วันที่ 9 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 และ มาตรา 224 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานตั้งแต่ปี พ.ศ.2468 ซึ่งไม่สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน จากความล้าสมัยของอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ร้อยละ 7.5 ต่อปีนี้ ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ อาทิ
1) ลูกหนี้ได้รับความเดือดร้อนจากภาระดอกเบี้ยที่สูงเกินควร
2) เจ้าหนี้บางรายอาศัยความไม่ชัดเจน กำหนดให้ลูกหนี้เมื่อผิดนัดงวดใดงวดหนึ่ง ต้องจ่ายดอกเบี้ยบนเงินต้นทั้งหมด
4) สร้างความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมและ
5) มีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยภาพรวม ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยลดภาระของลูกหนี้จากการชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงเกินควร และปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย
รัชดา กล่าวว่า ครม.จึงมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมาย ประกอบด้วย
1.อัตราดอกเบี้ยที่ไม่ได้กำหนดไว้ก่อนหรือไม่ได้มีกฎหมายกำหนด (แก้ไข มาตรา 7) โดยปรับลดจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งกระทรวงการคลัง จะทบทวน ทุก 3 ปี ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ
2.อัตราดอกเบี้ยผิดนัด (แก้ไข มาตรา 224) โดยปรับลดจากร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงนี้ เป็นอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ร้อยละ 3 ต่อปี บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี
3.กำหนดฐานการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ในงวดใดงวดหนึ่ง เจ้าหนี้คำนวณดอกเบี้ยผิดนัดได้ เฉพาะจากเงินต้นของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดแล้วเท่านั้น จากเดิมที่มาตรา 224/1 ไม่ได้กำหนดไว้ ส่งผลให้เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยจากเงินต้นที่ค้างอยู่ทั้งหมด
ในช่วงการดำเนินการที่ผ่านมา สคก. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายนี้ผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ 1)เว็บไซต์ของ สคก. (www.krisdika.go.th) 2) แบบสอบถาม (Google Forms) ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ 3)เว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย Alpha Version (www.lawtest.go.th) และธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นชอบร่างกฎหมายแล้ว
รัชดา กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งในขั้นตอนต่อไป จะประสานงานทางสภาผู้แทนราษฎรโดยเร่งด่วน เพื่อรับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เข้าสู่กระบวนการพิจารณา และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว จะเป็นโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยให้ลูกหนี้ได้รับความเป็นธรรมในการจ่ายดอกเบี้ย ป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้วิธีประวิงการฟ้องคดี เพื่อเรียกดอกเบี้ยตามกฎหมายที่สูงเกินควร และป้องกันไม่ให้ลูกหนี้ต้องแบกภาระดอกเบี้ยในหนี้ที่ยังไม่ได้ผิดนัด