แต่ในความเป็นจริง เมื่อเปิดตามองออกไปในโลกกว้าง จะพบว่ามีเด็กหลายคนเป็นนักเคลื่อนไหวที่มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับสากล และการเคลื่อนไหวของพวกเขาส่งอิทธิพลและสร้างแรงบันดาลใจให้คนทั่วโลก จนผู้ใหญ่ต้องน้อมยอมรับ และแม้แต่องค์การสหประชาชาติก็ยกย่อง ตัวอย่างเช่น เซเวิร์น คูลลิส-ซูซูกิ, มามาลา ยูซาฟไซ, ดูจวน ฮูแซน และ เกรต้า ธันเบิร์ก
ในยุคทศวรรษที่ 1990 เซเวิร์น คูลลิส-ซูซูกิ (Severn Cullis-Suzuki) เด็กนักเคลื่อนไหวรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อมระดับโลก เป็นนักเคลื่อนไหวเด็กที่โด่งดังที่สุด
(ซเวิร์น คูลลิส-ซูซูกิ ขณะไปเป็นวิทยากรที่ ม. อัลเบอร์ตา แคนาดา ภาพโดย: Nick Wiebe)
เธอเป็นเด็กหญิงเชื้อสายญี่ปุ่นสัญชาติแคนาดา ทั้งนี้ ในปี 1989 ขณะที่เธออายุ 9 ปี เธอได้ก่อตั้งองค์การเด็กเพื่อสิ่งแวดล้อม(Environmental Children’s Organization หรือ ECO) เพื่อให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมแก่เด็กๆ ต่อมาในปี 1992 ขณะอายุ 12 ปี องค์กร ECO ได้เรี่ยไรเงินเป็นค่าเดินทางให้เธอไปร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา(United Nations Conference on Environment and Development หรือ UNCED) ที่มีชื่อเรียกง่ายๆว่า การประชุมสิ่งแวดล้อมโลก หรือ Earth Summit ที่กรุงริโอเดอจาไนโร ประเทศบราซิล เธอได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมในหัวข้อปัญหาสิ่งแวดล้อมในทัศนะของเยาวชน โดยเน้นถึงปัญหาการปล่อยก๊าซทำลายชั้นโอโซนในบรรยากาศของโลกซึ่งนำไปสู่ภาวะโลกร้อน สุนทรพจน์ที่ทรงพลังของเธอเป็นที่ประทับใจของผู้เข้าร่วมประชุม และได้รับเสียงปรบมืออย่างกึกก้อง จนในปี 1993 องค์การสหประชาชาติได้ยกย่องเธอเป็นผู้ทรงเกียรติที่มีบทบาทเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Program’s Roll of Honour)
เรื่องราวของเซเวิร์น คูลลิส-ซูซูกิ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ ฌอง-ปอล โฌด (Jean-Pal Juad) ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศสนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง “เซเวิร์น, เสียงของเด็ก” (Severn, Voice of Our Children) ออกฉายทั่วยุโรปในปี 2010
ในยุคทศวรรษที่ 2010 มาลาลา ยูซาฟไซ (Malala Yousafsai) เป็นนักเคลื่อนไหวเด็กที่โด่งดังที่สุด โลกรู้จักเธอในฐานะนักเคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อสิทธิการศึกษาของเด็กผู้หญิง
เธอเป็นชาวปากีสถาน บ้านเกิดของเธออยู่ที่เมืองมินโกรา ในเขตสวัท แคว้นไคเบอร์ปัชตูนควา ซึ่งเป็นเขตที่กองกำลังตาลีบันยึดครอง และใช้กฎของตาลีบันปกครองประชาชนในพื้นที่ เธอชอบเขียนบันทึกตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ต่อมาในปี 2009 ขณะที่เธออายุ 11 ปี เธอกลายเป็นที่รู้จักเพราะเธอเป็นบล็อกเกอร์ผู้เขียนบล็อกเล่าเรื่องชีวิตของประชาชนในเขตปกครองของตาลีบันให้กับสำนักข่าวบีบีซีภาคภาษาอูรดู และเธอยังเล่าถึงการที่ตาลีบันมีนโยบายไม่ให้เด็กผู้หญิงไปโรงเรียน ซึ่งเธอไม่เห็นด้วย และเรียกร้องให้เด็กผู้หญิงมีสิทธิทางการศึกษา ต่อมาในปี 2010 สำนักข่าวนิวยอร์คไทม์ได้เดินทางไปถ่ายทำสารคดีชีวิตของ มามาลา ยูซาฟไซ เพื่อให้เล่าถึงสภาพชีวิตหลังจากตาลีบันเข้ายึดครอง เธอจึงกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น มีสำนักข่าวปากีสถานหลายสำนักไปขอสัมภาษณ์ เธอได้เป็นข่าวทั้งในหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ และได้รับตำแหน่งประธานสภาเด็กแห่งเขตสวัท และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสันติภาพเด็กนานาชาติ (International Children’s Peace Prize) รวมทั้งได้รับรางวัลสันติภาพเยาวชนแห่งชาติของปากีสถาน
วันที่ 9 ตุลาคม 2012 ขณะที่ มาลาลา ยูซาฟไซ อายุ 14 ปี เธอถูกยิงขณะไปโรงเรียนโดยกองกำลังตาลีบันที่เข้าโจมตีรถบัสที่เธอนั่ง เพื่อสังหารเธอในฐานที่รณรงค์ให้เด็กผู้หญิงมีสิทธิไปโรงเรียนซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งตาลีบัน ร่างชุ่มเลือดของเธอในสภาพหมดสติทำให้ตาลีบันเข้าใจว่าเธอเสียชีวิตแล้วและไม่ได้จ่อยิงซ้ำ เธอจึงรอดมาได้อย่างปาฏิหาริย์ จากนั้นเธอถูกนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด แล้วเข้ารับการรักษาต่อในโรงพยาบาลในเมืองหลวงของปากีสถาน จากนั้นจึงถูกส่งต่อไปรักษาในประเทศอังกฤษ
ในเดือนมกราคม 2013 มาลาลา ยูซาฟไซ กลายเป็นเยาวชนที่โดงดังที่สุดในโลก เธอได้รับเงินบริจาคช่วยเหลือมากมาย ซึ่งเธอได้นำไปก่อตั้ง “กองทุนมาลาลา” (Malala Fund) เพื่อช่วยเหลือเด็กผู้หญิงทั่วโลกให้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษา เธอกลายเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิทางการศึกษาของเด็กผู้หญิงอย่างเต็มตัว จากนั้นเธอจึงเขียนหนังสือเล่าเรื่องราวชีวิตของเธอ และกลายเป็นหนังสือที่ขายดีที่สุดในโลกในปี 2013
ในปี 2014 มาลาลา ยูซาฟไซ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ร่วมกับ ไกลาช สัตยารธี (Kailash Satyarthi) นักเคลื่อนไหวชาวอินเดียซึ่งรณรงค์ปกป้องสิทธิเด็กและต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก จึงทำให้มามาลา ยูซาฟไซ กลายเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลที่อายุน้อยที่สุดในโลก
ดูจวน ฮูแซน (Dujuan Hoosan) เด็กชายเชื้อสายอะบอริจินสัญชาติออสเตรเลีย เป็นนักเคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อสิทธิทางการศึกษาของเด็กชาวอะบอริจินซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองในออสเตรเลีย ในปี 2016 ขณะที่เขามีอายุ 9 ปี เขาพบว่าเด็กอะบอริจินไม่ได้รับการปฏิบัติที่เสมอภาคในโรงเรียนของคนผิวขาว คือมักถูกดุด่ารุนแรงเมื่อทำความผิดแม้เพียงเล็กน้อย และบางกรณีก็ถึงขั้นไล่ออก ทำให้เขาเริ่มรณรงค์เรียกร้องสิทธิของเด็กอะบอริจินตั้งแต่บัดนั้น แต่ปรากฏว่าการเรียกร้องของเขาในครั้งนั้นนำไปสู่การทะเลาะวิวาทระหว่างเขากับครู เขาบันดาลโทสะใช้ก้อนหินปาหลังคาโรงเรียน ทำให้ถูกโรงเรียนลงโทษอย่างรุนแรงด้วยการไล่ออกและดำเนินคดีเพื่อให้เขาถูกส่งตัวไปกักกันที่สถานพินิจสำหรับเยาวชนอะบอริจิน อย่างไรก็ดี เรื่องของเขาโด่งดังขึ้นเสียก่อน เมื่อสื่อมวลชนให้ความสนใจตีแผ่เรื่องราวทั้งหมด การดำเนินคดีก็เงียบหายไป
อย่างไรก็ดี ดูจวน ฮูแซน ต้องออกจากโรงเรียน หลังจากนั้น เขาใช้ความสามารถทางภาษาที่เขาสามารถสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่วถึง 3 ภาษา ในการรณรงค์เพื่อสิทธิทางการศึกษาของเด็กชาวอะบอริจินในออสเตรเลีย และทำให้เขามีชื่อเสียงขึ้นเรื่อยๆ และทำให้สาธารณชนเรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลียพิจารณาการยกเลิกสถานพินิจสำหรับเยาวชนอะบอริจิน
ต้นปี 2019 ดูจวน ฮูแซน ได้รับการติดต่อจาก มายา เนเวลล์ (Maya Newell) นักสร้างภาพยนตร์ชาวออสเตรเลีย ขอนำเรื่องราวของเขาไปเขียนบทเป็นภาพยนตร์สารคดี และให้ตัวเขาแสดงเป็นตัวเองในภาพยนตร์ เรื่องราวของเขาจึงกลายเป็นภาพยนตร์เรื่อง “In My Blood It Runs” เนื้อหาเล่าถึงการที่ระบบการศึกษาออสเตรเลียเดียจฉันท์กีดกันและละเมิดสิทธิของเด็กเชื้อสายอะบอริจิน ปรากฏว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมในหลายเวทีทั่วโลก
ในวันที่ 12 กันยายน 2019 ดูจวน ฮูแซน ได้รับเชิญจากองค์การสหประชาชาติให้ไปกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมใหญ่ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council หรือ UNHRC) ซึ่งเขาได้เรียกร้องให้ยุติการกีดกันและละเมิดสิทธิของเด็กเชื้อสายอะบอริจิน ยุติการโยนเด็กชาวอะบอริจินเข้าคุกด้วยเรื่องหยุมหยิม ทั้งนี้ สุนทรพจน์ที่ยาวกว่าครึ่งชั่วโมง ที่ใช้ภาษาอังกฤษที่สละสลวยและทรงพลังของเขา ได้รับเสียงปรมมือกึกก้องจากที่ประชุม
หลังจากนั้น ดูจวน ฮูแซน ยังได้รับเชิญไปสัมภาษณ์โดยสำนักข่าวอีกหลายแห่ง ทั้งสำนักข่าวในประเทศออสเตรเลีย และสำนักข่าวต่างประเทศ
เกรต้า ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) เด็กนักเคลื่อนไหวรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อมระดับโลก
เธอเป็นเด็กหญิงชาวสวีเดน ในปี 2011 ขณะที่เธออายุ 8 ปี เธอเริ่มรณรงค์การแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน เช่น รณรงค์ให้ปลูกผักกินเอง ให้ติดแผงโซลาร์เซลล์เพื่อลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลง และปฏิเสธการขึ้นเครื่องบิน ในปี 2018 ขณะมีอายุ 15 ปี เธอชนะเลิศการประกวดเขียนบทความเรื่องปัญหาโลกร้อน บทความที่แข็งกร้าวและเผ็ดร้อนของเธอชี้ให้เห็นว่าเป็นหาโลกร้อนเป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเคร่งเครียดและจริงจังจากมนุษยชาติ หลังจากนั้น ในเดือนสิงหาคม ปี 2013 เธอก็ทำการหยุดเรียนประท้วงเป็นเวลา 3 สัปดาห์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสวีเดนหันมาสนใจปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง และมีเยาวชนจำนวนมากเห็นด้วยและเข้าร่วมการประท้วงกับเธอ โดยชุมนุมกันที่หน้ารัฐสภาสวีเดนเพื่อผลักดันนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ เกรต้า ธันเบิร์ก ยังกลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ทั่วโลกหันไปรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น นักเรียนหลายหมื่นคนในออสเตรเลียได้เดินขบวนบนถนนในเมืองเพิร์ธเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม และมีนักเรียนจากทั่วโลกเข้าร่วมในเว็บไซต์ Fridays for Future ที่ เกรต้า ธันเบิร์ก ก่อตั้งขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกิจกรรมการประท้วง และการจับตาตรวจสอบว่ารัฐบาลของแต่ละประเทศมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและมีนโยบายลดภาวะโลกร้อนที่จริงจังหรือไม่
หลังจากนั้น เกรต้า ธันเบิร์ก ได้รับเชิญไปกล่าวสุนทรพจน์ในหลายเวที เช่น เวทีการประชุมเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ที่สวิตเซอร์แลนด์ และที่ประชุมสภายุโรป (European Parliament) ที่ประเทศฝรั่งเศส
ในเดือนกันยายน 2019 องค์การสหประชาชาติได้เชิญ เกรต้า ธันเบิร์ก ร่วมประชุมผู้นำโลกว่าด้วยสภาวะอากาศ (UN Climate Action Summit) ที่องค์การสหประชาชาติในนครนิวยอร์ค ในวันที่ 23 กันยายน เธอได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมสหประชาชาติ สุนทรพจน์ของเธอใช้ถ้อยคำที่รุนแรงและทรงพลังอย่างยิ่ง จนได้รับความชื่นชมและได้รับความสนใจจากทั่วโลก จนแม้แต่ นางอังเกลา แมร์เคิล ผู้นำเยอรมันซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้นำของสหภาพยุโรปด้วย ได้ขอสนทนากับเธอแบบตัวต่อตัว และยังได้นำภาพที่กำลังสนทนานั้นไปลงในทวิตเตอร์ด้วย
เกรต้า ธันเบิร์ก ได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทม์ ว่าเป็นบุคคลแห่งปี 2019 (Person of the Year 2019) ได้คะแนนชนะเหนือบรรดาประมุขและผู้นำประเทศต่างๆ นับเป็นบุคคลที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับการยกย่องนี้
โลกใบนี้หมุนไปข้างหน้าตลอดเวลา และหมุนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เราไม่สามารถดูถูกความสามารถและพลังของเด็กๆ ได้เลย