนาจของรัฐสภา ไม่ใช่อำนาจของ ส.ส.ร.
พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ส.ว. กล่าวว่า ชาวบ้านสงสัยว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วจะเกิดประโยชน์อย่างไร ทั้งนี้ ไม่อยากให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า ส.ว.ขวางการแก้ไขรัฐธรรรมนูญ เพราะ ส.ว.มีวุฒิภาวะในการพิจารณา และหลายเรื่องเราได้ทำอย่างเต็มที่ ซึ่งหากแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ก็จะสามารถทำได้อย่างเต็มที่ แต่ที่กำลังทำอยู่นี้ คือว่าผิดกฎหมาย ขัดรัฐธรรมนูญ โดยที่ผ่านมาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตนงดออกเสียงทั้ง 2 วาระ ถึงเวลานี้ตนไม่อยากให้สมาชิกทำผิดกฎหมาย เพราะศาลรัฐธรรมนูญชี้ทางออกให้แล้ว
“ผมไม่อยากให้พวกเราเอาผลไม้ที่เป็นพิษมารับประทานกัน ผมออกจากบ้านเมื่อเช้าติดกระดุมเม็ดแรกผิด ทุกเม็ดต่อๆ มาก็ผิดหมด ฉะนั้น อยากให้ท่านทั้งหลายอย่าทำในประเด็นที่ผิดไปแล้ว” พล.ต.ท.ศานิตย์ กล่าว
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว. กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเอง เกี่ยวกับอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ตนไม่คิดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับวินิจฉัย เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่กฤษฎีกา และการที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับ จะเท่ากับการยื้อเวลาออกไป อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญคือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จึงสนับสนุนให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตกไป
คํานูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวว่า หากไม่มีคำนิจฉัยของรัฐธรรมนูญ ตนจะลงมติเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่เมื่อหลังมีคำนิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า หากจะเดินหน้าลงมติในวาระ 3 ต่อไป ก็จะขัดกับรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล อภิปรายระบุ ไม่เชื่อที่ ส.ว.อ้างความเห็นของประชาชน ทำให้ กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ได้ลุกขึ้นประท้วง ว่า “เหนื่อยใจกับผู้อภิปรายพรรคนี้ อะไรก็ประชาชน เห็นมีประชาชนอยู่กลุ่มเดียว ตอนนี้เหลือหลักร้อยแล้วเนี่ย อ้างประชาชนทั้งประเทศ อยากได้อยากแก้ เราอยู่กับประชาชนรู้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญ”
กิตติศักดิ์ ยังทิ้งท้ายว่า พรรคนี้สนับสนุนม็อบ จากนั้น จิรัฏฐ์ จึงได้อภิปรายต่อว่า การสนับสนุบม็อบไม่ได้มีความผิดใดๆ ข้อเท็จจริงไม่ได้ทำร้ายใคร ถ้าท่านทนฟังไม่ได้ก็เรื่องของท่าน ทำได้แค่แนะนำว่าสิทธิและอำนาจของท่านคือการเขียนใบลาออก