ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย “สืบชะตาลำน้ำเซบาย” ภายใต้สถานการณ์โควิค 19 แบบเรียบง่าย พร้อมยืนยันปกป้องทรัพยากร

ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายประมาณ 8 คน ได้นำกระทงขนาดเล็กเพื่อ “สืบชะตาลำน้ำเซบายครั้งที่ 4” ณ ท่าเรือโบราณริมลำน้ำเซบาย บ้านเชียงเพ็ง ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร โดยในปีนี้ไม่มีขบวนแห่กระทงจากหมู่บ้านถึงริมลำน้ำเซบาย ไม่ได้เชิญชวนพี่น้องและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องร่วมงาน ซึ่งรูปแบบเป็นไปอย่างเรียบง่าย ภายใต้สภานการณ์การป้องกันโควิค-19

โดยนางมะลิจิตร เอกตาแสง อายุ 59 ปี กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย กล่าวว่า ปีนี้เราไม่ได้จัดงานสืบชะตาลำน้ำเซบาย เหมือนสามปีที่ผ่านมาที่มีเครือข่ายชาวบ้านและหน่วยงานราชการเข้าร่วม เนื่องจากปีนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิค 19 ทำให้ทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายต้องปรับรูปแบบ การสืบชะตาลำน้ำเซบายลงเป็นแบบเรียบง่ายและขนาดเล็ก ทั้งกระทงที่เราลอยน้ำและจำนวนคนที่เราจำกัดเพียง 8 คน เมื่อเปรียบกับปีที่ผ่านมามีคนเข้าร่วมกว่า 200 คน ซึ่งการปล่อยกระทงลอยไปตามลำน้ำเซบายเพื่อเป็นการแสดงถึงการเคารพแม่น้ำคงคา

"เพราะชุมชนเราได้อาศัยลำน้ำเซบายในการอุปโภคและบริโภค รวมทั้งภาคการเกษตร ภายใต้สถานการณ์แบบนี้เราก็ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานราชการในพื้นที่ เพื่อร่วมกันป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิค 19 แต่ทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ยังยืนยันที่จะปกป้องทรัพยากรและเรียกร้องให้รัฐประกาศเป็นพื้นที่ปลอดภัยด้านน้ำ ด้านอากาศ ด้านคุณภาพชีวิตด้วย" นางมะลิจิตร กล่าว

ด้าน น.ส.นวพร เนินทราย อายุ 30 ปี เลขานุการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ที่ทุกคนต่างป้องกันตัวเองจากเชื้อโควิค แต่เราควรให้ความสำคัญกับทรัพยากรที่ชุมชนเราได้พึ่งพาด้วย เนื่องจากสถานการณ์ของเชื้อโควิคที่เกิดขึ้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ได้หันกลับมาพึ่งพาทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า อากาศ ในการดำรงชีวิตมากขึ้นเพราะเป็นเรื่องปากท้อง

น.ส.นวพร กล่าวว่า วันนี้พวกเราต้องออกมาทำหน้าที่ร่วมกันในการปกป้องลำเซบาย ปกป้องสิทธิชุมชน ปกป้องบ้านเกิด และเราจะไม่ยอมรับกระบวนการที่ชุมชนเราไม่มีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น แต่เราจะสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อให้รัฐได้เล็งเห็นถึงว่า เราจะสร้างพื้นที่การเรียนรู้ในการปกป้องชุมชนและการอนุรักษ์ทรัพยากรต่อไป เพื่อให้ชุมชนได้มีทรัพยากรได้พึ่งพาอาศัยแบบยั่งยืนต่อไป

สำหรับพื้นที่ลำนำเซบาย ที่ภาคประชาชนได้ออกมาเคลื่อนไหวปกป้องนั้น ในพื้นที่ดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งเมื่อช่วงเดือนธันวาคม ปี 2561 วอยซ์ ออนไลน์ ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับ นายสิริศักดิ์ สะดวก หนึ่งในกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย และได้ทราบถึงจุดประสงค์ที่ภาคประชาชนออกมาเคลื่อนไหว

เนื่องด้วยความกังวลว่าหากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลสำเร็จ จะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรท้องถิ่นและการดำรงชีวิตของคนในพื้นที่

เซบาย