วันที่ 25 ม.ค. รายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand โดย ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ และ อมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ เปิดเผยคลิปวิดีโอ งาน Intania Dinner Talk 2020 เดินหน้าฝ่าวิกฤต พลิกเศรษฐกิจไทย ซึ่งจัดโดย สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา
ช่วงหนึ่งของงานนี้ 'รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส' กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี ได้เปิดเผยรายละเอียดและที่มาของการเซ็นสัญญาซื้อวัคซีนโควิด-19 ระหว่างรัฐบาลไทยเเละแอสตราเซเนกา
รุ่งโรจน์ เล่าว่า ในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. เอสซีจี ได้เข้าไปช่วยบุคลากรทางการเเพทย์ โดยพัฒนาห้องคัดกรองและตรวจผู้เสี่ยงติดโควิด-19 ก่อนจะคิดได้ว่า ทางออกจากวิกฤตมีทางเดียวคือ 'วัคซีน'
ที่ผ่านมา 'เอสซีจี' เองได้ทำเรื่องวิจัยพัฒนาร่วมกับ 'ออกซฟอร์ด' มาร่วม 10 ปีแล้ว และขณะนั้นทราบว่าออกซฟอร์ดกำลังพัฒนาวัคซีนอยู่ จึงกลายเป็นที่มาของการติดต่อเริ่มพูดคุยกัน
รุ่งโรจน์ เล่าว่า รู้จักผู้ใหญ่ในรัฐบาลหลายท่าน จึงได้นำเรื่องวัคซีนไปบอกเล่าและพูดคุยแลกเปลี่ยน ซึ่งทางรัฐบาลก็ยินดีเเละอยากเห็นเอกชนเข้ามามีบทบาทตรงนี้
หลังจากนั้นรุ่งโรจน์จึงได้เข้าไปพูดคุยกับ 'ออกซฟอร์ด' ในบทบาทของซีเอสอาร์
"เราคนไทยเเละมองว่าคนไทยลำบากไม่ใช่เเค่เรื่องสุขภาพเเต่เป็นเรื่องของเศรษฐกิจด้วย เราคิดว่าถ้ามีไรที่ช่วยเหลือได้ เราก็อยากจะช่วย"
'ออกซฟอร์ด' เเนะนำให้เขาไปพูดคุยกับบริษัทแอสตราเซเนกา ผู้ถือใบอนุญาตผลิตวัคซีน
ภายหลังจากพูดคุย เอสซีจีเองรู้จักกับสยามไบโอไซเอนซ์ ที่ก่อตั้งโดยในหลวง ร.9 อยู่เเล้ว และปรากฏว่า สยามไบโอไซเอนท์ เพิ่งสั่งซื้อเครื่องจักรเข้ามาใหม่ ที่เป็นรุ่นเดียวกับสายการผลิตของแอสตราเซเนกา ทำให้มีความพร้อมที่จะผลิต
"เป็นความโชคดี ของประเทศไทย" รุ่งโรจน์ บอก
เมื่อเอสซีจีได้พูดคุยกับ 'สยามไบโอไซเอนท์' อีกฝ่ายบอกว่ามีความเป็นไปได้ในการผลิตเเละจะยอมเสียโอกาสทางธุรกิจเพื่อมาทำวัคซีน
ด้านภาครัฐเองก็ให้การสนับสนุนเเละได้ข้อสรุปว่า 'แอสตราเซเนกา' อยากให้เมืองไทยเป็นฐานการผลิตของอาเซียน ซึ่ง 'สยามไบโอไซเอนท์' มีกำลังการผลิตประมาณ 200 ด้านโดสต่อปี หรือ 100 ล้านคน
เมื่อตกลงกันได้จึงนำไปสู่การเซ็นสัญญาระหว่าง อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กับ แอสตราเซเนกา