เวทีรับฟังความเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ประจำปี 2562 ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระหว่างวันที่ 15-16 สิงหาคม 2562 ได้ข้อเสนอเพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ใน 9 ประเด็นสำคัญ โดยข้อเสนอเหล่านี้ได้ส่งมอบให้กับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งมี นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข และ นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นตัวแทนรับมอบข้อเสนอ
สำหรับสาระสำคัญของข้อเสนอประกอบด้วย 1. ด้านประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข มีข้อเสนอให้เพิ่มบริการทันตกรรมในสิทธิประโยชน์ เช่น รักษารากฟันแท้ ครอบฟัน
2. ด้านมาตรฐานบริการสาธารณสุข ให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์/มาตรฐานการเยี่ยมบ้าน หรือการให้บริการที่บ้านให้ชัดเจน
3. ด้านการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้เพิ่มกองทุนทันตกรรม หรือระบุงบประมาณที่ใช้สำหรับการส่งเสริมป้องกันโรคด้านทันตกรรมให้ชัดเจน และให้เอกชนเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการ ร่วมให้บริการเพื่อเพิ่มการเข้าถึงให้ประชาชน รวมถึงเพิ่มการจ่ายชดเชยค่าทำเส้นสำหรับฟอกเลือดชั่วคราว ในผู้ป่วยโรคไต CAPD ที่รอทำเส้น
4. ด้านบริหารจัดการสำนักงาน ให้มีการลงทะเบียนสิทธิสัปดาห์ละครั้ง เพื่อความรวดเร็วในการใช้บริการของผู้ป่วย และเชื่อมโยงฐานข้อมูลของผู้ใช้สิทธิ 30 บาท เพื่อให้ประชาชนเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ทุกที่ 5. ด้านการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่และการดูสุขภาพระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ ได้เสนอให้ สปสช.ประสานกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อให้ยกเลิกหนังสือสั่งการเรื่องการกำหนดอัตราค่าตอบแทน Care Giver จาก 600 กับ 1,500บาท โดยให้ สปสช.เป็นผู้กำหนดอัตราค่าตอบแทนเป็นมาตรฐานเดียว
6. ด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เสนอให้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นทุกอำเภอโดย สปสช. สนับสนุนงบประมาณ หรือจัดเวทีร่วมกับสภาองค์กรชุมชน ประชาคมหมู่บ้าน เพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ 7. ด้านการรับรู้และคุ้มครองสิทธิ ให้แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ให้สามารถสนับสนุนการสื่อสารประชาสัมพันธ์สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพได้
8. กลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการ ให้จัดตั้งกองทุนฯ สำหรับผู้มีปัญหาสถานะทางทะเบียน ซึ่งรวมถึงพระสงฆ์ ผู้นำศาสนาอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุข โดยให้รวมพระต่างชาติ/พระนักศึกษาต่างชาติ
9. ด้านการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้การจ่ายยาปรุงเฉพาะราย เสมือนกรมบัญชีกลางที่กำหนดเป็นค่ายาแผนไทยให้เบิกได้เฉพาะค่ายาที่ใช้ในการบำบัดรักษาโรค ยาแผนไทยประเภทที่ 4 "รายการยาที่ปรุงสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย" ให้เป็นไปตามการสั่งใช้ยาของผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย หรือการแพทย์แผนไทยประยุกต์ รวมถึงสนับสนุนการให้บริการหัตถการการแพทย์แผนไทยตามความจำเป็นด้านสุขภาพ เพื่อการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและตามมาตรฐานวิชาชีพ เช่น หัตถการพอเพื่อลดอาการปวดและอาการอักเสบ
ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ในปีนี้ สปสช.ได้เพิ่มกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เป็นกลุ่มเฉพาะเข้ามาในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น อันได้แก่ เครือข่ายพยาบาล และกลุ่มเปราะบาง เช่น เครือข่ายคนพิการ พระสงฆ์ เครือข่ายศูนย์เพื่อนหญิงเพื่อสุขภาพ ขณะเดียวกันยังได้ปรับวิธีรับฟังและเพิ่มช่องทางการรวบรวมข้อมูล เสริมข้อมูลวิชาการ พัฒนาระบบออนไลน์ และให้ความสำคัญกับประเด็นเฉพาะเพิ่มขึ้น โดยมีประเด็นเฉพาะจากการทบทวนยุทธศาสตร์และปัญหาร่วมกันคือด้านแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก
สำหรับตัวอย่างข้อเสนอใหม่ที่เกิดขึ้นในปีนี้ อาทิ การเสนอให้เชื่อมโยงฐานข้อมูลของผู้ใช้สิทธิ 30 บาท เพื่อให้ประชาชนเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ทุกที่ ควรให้มีการร่วมจ่ายจากผู้รับบริการและลดค่าร่วมจ่ายหากผู้ป่วยดูแลสุขภาพตนเองได้ดี การให้มีมาตรฐานรายการยาที่เท่าเทียมกัน ทั้ง 3 กองทุนฯ การกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานการเยี่ยมบ้าน หรือการให้บริการที่บ้านให้ชัดเจน
ขณะเดียวกัน ยังมีการสนับสนุนให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการของ สปสช. เพื่อให้สามารถรับเงินตามประเภทและขอบเขตบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (ฉ.11) ได้ รวมถึงอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยที่ต้องรับยาต่อเนื่อง คนพิการ และผู้สูงอายุ สามารถเข้ารับบริการได้ทุกที่โดยไม่ต้องมีใบส่งตัว
นพ.ศักดิ์ชัย ระบุอีกว่า ตัวอย่างของข้อเสนอที่มีการปรับปรุงแก้ไขดำเนินการ เช่น ข้อเสนอที่ให้มีกองทุนเฉพาะเพื่อสนับสนุนหรือช่วยเหลือ โรงพยาบาลหรือพื้นที่ในการดูแลสุขภาพตามกลุ่มวัย การคลอด การพัฒนาคุณภาพเด็ก การเข้าถึงบริการยา ก็ได้มีการประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำหนดแนวทางการดำเนินงานของการให้บริการสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคที่เป็นปัญหาพื้นที่ระดับเขต/จังหวัด (PPA) หรือในข้อเสนอที่ให้ยกเลิกค่าบริการโทรสายด่วน สปสช. 1330 ทาง กสทช. ก็ได้มีการอนุมัติเป็นลดหย่อนค่าบริการโทร มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2562
“สิ่งที่เราได้จากการรับฟังความคิดเห็นนี้ จะนำเอามาพัฒนาต่อ เพื่อปรับปรุงระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ดีขึ้น แก้ไขสิ่งต่างๆ ให้ถูกต้อง รวมถึงพัฒนาเป็นสิทธิประโยชน์ที่จับต้องได้ ตามเป้าหมายที่ว่าทุกคนร่วมเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” เลขาธิการ สปสช. ระบุ
ทั้งนี้ ในปี 2562 มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในระดับเขตพื้นที่และระดับประเทศร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวน 10,445 ราย ประกอบกับการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อออนไลน์อีก 4,561 ราย สามารถรวบรวมข้อเสนอได้จำนวน 1,315 ข้อ กลั่นกรองออกมาเป็น 398 ข้อเสนอ เพื่อเสนอต่อบอร์ด สปสช.ต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :